Last updated: 6 พ.ย. 2565 | 4055 จำนวนผู้เข้าชม |
‘หลงลบลืมสูญ’ ซึ่ง ‘อนุสาวรีย์’
โดย นายประพฤติ
เพิ่งได้อ่านบทความสั้นๆ ของ คงกฤช ไตรยวงค์ ในชื่อ “จาก วัฒน์ วรรลยางกูร ถึง วิภาส ศรีทอง : นวนิยายกับห่วงโซ่ความทรงจำสีเลือด” เผยแพร่บนประชาไทออนไลน์ กับความเป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงระหว่างนักเขียนสองคนจากสองยุคสมัยผ่านวรรณกรรมเรื่องแต่งของตนเองที่มีจุดร่วมเดียวกัน ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ก็นึกขึ้นมาว่าปริมณฑลของวรรณกรรมเรื่องหนึ่งสามารถขยายขอบเขตไปได้แค่ไหน
แม้เมื่อกาลเวลาผ่าน เหตุการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน ผู้คนไม่เหมือนเดิม คนที่เคยต่อต้านเผด็จการทหารในวันนั้นกลับกลายเป็นสยบสมยอมแทบเท้าเผด็จการทหารในวันนี้
แม้จะเอ่ยอ้างให้สวยหรูเพียงไรว่าทหารนั้นคนละชุด คนละเงื่อนไขทางการเมือง แต่เขาเหล่านั้นคงลืมไปแล้วซึ่งหลักการที่ตัวเขาคนเดิมเคยยึดถือได้แปรเปลี่ยน
เอาเถิด พื้นที่นี้ไม่ใช่เรื่องของการสำรวจตรวจสอบความคิดจิตใจของนักต่อสู้เพื่อมวลชนผ่านถ้อยคำคนใดบ้างได้เปลี่ยนแปรไป แต่เป็นการย้อนกลับไปสำรวจวรรณกรรมสองเล่มของ วิภาส ศรีทอง ในบริบทปัจจุบันที่เรา (ในความหมายของผู้ที่ยังรักในประชาธิปไตย) ต่างเป็นพยานต่อการค่อยๆ ‘ลบ’ ‘สูญ’ ‘อนุสาวรีย์’ ที่เป็นตัวแทนของคณะราษฎรไป ราวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยหน้าใหม่กำลังถูกเขียนขึ้น
======
การรื้อถอน ‘ราษฎร’
เป็นเวลากว่าสองปีแล้วที่หมุดคณะราษฎรได้หายไปจากบริเวณหน้าพระบรมรูปทรงม้า แล้วถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดประชาชนสุขสันต์หน้าใส’ ก่อนพื้นที่ทั้งหมดจะถูกบดบังด้วยการกลายเป็นสถานที่ก่อสร้างในนามของการปรับปรุงจนแม้แต่หมุดประชาชนสุขสันต์หน้าใสก็อาจไม่มีอยู่อีกต่อไป
ชาตรี ประกิตนนทการ นำเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘กฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรมไทย’ ไว้ในหนังสือเรื่อง สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 เอาไว้ว่า ‘กฎบัตร’ ที่เราไม่รู้สึกถึงมีการมีอยู่ของมันนี้ทำหน้าในการคัดทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้มุ่งเชิดชูวัฒนธรรมชั้นสูง โดยเฉพาะวัฒนธรรมราชาชาตินิยม ดังนั้น มรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎรซึ่งมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ อย่างน้อยก็ในความคิดชนชั้นนำจึงถูกรื้อถอน ลบเลือนให้หายไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ไม่ว่าจะเป็นหมุดคณะราษฎรที่ถูกแทนที่ด้วยหมุดประชาชนสุขสันต์หน้าใส
ไม่ว่าจะเป็นการรื้อถอนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่บริเวณวงเวียนหลักสี่ บางเขน
รวมไปถึงการรื้อทิ้งศาลฎีกาเดิม โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยที่บดบังโลหะปราสาท
ซึ่งชาตรีเสนอว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการรื้อถอนทำลายประวัติศาสตร์ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎร
แล้วทำไมต้องรื้อถอน?
มรดกความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรเป็นความเลวร้ายสำหรับใคร? ถึงทนไม่ได้ที่จะให้มีอยู่ซึ่งตัวแทน
======
ภายใต้เงื้อมเงาของอนุสาวรีย์
เรื่องราวของ อนุสาวรีย์ นิยายขนาดสั้นเล่มล่าสุด ตีพิมพ์ในปี 2561 เกิดขึ้นภายใน ‘คอมมูน’ แห่งหนึ่ง มีตัวละครหลักคือ วรพล กมลหรือ ‘นายโย่ง’ สมาชิกใหม่ที่เข้ามาอาศัยแทนเพื่อนร่วมห้องของวรพลที่ย้ายไปอยู่สถาบันอื่น ชีวิตของผู้คนใน ‘คอมมูน’ เป็นชีวิตที่ไร้แก่นสาร ขณะเดียวกันสมาชิกแต่ละคนล้วนเต็มไปด้วยปริศนาที่ทำให้ตั้งคำถามถึงสภาวะการมีอยู่เมื่อพิจารณาจากคำพูดช่วงต้นของกมลที่พูดกับวรพลว่า
[…] มาอยู่ที่แบบนี้ได้อย่างไร อย่างไร? ใครพามา? เกิดอะไรขึ้นเล่า? เรามาอยู่กับคนที่ตายไปแล้วหรือ? […]
หรือที่บอกว่า
[…] นายโดนพวกนั้นทำความสะอาดมาแล้วใช่ไหม? […]
คำถามที่ดูไร้สาระ รุกเร้าอย่างไม่สนใจต่อขอบเขตของคำว่าส่วนตัว แต่แท้จริงเป็นไปได้ไหมที่สมาชิกทุกคนใน ‘คอมมูน’ ล้วนมีสภาพประหนึ่งร่างไร้ชีวิต ปราศจากการตั้งคำถามที่หากเปรียบไปแล้ว คือ นิยามความหมายของการเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพ?
ทั้งประโยค “เรามาอยู่กับคนที่ตายไปแล้วหรือ?” และ “นายโดนพวกนั้นทำความสะอาดมาแล้วใช่ไหม?” ล้วนตั้งคำถามสองสถานะด้วยกัน คือ สถานะของตัวตน ‘เรา’ ในความหมายสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง และสถานะของตัวตนในความหมายสรรพนามบุรุษที่สองจากสายตาของความเป็นอื่น
ความเป็นอื่นระหว่างเราที่ยังไม่โดนทำความสะอาด หรือในอีกความหมาย คือ เราที่ยังมีชีวิต
แล้วใครคือ ‘เรา’ ?
วิภาสอาจไม่ได้ให้คำตอบชัดเจนในเรื่องนี้นัก แต่สำหรับ ‘เรา’ ในความหมายของผู้เขียนและผู้อ่านบทความนี้ไปพร้อมกันภายในประเทศที่เต็มไปด้วยอนุสาวรีย์มากมาย ‘เรา’ อาจคือพวกคุณทุกคนที่โดน ‘พวกนั้น’ ทำความสะอาดไปแล้ว ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อที่ว่าแล้วใครคือ ‘พวกนั้น’
======
ต่างหลงลบลืมสูญ
ในนิยายก่อนหน้า หลงลบลืมสูญ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อมีนาคม 2558 ‘พวกนั้น’ ปรากฏโฉมหน้าออกมาในสองสถานะที่แตกต่างกัน ระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มคนที่มีตัวตนลึกลับอยู่ในโลกของการหลงใหลการลบลืมตัวตนเพื่อให้สาบสูญหายไป ‘พวกนั้น’ ในสองสถานะความหมายนี้จึงมีฐานะของการดำรงอยู่ภายใต้ความหมายของ ‘ลบ’ ‘ลืม’ ‘สูญ’ ที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือ กลุ่มคนเสื้อแดงหาได้ปรารถนาการถูกลบลืมให้สาบสูญเลือนหายไปในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย ตรงกันข้าม การลุกฮือของมวลชนเสื้อแดงในปี 2553 จนนำไปสู่การล้อมปราบที่รุนแรงโหดเหี้ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศแห่งรอยยิ้มนี้ คือ ความปรารถนาที่ต้องการที่หยัดที่ยืนในสังคมที่แทบไม่เคยเห็นคุณค่าพวกเขามากกว่าภาพสวยๆ ของชาวนาบนโปสการ์ดสักใบ เรื่องราวดีๆ ของผู้คนที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง จนดูเหมือนเทคโนโลยีและสิ่งเร้าภายนอกไม่อาจเข้าไปกล้ำกรายจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของความดีงามนั้นได้
แม้ในความเป็นจริงแล้ว จิตวิญญาณนั้นจะถูกย่ำยีจนยับเยินแทบไม่หลงเหลือสภาพของความเป็นมนุษย์ให้จดจำเมื่อสิ้นเสียงปืน และ Big Cleaning Day
ณ จุดนี้เอง ‘พวกนั้น’ ได้ปรากฏตัวขึ้นภายใต้ชุดเสื้อผ้าสีขาวสะอาดตาสะท้อนจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง สะท้อนความเป็นมหานครแห่งความดีที่ถนนสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่เคยเปรอะเปื้อนเลือดประชาชน
ณ จุดนั้นเอง ‘พวกนั้น’ ได้เข้ามาทำความสะอาด ‘เรา’ ทุกคนให้ ‘ลบ’ ‘ลืม’ เหตุการณ์นองเลือดอีกเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ด้วยข้อกล่าวต่อกลุ่มคนเสื้อแดงว่าเป็นพวก ‘ควาย’ เป็นพวกที่ ‘หลง’ ใหลได้ปลื้มกับคนคดโกงจนลืมสิ้นจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ ลืมสิ้นซึ่งความหมายของความดี ลืมสิ้นซึ่งสถานะแท้จริงของตนเองที่ไม่ควรเผยอผยองลุกฮือขึ้นมารวมตัวเพื่อเรียกร้องให้ ‘พวกนั้น’ มองเห็นซึ่งการมีอยู่ของตนเอง
ถึงที่สุด ณ จุดตัดของการ ‘หลงลบลืมสูญ’ ซึ่ง ‘อนุสาวรีย์’ จึงกลับกลายเป็นเหมือนชิ้นงานที่บ่งบอกความคิดอันต่อเนื่องของตัว วิภาส ศรีทอง ที่มีต่อหลงทางของผู้คนร่วมสมัยในประวัติศาสตร์ความรุนแรงการเมืองไทย ซึ่งบางคนพยายามลืม บางคนพยายามก่อร่างอนุสาวรีย์เพื่อจดจำ และบางคนพยายามลบสิ้นซึ่งการมีอยู่ทั้งต่อตัวอนุสาวรีย์และต่อความทรงจำในเรื่องราวนั้น ด้วยการขีดเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่อย่างช้าๆ ด้วยการทำลายความหมายของการมีอยู่ซึ่งเจตจำนงเสรี ความหมายของเสรีภาพ ความหมายของการตั้งคำถาม
ไม่ว่าจะเป็นคำตอบในสายลมต่อการหายไปของหมุดคณะราษฎร
ไม่ว่าจะเป็นคำตอบในสายลมต่อการหายไปของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
และ หรือ ฯลฯ อีกมากมายที่ปรากฏขึ้นอย่างปราศจากที่มาที่ไป ปราศจากคำตอบแท้จริงจากรัฐ หรือผู้รับผิดชอบว่าทำไปทำไม? ทำไปเพื่ออะไร? และทำไปเพื่อใคร?
[…] “ลบ ลบ ลบ...” ปกรณ์เปล่งเสียงดังซ้ำกันหลายครั้ง[…]
บทรำพึงของตัวละครที่ได้พลั้งมือสังหารคนเสื้อแดงไปอย่างไร้สติ มึนเมา ด้วยการหลงในบางสิ่งบางอย่างในช่วงท้ายของ ‘หลงลบลืมสูญ’ จึงกลับมามีความหมายท่ามกลางเสียงเงียบของสายลมให้ได้ยินซึ่งเสียงกระซิบของผู้คนใน ‘คอมมูน’ ที่ถูก ‘พวกนั้น’ ทำความสะอาดจนไม่มีชีวิตใน ‘อนุสาวรีย์’
แม้ว่าท้ายที่สุด อนุสาวรีย์นั้นอาจไร้ซึ่งความหมาย ปราศจากความสำคัญ หากแต่เรารำลึกไว้ได้เสมอว่าอีกเหตุผลหนึ่งของการก่อร่างสร้างอนุสาวรีย์ นอกจากการเชิดชูความดีงาม ความยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ปุถุชนธรรมดาไม่อาจเทียบเคียงได้แล้วนั้น
การไม่หลงลบ การไม่ลืมสูญ ยังมีสถานะเท่ากับการจดจำ การไม่ลืมเลือนได้เช่นเดียวกัน
แม้ตัวแทนหรือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความทรงจำที่มีต่อคณะราษฎรในฐานะตัวแทนของกลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้เกิดระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เกิดขึ้นในประเทศจะถูกรื้อถอน จะถูกย้าย ทำลาย เพื่อให้แม้แต่คำว่าคณะราษฎรไม่เคยมีในท้ายที่สุด เราก็จะไม่ลืมว่านอกจากหมุด นอกจากอนุสาวรีย์ที่บางเขน ยังมีอนุสาวรีย์ที่ไม่อาจรื้อถอนได้อยู่ในจิตใจของผู้รักประชาธิปไตย
‘เรา’ จะไม่ลืมผู้นำชาวนาที่เสียชีวิตก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
‘เรา’ จะไม่ลืมผู้เสียชีวิตทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 เมษาและพฤษภา 53
‘เรา’ จะไม่ลืม สุรชัย แซ่ด่าน ลุงนวมทอง รวมถึงคนที่ลี้ภัยไปจากประเทศบ้านเกิด
‘เรา’ ที่ยังมีชีวิตอยู่กับซากศพที่โดนทำความสะอาดแล้วในประเทศที่พยายามลบบางอนุสาวรีย์ แล้วเชิดชูบางอนุสาวรีย์ให้สูงเสียดฟ้าจนไม่มีใครสามารถปีนขึ้นไปเพื่อย่ำเหยียบได้อีก
..,
คลิกอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ วิภาส ศรีทอง
สนใจคลิกสั่งซื้อ ชุดหนังสือ วิภาส ศรีทอง
==================
26 ธ.ค. 2565
11 ม.ค. 2564
17 ต.ค. 2563