สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : บทวิจารณ์หนังสือ - ดินแดนคนตาบอด

Last updated: 29 เม.ย 2564  |  2609 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : บทวิจารณ์หนังสือ - ดินแดนคนตาบอด

เรื่องที่เขียนในครั้งนี้ จะเป็นเรื่องสั้นครับ คือ The Country of the Blind แต่งโดย เอช. จี. เวลส์ พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1904 ฉบับภาษาไทยแปลโดยมโนราห์ ให้ชื่อไทยว่า 'ดินแดนคนตาบอด' พิมพ์โดยสำนักพิมพ์สมมติ

เอช.จี. เวลส์ (1866 - 1946) เป็นนักเขียนคนสำคัญของอังกฤษ และถือว่าเป็นนักคิดสังคมนิยมคนสำคัญ งานเขียนของเขามีลักษณะหลากหลาย แต่งานที่มีชื่อเสียงของเขาคือนิยายวิทยาศาสตร์ คือเรื่อง The Time Machine (เครี่องจักรเวลา -1895) เป็นนิยายเรื่องแรกที่นำเสนอการเดินทางผ่านเวลาโดยเครื่องจักร นอกจากนี้เรื่องอื่นก็เช่น The Island o  Doctor Moreau (เกาะของ ดร.โมโร - 1896) The Invisible Man (มนุษย์ล่องหน - 1897) The War of the Worlds (สงครามระหว่างโลก - 1897) The First Men in the Moon (มนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์ -1901) และ When the Sleeper Wakes (ตื่นข้ามยุค - 1910) เป็นต้น

เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells)

สำหรับเรื่อง 'ดินแดนคนตาบอด' เล่าถึง ชายคนหนึ่งที่ชื่อ นูเนส (Nuñez) ซึ่งเดินทางไปยังเทือกเขาอันดิสในอเมริกาใต้ เพื่อพิชิตยอดเขาสูง แต่ได้ผลัดตกลงไปในหุบเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกตัดขาดจากดินแดนส่วนอื่นของโลกอย่างสิ้นเชิง ดินแดนนี้คือดินแดนคนตาบอด ที่ประชาชนทั้งหมดตาบอดทั้งสองข้างเพราะตาบอดมาตั้งแต่เกิดจนโตขึ้นมา และสืบทอดมาอีกรุ่นต่อรุ่นอีกหลายรุ่น จนไม่มีใครเคยทราบถึงประสบการณ์ของการมองเห็นว่ามีลักษณะอย่างไร ผู้คนไม่เข้าใจแม้กระทั่งความหมายของคำว่า 'มองเห็น' และแม้กระทั่งความหมายของคำว่า 'ตาบอด'

เพราะเมื่อการมองไม่เห็นเป็นสิ่งปกติทางสังคม คำว่าตาบอดจึงปราศจากความหมาย เท่ากับว่าเมื่อนูเนซมาถึงดินแดนนี้ เขาจึงกลายเป็นคนเดียวที่มองเห็นและมีประสบการณ์โลกภายนอก


นูเนซพยายามจะเล่าเรื่องโลกภายนอกที่กว้างใหญ่ ท้องฟ้า ดวงดาว ภูเขา เล่าถึงเมืองใหญ่ภายนอก คือ โบโกตาเมืองหลวงของโคลัมเบีย ที่มีผู้คนมากมายและมีความแตกต่างอย่างมากกับดินแดนในหุบเขา แต่คนในหุบเขาเชื่อว่า โลกของเขาอยู่ภายใต้หลังคาหินครอบ จึงไม่มีใครเข้าใจหรือเชื่อในสิ่งที่นูเนซเล่า พวกเขาคิดว่า นูเนซเกิดมาจากก้อนหินและมีสมองยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง คนในหุบเขาจึงเรียกเขาว่า 'โบโกตา'

นูเนซนึกถึงวลีที่ว่า ในดินแดนคนตาบอดคนตาเดียวก็อาจเป็นพระราชา จึงคิดว่าจะอาศัยประสบการณ์จากการมองเห็นในการสร้างอำนาจ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประสบการณ์ของนูเนซกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ในดินแดนนี้


ในที่สุด นูเนซก็กลายเป็นพลเมืองของดินแดนคนตาบอด ทำงานกับชาวพื้นเมือง ชื่อ ยาคอบ และเกิดความรักกับเมดินา-ชาโรต ลูกสาวคนเล็กของยาคอบ แต่การแต่งงานมีปัญหา เพราะชาวหุบเขาเห็นว่าเขาเป็นพวกปัญญาทึบผิดปกติ ต้องทำการรักษา ผู้เฒ่าที่เป็นหมอเห็นว่า อาการสมองเพี้ยนของนูเนซมาจากของพิลึกกึกกือที่เรียกว่า 'นัยน์ตา' ถ้าจะทำให้นูเนซหายขาด ต้องจัดการเอาออกเสีย การมีนัยน์ตาและมองเห็นจึงกลายเป็นโทษทัณฑ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ นูเนซจึงต้องตัดสินใจหนีออกจากดินแดนคนตาบอด และเรื่องก็จบลงที่นูเนซหนีได้สำเร็จ แต่ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ต่อมา ในฉบับพิมพ์ใหม่ ค.ศ.1939 เวลส์ได้แก้ไขเรื่องตอนสุดท้าย ให้นูเนซพาเมดินา-ชาโรตหนีออกมาด้วย และหุบเขาถล่มทำลายหุบเขาคนตาบอดจนหมด



เรื่องสั้นดินแดนคนตาบอดของเวลส์จึงตีความได้หลายอย่าง ถ้าตีความในฉบับที่แก้ไขใหม่ อาจสรุปได้ว่าในที่สุดคนตาดีก็ต้องเหนือกว่าคนตาบอด ซึ่งถ้าเป็นดังนั้น งานของเวลส์ก็อาจไม่มีคุณค่านัก แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งว่า การมองเห็นของนูเนซ ทำให้เขาเล่าแต่เรื่องดวงดาว ท้องฟ้า เมืองใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์เลยในดินแดนคนตาบอด แต่คนตาบอดที่ไม่รู้เรื่องนี้กลับทำงาน และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข คำว่า 'โบโกตา' ที่หมายถึงเมืองใหญ่ กลายเป็นคำที่เรียกแบบเสียดสี เวลส์กำลังจะบอกว่า บรรดาความรู้และอารยธรรมนั้นไร้ความหมายในการสร้างสังคมให้มีความสุข

ถ้าพัฒนามาจากเรื่องของเวลส์มาเล่าถึงเมืองสมมติอีกเมืองหนึ่ง ที่เป็นบ้านเมืองอันมืดบอดทางด้านสิทธิเสรีภาพ คำว่า 'ประชาธิปไตย' มีความหมายในเชิงเสียดสี และเป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไม่อาจเข้าใจได้


เมื่อนูเนซในเมืองนี้ พยายามเล่าเรื่องประชาธิปไตยให้คนในเมืองนี้ฟัง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ คนในเมืองสมมติตาบอดในเรื่องการเมือง จึงมีจินตภาพว่าประชาธิปไตยต้องเป็นเรื่องของการโกงการทุจริต จึงสรุปว่าอำนาจนิยมและเผด็จการทหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว การลงประชามติในเมืองสมมติ ประชาชนในเมืองจึงพร้อมใจเลือกเผด็จการทหาร เพราะมั่นใจว่าเผด็จการทหารคือความสงบเรียบร้อย ผู้นำฝ่ายทหารล้วนเป็นคนดีไม่มีใครทุจริต ไม่ว่าใครจะมาร้องโฆษณาว่า โลกภายนอกเขาไม่มีเผด็จการทหารกันแล้ว คนในเมืองสมมติก็ไม่เชื่อในจินตภาพของโลกภายนอก หรือเห็นว่าบ้านเมืองของตนมีลักษณะพิเศษที่เหมาะกับเผด็จการทหาร

เผด็จการทหารจึงกลายเป็นข้อดีที่ห้ามใครมาแก้ไข ชาวเมืองสมมติต่างก็บอกว่า ถ้าประชาธิปไตยเมืองอื่นดีอย่างนั้น คุณก็ไปอยู่เมืองอื่นสิ จะมาอยู่เมืองนี้ทำไม


ในที่สุด นูเนซของเมืองไร้ประชาธิปไตยก็ยังต้องทนอยู่ในเมืองนี้ต่อไป นิทานเรื่องสิทธิเสรีภาพที่นูเนซเล่าก็ไร้ความหมายลงไปทุกที นูเนซต้อง 'ปรับทัศนคติ' ให้เห็นว่าเผด็จการทหารเป็นสิ่งที่เหมาะสมดีงามแล้ว ขืนเล่าเรื่องประชาธิปไตยต่อไป อาจจะต้องถูกลงโทษทัณฑ์ ต้องถูกจับเข้าค่ายทหาร ถูกดำเนินคดี หรือต้องติดคุก นูเนซยุคใหม่ก็คิดได้ว่า “อยู่เมืองตาบอด ชีวิตต้องป็อบ” จึงสามารถอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข

ฉบับนี้ ถือว่า ผมเล่านิทานไม่สนุกสักเรื่องแล้วกัน ใครจะเอาไปโยงกับเรื่องอะไรก็ได้ตามแต่ใจครับ


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

- - หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 577 วันที่ 13 สิงหาคม 2559 - -

================

คลิกสั่งซื้อ Set 2 เล่ม รวมผลงานของ เอช.จี. เวลส์



==================

บทความอื่นที่คุณน่าจะชอบ (คลิกที่ขื่อบทความเพื่ออ่านต่อ)

1. ดินแดนคนตาบอด - มุกหอม วงษ์เทศ | อยู่เมืองตาบอด ต้องบอดตาตาม
2. ชวนดู See ซีรีย์ที่คุณต้องนึกถึง 'ดินแดนคนตาบอด'
3. 5 ประโยคหลอกหลอนในดินแดนคนตาบอด

==================

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้