เทนนิสซี วิลเลียมส์ | ความเหงาและการเป็นผู้หลีกหนี อัตลักษณ์สำคัญในงานเขียน

Last updated: 13 ก.ค. 2563  |  8239 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เทนนิสซี วิลเลียมส์ | ความเหงาและการเป็นผู้หลีกหนี อัตลักษณ์สำคัญในงานเขียน

...ตัวละครของเขามีความเป็น ‘อมตะ’ ไม่แพ้ตัวละครเอกของ ยูจีน โอนีลล์ (Eugene O’Neill) หรือ อาร์เธอร์ มิลเลอร์ (Arthur Miller) ถึงแม้ว่าสังคมปัจจุบันจะแปรเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม แต่ความรู้สึกและความปรารถนาอันเป็น ‘แก่นแท้’ ของมนุษยชาติก็ไม่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา...


= = อัตลักษณ์ของนักการละครผู้หลีกหนี = =


คงไม่มีบทละครเรื่องใดที่จะบอกเล่าเรื่องราวของ เทนเนสซี วิลเลียมส์ (Tennessee Williams) ได้ดีไปกว่าบทละครเรื่อง ตุ๊กตาแก้ว (The Glass Menagerie) แล้ว นอกจาก ตุ๊กตาแก้ว จะเป็นผลงานชิ้นเอกของวิลเลียมส์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง บทละครเรื่องนี้ยังสะท้อนช่วงชีวิตอันขมขื่นจากเรื่องราวในครอบครัวของวิลเลียมส์ ผ่านภาพความทรงจำอันเลวร้ายที่ฝังอยู่ภายใต้จิตใจของเขาอย่างที่ไม่มีวันลืมเลือนได้


หน้าปกหนังสือ  The  Glass  Menagerie  จัดพิมพ์โดย  Penguin  Classics


เทนเนสซี วิลเลียมส์ เป็นนักเขียนบทละครคนสำคัญของอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 20 เขาเกิดวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ.1911 ที่โคลัมบัส มิสซิสซิปปี

ความโดดเด่นในบทละครของวิลเลียมส์มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การละครอเมริกันอยู่มาก ด้วยแก่นความคิดของเรื่อง (theme) ที่เขานำเสนอถึงความขมขื่นและแสดงออกถึง ‘ปัญหา’ ของมนุษยชาติ


โดยสะท้อนผ่านลักษณะนิสัยของตัวละครเอกที่ ‘ผิดแผก’ ไปจากมนุษย์ทั่วไป กล่าวคือ ปัญหาของเรื่องเกิดจากตัวละครเอกที่มีความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality) มีความเชื่อสวนทางกับมาตรฐานของสังคม ผนวกกับทัศนคติที่เขาต้องการ ‘หลีกหนี’ ไปจากความขมขื่นในชีวิต ทำให้จุดจบของตัวละครเอกในบทละครหลายเรื่องมีการหลีกหนีไปอย่างถาวร

. . ,

ในแต่ละช่วงชีวิต เทนเนสซี วิลเลียมส์ ต้องเผชิญเรื่องราวร้ายดีซึ่งนำพาเขาไปสู่การหลีกหนี แต่เขาก็ทำได้เพียงชั่วขณะ เพราะหลังจากนั้นเขาต้องกลับมายอมรับความจริงที่เจ็บปวด ดังนั้น การหลีกหนีที่เขาต้องการปลดปล่อยผ่านตัวละครเอกในบทละคร คือความตั้งใจที่จะให้จุดจบของตัวละครเอกหลีกหนีไปอย่าง ‘ถาวร’ แม้ว่าตัวละครในแต่ละเรื่องจะมีการหลีกหนีที่แตกต่างกันไป เช่น ในเรื่อง ตุ๊กตาแก้ว (The Glass Menagerie) ในตอนท้ายสุด ‘ทอม วิงฟิลด์’ (Tom Wingfield) ก็ได้ ‘หลีกหนี’ โดยการหนีออกจากบ้านคนเดียวโดยที่ไม่หันลังกลับไปอีกเลย แต่ภาพหลอนของลอราก็ตามติดไปในจิตใจเขาทุกหนแห่ง

ในเรื่อง รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (A Streetcar Named Desire) ‘บล็องช์ ดูบัวส์’ (Blanche Dubois) ไม่สามารถยอมรับสภาพที่แท้จริงของชีวิตได้ แต่เธอมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะหาใครสักคนที่สามารถให้ความรัก ความเข้าใจและคุ้มครองเธอได้ ฟางเส้นสุดท้ายที่เปรียบเสมือนเปลวเทียนอันริบหรี่ของเธอได้ถูกทำลาย เธอจึง ‘หลีกหนี’ จากโลกความจริงด้วยการตัดขาดไปสู่ความวิกลจริต อันเป็นเสมือนโลกมายาที่เธอต้องการ

ในเรื่อง คิมหันต์และควันรัก (Summer and Smoke) จิตวิญญาณที่อยู่ภายในร่างของ ‘อัลมา ไวน์มิลเลอร์’ (Alma Winemiller) ไม่ได้รับการตอบสนองจาก จอห์น บิวแคนัน (John Buchanan) เธอจึง ‘หลีกหนี’ ไปกับชายแปลกหน้า และปล่อยกายให้ถูกควบคุมด้วยอำนาจฝ่ายต่ำ เพราะเธอไม่ปรารถนาจะเป็นเหมือนเทพีนิรันดร (Eternity) ที่มีร่างเป็นศิลาและมีเพียงโลหิตเป็นน้ำพุให้ผู้คนดื่มกิน

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็น ‘อัตลักษณ์’ ของ เทนเนสซี วิลเลียมส์ ที่แอบแฝงอยู่ในบทละคร  จนกลายเป็น ‘เอกลักษณ์’ ของเขาไปโดยปริยาย





= = เอกลักษณ์ของตัวละครเอกในงานวรรณกรรมของ เทนเนสซี วิลเลียมส์ = =

แม้ว่า เทนเนสซี วิลเลียมส์ จะไม่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าบทละครของเขาสะท้อนอัตลักษณ์ไว้มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นอัตลักษณ์ที่เกิดจาก ‘ความเหงา’ และการเป็น ‘ผู้หลีกหนี’ (escapist) ในแง่นี้จึงทำให้การวางลักษณะนิสัยตัวละคร (characterization) ของเขามี ‘เอกลักษณ์’ ที่แตกต่างจากตัวละครเอกของนักการละครท่านอื่น เพราะเขาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีอัตลักษณ์ ความคิด ความเชื่อ ความต้องการ และความมุ่งหวังในชีวิตในระดับที่แตกต่างกัน เขาจึงเพียรสร้างตัวละครที่เป็นปัจเจกบุคคล (individuality) เสียมากกว่า แต่กระนั้นตัวละครที่เขาสร้างขึ้นก็ยังคงสะท้อน ‘ปัญหา’ ของมนุษยชาติ



ตัวละครเอกในงานวรรณกรรมของ เทนเนสซี วิลเลียมส์ ทั้ง ‘อแมนดา วิงฟิลด์’ (Amanda Wingfield) ในเรื่อง ตุ๊กตาแก้ว (The Glass Menagerie) ‘บล็องช์ ดูบัวส์’ (Blanche Dubois) ในเรื่อง รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (A Streetcar Named Desire) และ ‘อัลมา ไวน์มิลเลอร์’ (Alma Winemiller) ในเรื่อง คิมหันต์และควันรัก (Summer and Smoke) เป็นตัวละครที่มีความเชื่อสวนทางกับมาตรฐานของสังคม อีกทั้งยังต้องยืนหยัดต่อสู้บนรอยต่อของสังคมที่ผันแปรและแทนที่ด้วยสังคมใหม่อันหยาบกระด้าง ตัวละครเหล่านี้ต้องเจ็บปวด ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะกำลังโหยหาอดีตอันรุ่งเรือง โหยหาความรัก  ความเอื้ออาทรที่ไม่ปรากฏในสังคมปัจจุบันแล้ว

เอกลักษณ์เช่นนี้จึงทำให้ตัวละครเอกของวิลเลียมส์ดูแปลกและมีจริตมากกว่ามนุษย์ปกติ อาจหาได้ยากในสังคม อาจจะเป็นหนึ่งในล้านหรืออาจจะไม่มีอยู่จริงก็เป็นได้ เพราะเขาต้องการสะท้อนให้เราเห็นว่ามนุษย์ที่เปราะบางย่อมถูกมนุษย์ที่โหดร้ายกว่ากดทับ


อีกทั้งมนุษย์ในยุคร่วมรอยต่อสังคมสมัยเก่านั้นมีความเปราะบางและละเอียดอ่อนเกินกว่าจะทานทนสังคมสมัยใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามา เป็นมนุษย์ที่มีจิตวิญญาณในลักษณะใฝ่ดี ถวิลหาความสูงส่งทางจิตใจ และต้องต่อสู้เพื่อปกป้องสัญชาตญาณที่เปราะบางราวกับต้องการปกป้องเปลวเทียนที่อยู่ท่ามกลางพายุ ชีวิตตัวละครเหล่านี้ไม่ต่างไปจาก ‘ม้ายูนิคอร์น’ ของ ลอรา วิงฟิลด์ (Laura Wingfield) ที่ถูกเป่าขึ้นจากแก้ว  นอกจากจะเปราะบางมากแล้ว  ยัง ‘ไม่มี’ อยู่จริงอีกด้วย

การที่ เทนเนสซี วิลเลียมส์ เพียรสร้างให้ตัวละครของเขามีลักษณะเปราะบางและโหยหาสิ่งต่างๆ มาเติมเต็มนั้น ย่อมทำให้เรา ‘เข้าถึง’ และ ‘เข้าใจ’ ตัวละครมากทีเดียว เพราะเราในฐานะมนุษย์ย่อมมีความปรารถนา (desire) ด้วยกันทั้งสิ้น แต่อาจจะมีระดับของความต้องการที่แตกต่างกันไป ในขณะที่บางคนอาจโหยหาความสุขสมบูรณ์ทางกายภาพ ซึ่งเป็นเพียงความปรารถนาทางกาย (physical desire)

แต่บางคนอาจโหยหาความสูงส่งทางจิตวิญญาณ ซึ่งผู้ที่โหยหามากกว่าความสุขสมบูรณ์ทางกายนั้น หาไม่ได้เลยในสังคมปัจจุบัน เพราะสังคมปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนไปและถูกแทนที่ด้วยวัตถุนิยมเสียแล้ว จะหลงเหลือก็แต่ ‘มนุษย์’ เท่านั้นที่ต้อง ‘พยายาม’ ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ดังนี้แล้ว การมองหาอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ในงานวรรณกรรมของเทนเนสซี วิลเลียมส์ จึงเป็นการเปิดกว้างให้มนุษย์ได้รู้จักเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงจิตวิญญาณเบื้องลึก เพื่อให้มนุษย์ใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข

และขณะที่สังคมไทยมีแต่ความโหดร้ายเช่นนี้ เราจะยอมสวนกระแสไปตามความปรารถนาเบื้องลึกในจิตวิญญาณ หรือจะยอมตกเป็นทาสไปตามระบบกลไกอันเหลวแหลกของสังคม?


======

บางส่วนจากบท อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และสัญลักษณ์ของ เทนเนสซี วิลเลียมส์ ที่ปรากฏในบทละครเรื่อง The Glass Menagerie โดย ณัฐพล โพธิ์แก้ว

อ่านเพิ่มเติมได้ใน วาระสมมติ หมายเลข 01 ว่าด้วยวรรณกรรม
(HIDDEN AGENDA - On Literature)









วริศ ลิขิตอนุสรณ์ : บรรณาธิการ
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการสำนักพิมพ์
หลายคนเขียน

พิมพ์ครั้งแรก : มีนาคม 2562
ความหนา : 248 หน้า
ISBN 978-616-7196-90-9


สนใจหนังสือแนวนี้ สนพ.ขอแนะนำ ชุดหนังสือสำหรับสายอาร์ต


==============================

บทความที่คุณน่าจะชอบ
ความหมายของชีวิต: แนวคิดข้ามมนุษยนิยม /
/ เราทุกคนต่างมีวาระซ่อนเร้น /

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้