บาย - ไลน์ (By-Line)

คุณสมบัติสินค้า:

สารคดียี่สิบเก้าชิ้นที่เป็นวัตถุดิบชั้นดีและจะกลายสภาพเป็นงานวรรณกรรมชั้นเลิศของโลก

Share

บาย-ไลน์ (By-Line)

สารคดียี่สิบเก้าชิ้นแรก แบบฝึกหัดทางวรรณกรรมของนักเขียนหนุ่ม โดย เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) นี่คือวัตถุดิบชั้นดีที่จะกลายสภาพเป็นงานวรรณกรรมชั้นเลิศ แปลและเรียบเรียงโดยอัศวินทางวรรณกรรม แดนอรัญ แสงทอง

ก่อนอื่น...ลืมภาพของเฮมิงเวย์ นักเขียนผู้เป็นตำนานของวรรณกรรมอเมริกัน ลืมภาพเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ลืมภาพลักษณ์ชายชาตรีอเมริกันคนสุดท้าย...เพราะงานเขียนยี่สิบเก้าชิ้นนี้ใน 'บาย-ไลน์' คุณจะพบอีกด้านหนึ่งของเขา



หลังจากเฮมิงเวย์เรียนจบมัธยม เขาดื้อไม่ยอมเรียนอุดมศึกษา เขาเบื่อบ้าน เฮมิงเวย์ในวัยสิบเจ็ดจึงทำงานหาเลี้ยงชีพในตำแหน่งผู้สื่อข่าวฝึกหัด เขาต้องเผชิญชีวิตเพียงลำพัง ซอกแซกหาข่าว สืบค้นแหล่งข่าว จนได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ‘ความชั่วร้ายสารพัดอย่างที่มนุษย์ทำลงไป’ เขาถูกฝึกให้เขียนอย่างตรงไปตรงมา กระชับ และชัดเจน นี่คือบทเรียนแรกในการเขียนของเฮมิงเวย์

เขามีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยสมัครเป็นทหารในกองทัพบกแต่ถูกคัดออกเพราะมีปัญหาทางสายตา แต่ก็ดิ้นรนสมัครเข้าหน่วยอาสาสมัครกาชาดจนได้ เฮมิงเวย์ได้ลิ้มรสชาติของสงคราม เห็นสงครามด้วยตาตนเอง บาดเจ็บจนเข้าโรงพยาบาล และได้รับเหรียญกล้าหาญ วีรบุรุษสงครามผู้นี้ต้องเดินด้วยการใช้ไม้ค้ำยันพักใหญ่หลังจากที่เดินทางกลับบ้านเกิด

"...ประสบการณ์จากสงครามทำให้เขาได้เห็นธาตุแท้ของมนุษย์ มันทำให้เขาได้เห็นว่าชีวิตและความตายอยู่ใกล้กันมากเพียงไร มันเป็นความได้เปรียบที่ตอลสตอยได้มาจากสงครามไครเมีย มันเป็นความได้เปรียบที่สตองดาห์ลได้มาจากสงครามของนโปเลียน ความเชื่อมั่นนี้ทำให้เฮมิงเวย์พูดถึงความจริงต่างๆ นานาอย่างขวานผ่าซากโดยปราศจากภาพลวงตาใดๆ..."
บางส่วนจาก บทนำ โดย แดนอรัญ แสงทอง


หลังจากที่เขากลับจากสงคราม บาย-ไลน์ จึงเริ่มก่อร่างสร้างตัว เฮมิงเวย์ได้งานที่ The Toronto Daily Star แบบฝึกหัดทางวรรณกรรมเริ่มต้นที่นี่!!! งานเขียนในหนังสือเล่มนี้ส่อเค้าว่าจะถูกปรับเปลี่ยนโฉมเป็นวรรณกรรมบันลือโลกอยู่รำไร มันแปลงไปเป็นนิยายเรื่อง The Sun Also Rises และ A Farewell to Arms และกลายเป็นสารคดีเล่มเขื่องอย่าง Death in the Afternoon

เฮมิงเวย์ในวัยกระเตาะขอให้ The Toronto Daily Star ส่งตัวไปทำงานเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศในปารีส เขาขอคำปรึกษาจาก เชอร์วูด แอนเดอร์สัน นักเขียนอเมริกันคนสำคัญที่เคยใช้ชีวิตในปารีสมาก่อน เมืองแห่งนี้ทำให้เขาได้พบกับศิลปินพลัดถิ่นอีกหลายคนเช่น ซิลเวีย บีช, เจมส์ จอยซ์, เกอร์ทรูด สไตน์ และ เอซรา พาวนด์

ภาพของแฮดลีย์ผู้เป็นภรรยาคนแรกที่ร่วมเดินทางไปกับเขาปรากฏในงานหลายชิ้นอย่าง
'เที่ยวบินเที่ยวหนึ่งจากปารีสไปสตราสบูร์ก' 'กว่าจะได้เข้าไปในแดนเยอรมนี' หรือ 'ปามโบลนาในเดือนกรกฎาคม' ที่เธอไปดูการสู้วัวและหลงใหลมาตาดอร์ผู้ยิ่งใหญ่ เหล่านี้กลายเป็นเค้าโครงของนิยายรักที่เฮมิงเวย์บ่ายเบี่ยงที่จะเขียนมันออกมา และดึงบางเศษเสี้ยวไปใช้ใน The Snows of Kilimanjaro

แม้เฮมิงเวย์จะเผชิญชีวิตโลดโผนตรากตรำ และเห็นว่ากฎเกณฑ์ของสังคมช่างโหดร้ายและหยาบกระด้าง ที่สุดท้ายผู้คนก็เพียงอิงอาศัยกันเพียงชั่วครู่ชั่วยามแต่กลับไม่ไยดีกันอย่างแท้จริง ทว่าเขากลับไม่ได้เอ่ยถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งออกมาอย่างเปิดเผยในสารคดียี่สิบเก้าชิ้นนี้ เฮมิงเวย์เพียงคิดว่า ไม่ต้องกล่าวถึงมัน ปล่อยให้คนอ่านรู้สึกถึงมันเอาเอง

ดังนั้น สิ่งที่เราจะได้เสพจากยี่สิบเก้าเรื่องในหลากหลายฉากของยุโรป จึงดูเสมือนว่าเป็นการเขียนสารคดีธรรมดา แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้ จะเห็นว่า เฮมิงเวย์ไม่เพียงมีพรสวรรค์ของนักข่าวอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเขียนเฉพาะข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่เขายังเป็นนักเขียนที่เก่งกาจและแม่นยำในสิ่งที่เขาเล่า เพราะในงานทุกชิ้นฉายภาพชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงซึ่งถูกเงาของความรุนแรงและความตายพาดบังอยู่

  • เรื่องราวการสู้วัวที่คล้ายกับละครโศกนาฏกรรมกลับมีแง่มุมของอารมณ์ความรู้สึกมนุษย์
  • การเดินทางระหกระเหินของผู้อพยพที่ถ่ายทอดออกมาราวกับพวกเขายืนอยู่ตรงหน้า
  • มุสโสลินีที่ดูน่าเกรงขามก็ยังกลายเป็นนักลวงโลกเพราะสายตาอันแหลมคมที่จ้องจับผิดผู้นำคนนี้
  • เขาค่อนแคะชีวิตของศิลปินจอมปลอมที่เอาแต่วางมาดอยู่ในร้านกาแฟชื่อดัง
  • เรื่องราวของเหล่ากษัตริย์ในยุโรปก็ถูกเหน็บแหนมและตราหน้าอย่างไม่ยี่หระ
  • และมีอีก 2-3 ชิ้นที่เล่าเรื่องการตกปลาเทราท์ซึ่งรื่นรมย์ราวกับบทกวีบทหนึ่งเสมือนเป็นการผ่อนพักจากการอ่านเรื่องราวอันเข้มข้น


ซินแคลร์ ลูอิส (Sinclair Lewis) นักเขียนอเมริกันคนแรกที่ได้รางวัลโนเบลชื่นชม 'นักเขียนสองคน' ว่า สร้างงานที่มีพลังรุนแรง และเป็นงานเขียนที่ดีอย่างแท้จริง จนถึงขนาดที่ลูอิสเสียใจที่ตนเองแก่เกินกว่าที่จะทำอย่างเขาได้ โดยทั้งสองคนนี้ก็ได้รับรางวัลโนเบลเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ วิลเลียม โฟล์คเนอร์ ส่วนอีกคนหนึ่งคือ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์

"นักเขียนควรจะเขียนอยู่ตลอดเวลา...เหมือนกับว่าถ้าเขียนจบเมื่อใด ก็จะตายลงเมื่อนั้น"
เฮมิงเวย์ นักเขียนที่ว่ากันว่าเป็น 'ชายชาตรีอเมริกันคนสุดท้าย' กล่าวไว้

====================



บาย - ไลน์ (By-Line)
สารคดียี่สิบเก้าชิ้นแรก แบบฝึกหัดทางวรรณกรรมของนักเขียนหนุ่ม
วรรณกรรมในวงเล็บ ลำดับที่ 17

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) : เขียน
แดนอรัญ แสงทอง : แปลและเรียบเรียง
สิทธิวัฒน์ เรืองพงศธร : บรรณาธิการเล่ม
จิรวัฒน์ รอดอิ่ม : ออกแบบปก

พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2562
ความหนา : 336 หน้า
ราคาปก 350 บาท
ISBN 978-616-562-002-4
====================

-- สารคดี 29 เรื่อง --
1 หาเรื่องเสียวคอหอยเล่น
2 สวรรค์ของคนรักการตกปลาเทราท์สายรุ้ง
3 ปฏิบัติการจองเวรอันสุนทรีย์หรือไม่สุนทรีย์ก็สี่ร้อยเหรียญขึ้นไปเหมือนกัน
4 การตกปลาทูน่าในสเปน
5 บรรดาโรงแรมต่างๆในสวิตเซอร์แลนด์
6 เดอะสวิส ลูช
7 อเมริกันพเนจรในปารีส
8 การประชุมนานาชาติที่เจนัวเป็นเจ้าภาพ
9 สาวรัสเซียในการประชุมที่เจนัว
10 ตกปลาที่คลองโรห์น
11 พวกเจ้าของโรงแรมน้อยในเยอรมนี
12 เที่ยวบินเที่ยวหนึ่งจากปารีสไปสตราสบูร์ก
13 วิกฤตเงินเฟ้อในเยอรมนี
14 ฮามิดเบย์
15 ขบวนแถวแนวอันเงียบงันและพึงสยองเยี่ยงภูตผี
16 “โอลด์คอนสแตน”
17 ผู้อพยพจากเมืองเทรซ
18 มุสโสลินี:นักลวงโลกผู้ยิ่งใหญ่แห่งทวีปยุโรป
19 ขุนทหารรัสเซียพรางชมพู
20 กว่าจะได้เข้าไปในแดนเยอรมนี
21 พระราชกรณียกิจของกษัตริย์ในทวีปยุโรป
22 แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น
23 การสู้วัวที่สเปนนั้นมันคือละครโศกนาฏกรรม
24 ปามโบลนาในเดือนกรกฎาคม
25 การตกปลาเทราท์ในยุโรป
26 ภาวะเงินเฟ้อและชะตากรรมของเงินมาร์คเยอรมัน
27 “เหรียญกล้าหาญร้อนๆจ้า”
28 คริสต์มาสบนหลังคาโลก
29 โจเซฟ คอนราด,นักเขียนผู้เป็นทั้งคนมองโลกในแง่ดีและนักศีลธรรม
====================

สนใจสั่งซื้อ วรรณกรรมในวงเล็บครบชุด

ราคาพิเศษสุด!!!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้