ผลงานเล่มสำคัญของนักเขียนที่ทำงานเขียนอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง
หมวดหมู่ : Special Set ,  วรรณกรรมไทย , 
Share
============================
● แบบจำลองของเหตุผล ●
ผลงานล่าสุดของ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ โดยรูปแบบ ไม่ว่าจะเรียกขานงานชิ้นนี้ว่าเป็นอะไร ทั้งเรื่องเล่าเปิดเปลือยความคิด ความเรียงที่ถักทอด้วยถ้อยคำแห่งกวีนิพนธ์ กระทั่งบทบันทึกของกวีคนหนึ่ง ทั้งหมดที่ว่ามา ยังไม่อาจนิยามงานเขียนชิ้นนี้ได้ด้วยความหมายที่ครบถ้วน
‘แบบจำลองของเหตุผล’ รวบรวมก้อนความคิดทั้งหมด [231] ชิ้น ความหนา 324 หน้า บรรจุประโยค ถ้อยคำ วลี และความคิดของกวีคนหนึ่ง เป็นความเรียงว่าด้วยเหตุผลที่ประกอบขึ้นรูปด้วยถ้อยคำแห่งกวีนิพนธ์โดยแท้
จรรยา เขียนไว้ในบทหนึ่งของเล่มว่า “...แบบจำลองนั้นวางตำแหน่งของมันในหนังสือเล่มหนึ่ง ใช่ มันก็แค่หนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งฉันเขียนความหมายของมันเหมือนการวาดรูปบนกำแพงต้องห้าม เราจะก้าวข้ามไปจากการรับรู้ที่ไม่เท่าเทียม เพื่อได้ตระหนักว่า หลังกำแพงเหล่านั้นจะมีใครสักคนกำลังดื่มกาแฟที่ขมกว่า และเขาปรารถนาอย่างยิ่งที่จะทุบทำลายกำแพงนั้นลงสักวัน...”
‘แบบจำลองของเหตุผล’ เป็นงานเขียนที่จัดวางตัวเองในตำแหน่งที่พอเหมาะพอดี มีลักษณะที่คล้ายท่วงทำนองของงาน โจเซฟ จูแบรต์ (Joseph Joubert) นักเขียนความเรียงชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 และหาก จูแบรต์ เขียนไว้ว่า “หากปราศจากหน้าที่แล้ว ชีวิตช่างบอบบางและไร้โครงสร้าง มันไม่อาจคงตัวอยู่ได้เลย” เราก็คงจะบอกได้ว่า ‘แบบจำลองของเหตุผล’ คือภาระหน้าที่ของ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ ในฐานะที่กวีจะพึงมีต่อถ้อยคำและผู้อ่านของเขา
งานเขียนเล่มสำคัญนี้ของจรรยา สะท้อนให้เห็นว่างานประเภทความเรียง บทบันทึก ข้อเขียนเชิงทัศนะแบบกวีนิพนธ์ของนักเขียนไทย ไปไกลกว่าการรวม ‘คำคม’ และ ‘ข้อคิดให้กำลังใจ’ ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดและดาษดื่น เพราะงานชิ้นนี้ วางตัวคู่ขนานไปกับความคิดทางปรัชญาที่ว่าด้วยการแสวงหาเหตุผลที่ตนยึดถือ เป็นการตั้งคำถามต่อกระบวนทัศน์สามานย์ที่ตั้งตนเป็นใหญ่ให้ผู้คนหยิบฉวยไปใช้ในนามของเหตุผล
============================
● มนุษย์นิพนธ์ ●
งานเขียนชิ้นสำคัญของ สหรัฐ พัฒนกิจวรกุล เรื่องเล่าทั้งหมดในเล่มนี้เป็นมหากาพย์แห่งความรู้สึก มีความเศร้าโศกและซับซ้อน อยู่ในซอกหลืบที่ลับเร้น ซ่อนเรื่องราวความรัก อารมณ์ใคร่ ที่เปล่งท่วงทำนองกว่าหนึ่งแสนถ้อยคำผ่านบทบันทึกเชิงกวีนิพนธ์จากสำนึกของผู้เขียน
เรื่องเล่าใน ‘มนุษย์นิพนธ์’ มีทั้งหมด [120] บท ในบางบทจะมีบทกวีแทรกอยู่ โดยจัดหน้าเลย์เอ้าท์แยกเป็นพิเศษเพื่อให้เห็นเด่นชัดว่าเป็นบทแทรก หากนับเพียงบทกวีที่แทรกอยู่ก็สามารถตีพิมพ์แยกออกมาเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มได้โดยง่าย!
ความหนา 432 หน้า ทุกหน้าเต็มไปด้วยตัวอักษรที่อ่านสบายตาด้วยการจัดเลย์เอ้าท์ที่ลงตัว แต่ละบทอ่านจบในตัวของมันเอง เมื่อแต่ละบทถูกออกแบบให้เป็นเอกเทศในตัวเองแล้ว ผู้อ่านจึงมีเสรีภาพในการอ่านโดยแท้ เพราะจะเลือกอ่านจากบทไหนก่อนก็ได้ ไม่ต้องเรียงลำดับ!
แต่ละบทใน ‘มนุษย์นิพนธ์’ มีความสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่ละบทเต็มไปด้วย ‘คำ’ ที่แสดงชั้นเชิงทางภาษาของผู้เขียนอย่างชัดเจน ชั้นเชิงที่ว่าล้วนได้รับอิทธิพลจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์, โกวเล้ง และมีกลิ่นแบบกวียุคบีท (beat generation) อย่างอัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg)
‘มนุษย์นิพนธ์’ ยังแสดงให้เห็นถึงกลวิธีการเล่าเรื่องแบบ ‘Stream of Consciousness’ เป็นการเล่า-ไหล ความคิดจากภายใน เป็นสำนึกที่หลากหลายลื่นไหลไม่สิ้นสุด ในทางปรัชญาพอจะอธิบายได้ว่า เพราะความคิดไม่เคยหยุดนิ่ง มันเคลื่อนไหวแตกตัว กระจัดกระจาย จากความคิดหนึ่งเชื่อมโยงไปสู่อีกความคิดหนึ่ง การเขียนที่มีลักษณะของ ‘กระแสสำนึก’ จึงเป็นการขุดคุ้ยสำนึกที่อยู่ภายในขึ้นมาเล่าให้ไหล โดยมีเป้าประสงค์เพื่อค้นหาความจริงบางอย่าง!
‘มนุษย์นิพนธ์’ ไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูป ปฏิเสธคำคมสามานย์ และไม่เทิดทูนบูชาประสบการณ์ชีวิตสำเร็จรูป!
กล่าวอย่างรวบรัด ทั้ง ‘แบบจำลองของเหตุผล’ และ ‘มนุษย์นิพนธ์’ คือการยก 'ทุกภาวะ' ที่มนุษย์เผชิญมาวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ พร้อมชำแหละด้วยมีดที่คมที่สุดจากความคิดของสองนักเขียน พวกเขาทั้งสองใช้สำนึกของกวีเป็นอาวุธในการเขียน พวกเขาสำลักความคิดที่อยู่ภายในออกมาเป็นภาษาในระดับที่ต้องโค้งคำนับ
============================
● คนแคระ ●
รางวัล SEA Write ประจำปี 2555 | รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน
--- คำประกาศของคณะกรรมการตัดสินซีไรต์ ---
คนแคระของ วิภาส ศรีทอง เป็นนวนิยายที่เสนอปัญหาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์
เปิดเผยให้เห็นความโดดเดี่ยว อ้างว้างของกลุ่มคนซึ่งเป็นตัวแทนของสังคมร่วมสมัย
โดยสะท้อนให้เห็นการขาดความตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การหมกมุ่นอยู่กับปัญหาของตนเอง และการโหยหาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์แต่จำกัดขอบเขตของความสัมพันธ์นั้นไว้
ทั้งหมดนี้ผู้เขียนนำเสนอผ่านตัวละครที่แสดงความเย็นชาต่อชะตากรรมของมนุษย์ และหาทางสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของตนเอง
============================
หนังสือปกแข็งชุดสำคัญนี้ จัดพิมพ์จำนวนจำกัด
ไม่วางขายตามระบบสายส่ง
============================
แบบจำลองของเหตุผล
ความเรียงว่าด้วยเหตุผลที่ประกอบขึ้นรูปด้วยถ้อยคำแห่งกวีนิพนธ์ โดย จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์
(ปกแข็ง // หุ้มผ้าเนื้อพิเศษ // ปั๊มจมฟอยล์ // เข้าเล่มอย่างประณีต // เย็บกี่ // สันตรง)
จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการเล่ม
จิรวัฒน์ รอดอิ่ม : ออกแบบปก
พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2562
ความหนา : 324 หน้า
ราคาปก 500 บาท
ISBN 978-616-5620-00-0
==========
มนุษย์นิพนธ์
โครงสร้างนิพนธ์ซ้ำซากจากสำนึกของกวี เป็นสมการทางภาษาที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง และรุนแรง โดย สหรัฐ พัฒนกิจวรกุล
(ปกแข็ง // หุ้มผ้าเนื้อพิเศษ // ปั๊มจมฟอยล์ // เข้าเล่มอย่างประณีต // เย็บกี่ // สันตรง)
สหรัฐ พัฒนกิจวรกุล : เขียน
เอกสิทธิ์ เทียมธรรม : บรรณาธิการเล่ม
จิรวัฒน์ รอดอิ่ม : ออกแบบปก
พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2562
ความหนา : 432 หน้า
ราคาปก 600 บาท
ISBN 978-616-5620-01-7
==========
คนแคระ (ปกแข็ง ฉบับพิเศษ)
วรรณกรรมไทย (นวนิยาย)
วิภาส ศรีทอง : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการ
DESIGN | ● สมมติ STUDIO ● | จิรวัฒน์ รอดอิ่ม
ฉบับพิมพ์ครั้งที่หก : ตุลาคม 2563
ความหนา : 440 หน้า
ISBN 978-616-562-018-5
=====