รู้หรือไม่? ตีเด็กผิดกฎหมาย

Last updated: 5 ก.ย. 2565  |  2716 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้หรือไม่? ตีเด็กผิดกฎหมาย

ความเบ่งบานของสิทธิเสรีภาพจากรัฐธรรมนูญ 2540 ส่งผลต่อการจัดทำกฎหมายเพื่อยกเลิกมรดกของเผด็จการอำนาจนิยม โดยเฉพาะในรั้วโรงเรียน กล่าวกันว่ากระทรวงศึกษาเคยอนุญาตให้ครูใช้ไม้เรียวเฆี่ยนตีนักเรียนได้ไม่เกินหกปีบริเวณบั้นท้าย จนกระทั่งได้มีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2543 ที่ยกเลิกระเบียบในปี 2515 และ 2522 โดยมีสาระสำคัญคือ ยกเลิกการลงโทษประเภท 'เฆี่ยน' ออกไป และเพิ่มโทษ 'ทำกิจกรรม' ขึ้นมาในสถานที่สอง ระหว่าง 'ว่ากล่าวตักเตือน' อันเป็นสถานที่หนึ่ง และ 'ทำทัณฑ์บน' อันเป็นสถานที่สอง ทั้งยังลดโทษให้เหลือเพียงห้าสถาน อีกทั้งในปี 2548 ได้มีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง เหลือโทษสี่สถาน ตัดโทษ 'พักการเรียน' และ 'ให้ออก' ทิ้งไป แสดงให้เห็นว่าในเชิงกฎหมายมีแนวโน้มที่จะลดบทลงโทษนี้ลง

กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 นิยามลักษณะไม่พึงประสงค์ของนักเรียนและนักศึกษาไว้ 9 ข้อ เพื่อให้สถานศึกษากำหนดระเบียบให้ชัดเจน ลักษณะดังกล่าวได้แก่

1.หนีเรียนหรือออกนอกสถานศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงเวลาเรียน
2.เล่นการพนัน จัดให้มีการเล่นการพนัน หรือมั่วสุมในวงการพนัน
3.พกพาอาวุธหรือวัตถุระเบิด
4.ซื้อ จําหน่าย แลกเปลี่ยน เสพสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สิ่งมึนเมา บุหรี่หรือยาเสพติด
5.ลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ข่มขู่ หรือบังคับขืนใจเพื่อเอาทรัพย์บุคคลอื่น
6.ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทําร้ายร่างกายผู้อื่น เตรียมการหรือกระทําการใดๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
7.แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ
8.เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี
9.ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืนเพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ลักษณะดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับการป้องปรามและควบคุมไม่ให้เด็กและเยาวชนก่อเหตุความรุนแรง

ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ได้เข้ามาแทนที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 (พ.ศ.2515) โดยถือว่าเป็นการยุติต้นตอสำคัญของการจำกัดสิทธิ์ของเด็กและเยาวชนที่สร้างมรดกทางอำนาจการควบคุมมายาวนาน ภายใต้บรรยากาศที่เบ่งบานของประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญ 2540 อีกด้วย

แต่การทำโทษนักเรียนด้วยการเฆี่ยนตีก็ยังมีให้เห็นและเป็นข่าวเสมอ เมื่อการยกเลิกการทำโทษข้างต้นเป็นเพียงการยกเลิกในกระดาษ ไม่ได้มีผลเชิงวัฒนธรรมขององค์กรและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทำให้กรณีการลงโทษเด็กด้วยการเฆี่ยนตียังมีอยู่ในสังคมไทยทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ดังนั้น วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมที่ยังสถิตอยู่ในสภาพแวดล้อมโรงเรียนและในมโนสำนึกของครู กระทั่งผู้ปกครอง ทำให้การยกเลิกเพียงในระเบียบอาจไม่เพียงพอ
...

ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรมได้ส่งผลต่อแนวปฏิบัติในด้านการศึกษา โดยกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ต้องทรงอาญาสิทธิ์กว่ากลับไร้น้ำยา เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสถาบันการศึกษายังไม่เปลี่ยน การให้คุณให้โทษ การลงทัณฑ์ยังถูกมัดแน่นอยู่กับระบบอุปถัมภ์ในโรงเรียน ที่ความคิดแบบก้าวหน้าไม่อาจเข้าไปคลี่คลายปมปัญหานั้นได้ง่ายๆ
...

 

-- บางส่วนจาก บทที่ 5 การศึกษาไทยกับฉันทามติหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 (พ.ศ.2540-2549) โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ในเล่ม เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย




คลิกสั่งซื้อในราคาพิเศษ ชุดหนังสือประวัติศาสตร์ที๋โรงเรียนไม่ได้สอน พร้อมให้คุณเบิกเนตรและตาสว่าง


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้