Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 3513 จำนวนผู้เข้าชม |
พัฒนาการของลูกน้อยในช่วงเริ่มต้นเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนสนใจ 'หนังสือ' เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเพิ่มศักยภาพในการคิด รวมไปถึง 'พัฒนาการของสมอง' ที่เกิดจากการอ่าน
'จำนวนหนังสือ' ในบ้านมีผลต่อศักยภาพในการคิด วิเคราะห์ และเรียนรู้เรื่องราวหลากหลาย
โจแอนนา ซิโกรา (Joanna Sikora) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ได้ทำการวิจัยในกลุ่มผู้ใหญ่หนึ่งแสนหกหมื่นคน ที่มีอายุ 25 ถึง 65 ปี จาก 31 ประเทศทั่วโลก โดยให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนบอกจำนวนหนังสือในบ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่จนอายุ 16 ปี จากนั้นจึงให้ทำแบบทดสอบวัดระดับความฉลาดด้านภาษา คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผลของงานวิจัยนี้เผยให้เห็นว่า ยิ่งกลุ่มตัวอย่างมีความเกี่ยวข้องกับ 'หนังสือ' ในวัยเด็กมากเท่าไร ความสามารถในด้านต่าง ๆ ก็จะมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะด้านภาษาที่เป็นตัวช่วยส่งเสริมศักยภาพในการคิดวิเคราะห์และเรียนรู้เรื่องราวอันหลากหลายให้ดียิ่งขึ้น
งานวิจัยชิ้นนี้ยังเผยให้เห็นอีกว่า ผู้ใหญ่ที่ได้คะแนนน้อยในแบบทดสอบความฉลาดด้านภาษา ล้วนเคยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีหนังสือเพียงไม่กี่เล่มในวัยเด็ก ขณะที่ผู้ใหญ่ที่มีค่าความฉลาดปานกลาง เติบโตมากับหนังสือประมาณ 80 เล่ม และค่าความฉลาดนี้จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนคงที่ที่ระดับจำนวนหนังสือประมาณ 350 เล่ม
หนึ่งในวิธีการพัฒนาสมองที่ดีที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจคาดไม่ถึงก็คือ 'การอ่าน'
สมองของลูกน้อยวัยแรกเกิดนั้นมีน้ำหนักประมาณ 340 กรัม แต่มีเซลล์สมองกว่าแสนล้านเซลล์ที่รอให้มีเครือข่ายเซลล์ประสาทใหม่ ๆ มาเชื่อมโยงกันจนเกิดความสามารถในการเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่ออายุครบ 1 ขวบจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น การกระตุ้นสมองของเด็กให้เกิดการพัฒนานั้นอาศัยความใส่ใจในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา อารมณ์ รวมไปถึงสังคม ซึ่งหนึ่งในวิธีการพัฒนาสมองที่ดีที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจคาดไม่ถึงก็คือเรื่องง่าย ๆ อย่าง “การอ่าน” นั่นเอง
หนังสือเปรียบเสมือนสิ่งมหัศจรรย์ที่เราสามารถแตะต้องได้ด้วยมือเปล่า นอกจากมันจะเป็นแหล่งความรู้หรือจินตนาการใหม่ ๆ และช่วยคลายความเครียดตามที่งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Brain Connectivity เมื่อปี 2556 ได้กล่าวไว้ มันยังช่วยพัฒนาสมองให้เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความฉลาดอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นิยายเชิงประวัติศาสตร์ช่วยให้เห็นโลกกว้าง | นิยายแฟนตาซีเสริมสร้างจินตนาการ
นอกจากปริมาณของหนังสือในบ้านจะเป็นสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กแล้ว เนื้อหาของหนังสือก็เป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม 'นวนิยายเชิงประวัติศาสตร์' (วรรณกรรมคลาสสิคระดับโลก) จะช่วยให้มองเห็นโลกกว้างโดยไม่ต้องออกเดินทางเอง ส่วน 'วรรณกรรมผจญภัยแฟนตาซี' (หรือในอีกความหมายหนึ่งว่า วรรณกรรม Dystopia/Utopia)เปิดประตูแห่งจินตนาการสู่โลกใบอื่นผ่านตัวหนังสือ ดังคำกล่าวที่ว่า “คุณจะเป็นคนแบบเดียวกับหนังสือที่คุณอ่าน”
===============
การสร้าง 'บรรยากาศการอ่าน' ด้วยการเตรียมพื้นที่สำหรับ 'หนังสือ' ไว้มุมใดมุมหนึ่งในบ้าน สำหรับพัฒนาการของพวกเขา ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม อีกทั้งการซื้อหนังสือก็เป็นการลงทุนที่ประหยัดที่สุดอย่างหนึ่ง แต่ได้ผลลัพท์ที่คาดคำนวณไม่ได้
'หนังสือ' คำง่ายๆ ที่มีความหมายและคุณค่ามหาศาล
11 ม.ค. 2564
17 ต.ค. 2563
26 ธ.ค. 2565