Last updated: 20 พ.ย. 2563 | 2606 จำนวนผู้เข้าชม |
สำหรับมนุษย์ในยุคสมัยนี้ อาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนักในการทำความเข้าใจตัวเองและสังคมซึ่งสลับซับซ้อนและมีความหลากหลาย หลายครั้งที่เราไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดคือความจริงหรือความลวง ความชั่วหรือความดี... เส้นแบ่งของสิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นมักจะเลือนราง แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องลึกของผู้คนนั้นมักแสวงหาสิ่งที่ดี แม้บ่อยครั้ง กระบวนการที่นำไปสู่ความดีงามของแต่ละคนอาจนำพาให้ข้องแวะกับสิ่งเลวร้ายซึ่งอยู่ตรงข้ามทั้งอย่างหลีกเลี่ยงได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็อีกบ่อยครั้งมิใช่หรือ ที่อุดมคติ (อันสวยงาม) อาจเหลือเพียงซากเดนเท่านั้นเมื่อถึงปลายทาง
‘วรรณกรรมโลกสมมติ’ เป็นชุดงานวรรณกรรมแปลที่ให้ภาพของโลกในอุดมคติและโลกในขั้วตรงข้าม เป็นวรรณกรรมคัดสรรของนักคิดและนักเขียนของโลกที่เสนอมุมมองต่อการจัดระเบียบ ควบคุมสังคม รวมทั้งบทบาทและความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็น (และไม่ควรจะเป็น) ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง
ประเด็นคำถามสำคัญอย่างหนึ่งในงานชุด ‘วรรณกรรมโลกสมมติ’ ก็คือว่า ท้ายที่สุดแล้ว เรา - ในฐานะมนุษย์ จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร กฎเกณฑ์ใดบ้างที่ต้องเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง กระทั่งการ ‘มีอยู่’ ของรัฐนั้น จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ขอบเขตของ ‘เสรีภาพ’ ที่ปัจเจกบุคคลพึงมีนั้นกว้างขวางหรือคับแคบเพียงใด ฯลฯ
ทั้งนี้ งานชุด ‘วรรณกรรมโลกสมมติ’ ไม่ใช่งานวรรณกรรม ‘สำเร็จรูป’ ที่ให้คำตอบอย่างแน่ชัดแก่ผู้อ่านถึงอุดมคติที่ดีงามในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม หากทว่า งานชุด ‘วรรณกรรมโลกสมมติ’ เป็นเพียง ‘ตัวบท’ ทางวรรณกรรมที่พยายามอธิบายและแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่ดีและด้อยนานาประการในสังคม
สำหรับคำตอบที่เป็นที่สุดนั้น เรา - สำนักพิมพ์สมมติ ขอให้เป็นเสรีภาพแก่ผู้อ่านที่ต้องขบคิดหาคำตอบนั้นด้วยตัวเอง และหากตัวบททางวรรณกรรมดังกล่าวยังคงมีพลังอำนาจและมนต์เสน่ห์ เราก็ปรารถนาที่จะเห็นอำนาจและเสน่ห์ของงานวรรณกรรมนั้นสร้างแรงผลักดันให้การขบคิดหาคำตอบดังกล่าว บรรลุถึงจุดหมายปลายทาง
มากกว่านั้น เราเชื่อว่าหนังสือส่วนใหญ่ไม่ได้เรียกร้องสิ่งใดๆ จากผู้อ่าน แต่ผู้อ่านต่างหากที่เรียกร้องบางสิ่งบางอย่างจากหนังสือ แต่สำหรับหนังสือบางเล่มนั้น มันเรียกร้องให้ผู้อ่านตระหนักถึงภารกิจและหมุดหมายสำคัญบางประการแห่งชีวิต และเราเชื่อว่างานชุด ‘วรรณกรรมโลกสมมติ’ นี้อยู่ในจำพวกหลัง
ท้ายที่สุด หากความปรารถนาอันแรงกล้าถึงสิ่งที่ดีงามและความฝันในเชิงอุดมคติยังไม่พร่องจากสามัญสำนึกไปนัก เรา -ทั้งผู้อ่านและสำนักพิมพ์สมมติ ก็จำเป็นต้องทำให้ความต้องการเปลี่ยนแปลงนั้น มิได้เกิดขึ้นในโลกของตัวอักษรเพียงมิติเดียว
กล่าวถึงการจัดพิมพ์วรรณกรรมโลกสมมติ ปัจจุบัน ชุดวรรณกรรมโลกสมมติ ประกอบไปด้วยวรรณกรรมสังคม-การเมืองเล่มสำคัญระดับโลกอยู่ 8 เรื่องด้วยกัน คือ
[ ยูโทเปีย (Utopia) ]
นิยายที่เป็นต้นแบบของคำว่า utopia หรือสังคมอุดมคติที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
---
[ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ]
ที่สุดของวรรณกรรมการเมือง ว่าด้วยรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ
---
[ มองกลับ (Looking Backward) ]
โลกในอุดมคติที่ศีลธรรมและความดีงามยังคงอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและเท่าเทียม
---
[ เดอะ ไทม์ แมชชีน (The Time Machine) ]
ผลงานที่เป็นต้นกำเนิดนิยายที่เกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลา และเสียดสีการแบ่งชนชั้นของอังกฤษอย่างมีชั้นเชิง
---
[ วี (WE) ]
นิยายที่เป็นรากฐานสำคัญของ 1984 เรื่องราวที่การมีความฝันคือภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคที่เรียกว่าจินตนาการ
---
[ ดินแดนคนตาบอด (The Country of the Blind) ]
ไม่มีดินแดนแห่งไหนจะดีเลิศเท่ากับดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่อีกแล้ว ใครที่มองโลกแตกต่างจากพวกเขา คือ 'คนวิปลาส'
---
[ เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน (Erewhon) ]
เรื่องราวการผจญภัยอันเข้มข้นที่วิจารณ์เรื่องความรับผิดชอบของมนุษย์และศรัทธาที่มนุษย์มีต่อศาสนา
---
[ โลกแบน เรื่องรักหลากมิติ ]
(Flatland: A Romance of Many Dimensions)
นวนิยายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก