เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ | Hemingway ชายชาตรีอเมริกันคนสุดท้าย

Last updated: 15 มิ.ย. 2564  |  4072 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ | Hemingway ชายชาตรีอเมริกันคนสุดท้าย

บางส่วนจาก ประวัติชีวิตและผลงานของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway)

ชายชาตรีอเมริกันคนสุดท้าย โดย แดนอรัญ แสงทอง

ในเล่ม บาย - ไลน์ (By-Line) สารคดียี่สิบเก้าชิ้นแรก ปฐมบทแห่งความสำเร็จของนักเขียนโนเบลสาขาวรรณกรรม 
==========

ชีวิตของเขามันโลดโผนฉูดฉาด มีสีสันชวนฉงนสนเท่ห์ และแม้แต่ความตายของเขาก็เช่นกัน

ชีวิตของเขามันเป็นตำนาน เรื่องราวเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ นานาของเขาและงานเขียนอันหลากหลายของเขามันมักถูกกล่าวขวัญถึงและถูกสร้างเสริมเติมแต่งให้ผิดแผกไปจากความเป็นจริง ซึ่งหลายต่อหลายครั้งมันแทบจะไม่หลงเหลือเค้ามูลดั้งเดิมเอาเสียเลย เรื่องนี้โทษคนอื่นก็เห็นจะไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด ต้องโทษตัวเขาเองด้วย เขาเป็นคนดัง เรื่องส่วนตัวของเขาถูกขุดคุ้ยออกมาตีแผ่ทุกรายละเอียดทุกซอกทุกมุม

ชีวประวัติของเขามีคนเขียนกันออกมาเป็นหนังสือเล่มเท่ายักษ์เท่ามารหลายต่อหลายเล่ม ถูกเขียนเป็นนวนิยายเลยก็มี ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ก็หลายเรื่อง ชีวิตของเขามันโลดโผนฉูดฉาด มีสีสันชวนฉงนสนเท่ห์ และแม้แต่ความตายของเขาก็เช่นกัน ผู้ที่ชื่นชมบูชาเขามีอยู่มากมายมหาศาล ผู้ที่ชิงชังรังเกียจเขาก็อาจมีอยู่มากมายพอๆ กัน ภาพลักษณ์แห่งความเป็นชายชาตรีอเมริกันคนสุดท้ายของเขามันยังคงชวนให้น่าค้นหาอยู่ไม่วายแม้แต่ในขณะนี้ แม้ว่าเขาจะตายไปตั้งหลายปีดีดักแล้ว หนังสือของเขาก็ยังได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลาย อิทธิพลทางความคิดของเขาและรูปแบบในการใช้ชีวิตของเขาก็ยังคงดำรงคงอยู่อย่างเข้มข้น น่าประหลาดที่ว่าความเป็นคนมีชื่อเสียงของเขานั้นมันได้ทำร้ายเขาเอาโดยสาหัสสากรรจ์อยู่หลายยกหลายครา เขาตกอยู่ภายใต้ความกดดันของมัน และบ่อยครั้งมากที่เขาได้กลายเป็นเหยื่ออันน่าสังเวชของมันไปเสียเอง

ภาพลักษณ์แห่งความเป็นชายชาตรีอเมริกันคนสุดท้ายของเขามันยังคงชวนให้น่าค้นหาอยู่ไม่วายแม้แต่ในขณะนี้

พ่อของเขาชอบพาเขาเข้าป่าล่าสัตว์และสอนให้เขาหัดยิงปืนตั้งแต่เขาอายุยังน้อย สอนวิธีปรุงอาหารจากสัตว์ที่ล่ามาได้และสอนให้รู้จักกินอาหารเหล่านั้น เขาเป็นเด็กที่รักการอ่าน อ่านมากจนเกินพอดี เขาอาจอ่านหนังสืออยู่ได้จนดึกดื่นค่อนคืน พี่เลี้ยงของเขาต้องคอยบังคับไม่ให้เขาเอาแต่อ่านหนังสือเสียจนนอนไม่พอ การเข้าป่าล่าสัตว์ การตกปลา และการอ่านได้กลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต

ในระหว่างเป็นเด็กหนุ่มนั้นเขาแทบไม่ได้ไปไหนไกลๆ เขาเตร็ดเตร่ซุกซนอยู่แถวโอ๊กปาร์ก,อิลลินอยส์บ้านเกิดของเขาน่ะแหละเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีวี่แววอันใดเลยว่าหลังจากนั้นอีกไม่นานเขาจะต้องเดินทางไปโน่นมานี่โดยไม่หยุดหย่อน และกลายเป็นนักเขียนที่เดินทางมากและไกลยิ่งกว่านักเขียนคนใดในยุคสมัยของเขา



เฮมิงเวย์คือนักเขียนที่เดินทางมากและไกลยิ่งกว่านักเขียนคนใดในยุคสมัยของเขา

เขาทำงานทันทีหลังจากจบมัธยม พ่อแม่ของเขาอยากให้เขาเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่เขาดื้อ เขาเบื่อบ้าน เขาเป็น ‘เด็กฝาก’ ถูกฝากให้ทำงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าวฝึกหัดกับหนังสือพิมพ์ The Kansas City Star เขาต้องทำงานหาเลี้ยงชีพตนเองแม้ว่าเขาจะเพิ่งอายุได้เพียงสิบเจ็ดปี เขาต้องออกจากบ้านใช้ชีวิตแต่เพียงลำพัง เขาเป็นนักข่าวภูธร เขาไปหาข่าวที่สถานีตำรวจ สถานีรถไฟ โรงพยาบาล เขารู้จักวิธีซอกแซกหาข่าวและหาแหล่งข่าว วิธีอ่านคน วิธีอ่านสถานการณ์ เขาเริ่มต้นเรียนรู้ถึงสิ่งที่เรียกกันว่า ‘ความชั่วร้ายสารพัดอย่างที่มนุษย์ได้กระทำกันลงไป’ เขาถูกฝึกให้เรียนรู้วิธีการเขียนที่ตรงไปตรงมา กระชับ ชัดเจน นั่นเป็นบทเรียนเกี่ยวกับการเขียนบทแรกสุดของเขา

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้เขาอยู่ไม่สุข เขาสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบกแต่ถูกคัดออกเพราะตาของเขามีปัญหาอยู่ข้างหนึ่ง เขาดิ้นรนสมัครเข้าหน่วยอาสาสมัครกาชาดอเมริกันอีกจนได้ เขาถูกส่งตัวไปอิตาลีในตำแหน่งคนขับรถพยาบาล ที่นั่นเองที่เขาได้พบเห็นสงครามเข้าด้วยตาตนเองจริงๆ ได้มีส่วนร่วมกับมันจริงๆ ได้ลิ้มรสชาติของมันเข้าจริงๆ เขาสบโอกาสสำแดงวีรกรรมในแนวรบอิตาเลียน-ออสเตรียน ได้รับเหรียญกล้าหาญ เขาเดินทางกลับบ้านเกิดในฐานะวีรบุรุษสงคราม

เขาเริ่มหางานทำและได้งานที่ The Toronto Daily Star อันเป็นหนังสือพิมพ์คะเนเดียนฉบับหนึ่ง เขาเริ่มต้นเขียนข่าวและสารคดีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้กลายมาเป็นแบบฝึกหัดทางวรรณกรรมของเขา บาย-ไลน์ ยี่สิบเก้าชิ้นแรกเริ่มส่อเค้าแววแล้วว่ามันอาจถูกปรับเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็นวรรณกรรมบันลือโลกอยู่รำไรๆ ที่น่าสังเกตก็คือชิ้นแรกสุด “A Free Shave” อันชวนตะครั่นตะครอนั้นเขียนเมื่อเขาอายุเพียงยี่สิบเอ็ดปี และชิ้นสุดท้ายคือ “Conrad, Optimist and Moralist” นั้น  เขาเขียนเมื่ออายุได้เพียงยี่สิบห้าปี



เขาดิ้นรนขอให้ The Toronto Daily Star ส่งตัวเขาไปเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เขาปรึกษาหารือกับ เชอร์วูด แอนเดอร์สัน นักเขียนคนสำคัญคนหนึ่งของอเมริกาในยุคนั้นที่เขารู้จักคุ้นเคยด้วย แอนเดอร์สันเคยใช้ชีวิตอยู่ในปารีสมาก่อนและได้ให้คำแนะนำแก่เขาว่า ปารีสน่าจะเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด แอนเดอร์สันเขียนจดหมายแนะนำตัวให้เขาเป็นการเฉพาะเพื่อให้เขาได้รู้จักศิลปินพลัดถิ่นผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งขณะนั้นชมรมสิงสู่กันอยู่ในปารีสคือ ซิลเวีย บีช เจ้าของร้านหนังสือเช็คสเปียร์แอนด์คอมปานี เจมส์ จอยซ์, เกอร์ทรูด สไตน์ และ เอซรา พาวนด์

เฮมิงเวย์เคยแสดงออกหลายครั้งหลายหนทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อมว่า สักวันหนึ่งถ้าหากว่าเขาเกิดเขียนหนังสือไม่ได้ดีเท่าที่ใจของเขามุ่งหมาย เขาก็จะไปประกอบอาชีพอื่น เขาจะไม่ดื้อเขียนเป็นอันขาด แต่เขาจะยังชีพด้วยการตกปลา! นี่มิใช่การคุยเขื่อง นี่มิใช่การคิดฝันอย่างดันทุรัง หลายต่อหลายชิ้นของแบบฝึกหัดทางวรรณกรรมเหล่านี้ (สารคดีในเล่ม บาย-ไลน์) ส่อแสดงชัดแจ้งว่าเขาหมกมุ่นกับการตกปลามากเพียงใดทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเล
==========

อ่านเรื่องราวอันเข้มข้นทั้ง 39 เรื่องเพิ่มเติมได้ใน บาย - ไลน์ (By-Line)



บาย - ไลน์ (By-Line)
สารคดียี่สิบเก้าชิ้นแรก แบบฝึกหัดทางวรรณกรรมของนักเขียนหนุ่ม
วรรณกรรมในวงเล็บ ลำดับที่ 17

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) : เขียน
แดนอรัญ แสงทอง : แปลและเรียบเรียง

พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2562
ความหนา : 336 หน้า
==========

คลิกอ่าน เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ | ไม่มีภาพลวงตาในสงคราม มีเพียงธาตุแท้ของมนุษย์
==========

สนใจสั่งซื้อยกชุดราคาพิเศษ ออกแบบสุดประณีต เหมาะแก่นักอ่านตัวยง

คลิกสั่งซื้อ ชุดหนังสือ Classics - Deluxe Edition For Book Lovers วรรณกรรมสากลในฉบับภาษาไทย




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้