หนังสือแนะนำ | 'เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน' วรรณกรรมยุควิกตอเรียนเล่มสำคัญ

Last updated: 30 พ.ค. 2563  |  2951 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หนังสือแนะนำ | 'เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน' วรรณกรรมยุควิกตอเรียนเล่มสำคัญ

หากจะกล่าวถึง 'เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน' แบบย่นย่อที่สุด ไม่มีคำใดจะอธิบายเรื่องนี้ได้ชัดเจนเหมาะสมไปกว่าคำว่า 'งานแซตไทร์' (satire)

ความ 'แซตไทร์' ที่ว่านี้ อาจแปลได้ทั้งความย้อนแย้ง ตลกร้าย หรืออะไรที่ฟังดูไร้สาระแต่ในบริบทนั้นๆ ถือเป็นเรื่องจริงจังอย่างยิ่ง และแน่นอนว่ามักเกี่ยวพันอย่างช่วยไม่ได้กับนัยทางสังคมและทางการเมือง

แต่ถ้าพูดถึงในเชิงวรรณกรรม งานแบบแซตไทร์ที่ว่านี้ก็ถือเป็นงานที่แสดงทักษะทางการเล่าเรื่องของผู้เขียนได้ดีเช่นกัน และในทางตรงกันข้าม สำหรับฝั่งผู้อ่าน งานแซตไทร์ถือเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการอ่าน ไม่ใช่เพราะเนื้อหายากหรือซับซ้อน แต่เพราะเจตนาของมันคือการทำให้เราต้องหยุดคิดเป็นระยะๆ ว่าอันไหนคือ 'เรื่องจริง' อันไหนคือ 'ตลกร้าย'

และในการตีความทางวรรณกรรมอีกแบบ งานแซตไทร์นี้จะว่าเป็นงานแบบดิสโทเปีย (Dystopia) ก็ไม่ใช่ หรือบางทีอาจบอกว่าเป็นงานดิสโทเปียที่แฝงตัวอยู่ในโลกเสมือน ‘ยูโทเปีย’ (Utopia) ก็คงได้

Utopia โดยตัวรากศัพท์ภาษากรีก หมายถึง ดินแดนที่ไม่มีอยู่จริง (no place/nowhere)

เช่นเดียวกับ 'เอเรวอน' (Erewhon) ที่เมื่อสลับตัวอักษรหลังมาหน้าแล้ว จะได้คำว่า 'nowhere'

คุณคงพอเห็นภาพคร่าวๆ แล้วใช่หรือไม่?

ขอต้อนรับสู่โลกของดินแดนไร้แห่งหนใน 'เอเรวอน' ได้เลย

เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน (หรือ Over the Range) เป็นผลงานที่คงกล่าวได้ว่าเป็นแนวแฟนตาซี โดย ซามูเอล บัตเลอร์ (Samuel Butler) นักเขียนชาวอังกฤษที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 หรือที่เรารู้จักกันในนาม 'ยุควิกตอเรียน' คือสมัยที่สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียปกครองอังกฤษ



ในอีกความหมายหนึ่ง 'วิกตอเรียน' ได้ชื่อว่าเป็นยุคแห่งความเคร่งศีลธรรมและยุคแห่งมนุษยนิยมที่คนเริ่มตระหนักถึงศักยภาพของความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะหลังการเผยแพร่ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน รวมถึงการพัฒนาเครื่องจักรไอน้ำและพลังงานถ่านหินเพื่อขยายกิจการอุตสาหกรรมที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าวงจรทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนทั่วโลกในอนาคต

นี่คืออีกประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งในยุคนี้ การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์อันเฟื่องฟูซึ่งเปิดเผยความลับที่แต่ก่อนเชื่อว่ามีแค่พระเจ้าเท่านั้นที่ล่วงรู้ให้กลายเป็น 'ความรู้สามัญ' มากขึ้น

เราเริ่มรู้จักที่มาของการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต รู้ความลับของจักรวาล อวกาศ  ความลี้ลับที่แต่ก่อนเราไม่อาจอธิบายได้ ถูกนำไปจัดรวมอยู่ในกระบวนวิชาทางฟิสิกส์ และเหล่าผู้ที่ได้รับการศึกษาก็เริ่มย้อนกลับมาตั้งคำถามในประเด็นทาง 'จิตวิญญาณ' ที่แต่ก่อนพวกเขาเคยเชื่อถือ

หรือแม้แต่องค์ความรู้ด้านปรัชญาก็ได้รับการขัดเกลาให้เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากขึ้น เพื่อตอบปัญหาทางความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ มิใช่เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรืออธิบายกลไกทางสังคมเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

แต่จุดใหญ่ที่บัตเลอร์เริ่มต้นเขียน 'เอเรวอน' มาจากการที่เขาเห็น 'ความเคร่งศีลธรรมอันย้อนแย้ง' ในยุคนี้ แล้วอดไม่ได้ที่จะหยิบปากกาขึ้นมาสร้างเรื่องราวจิกกัดอันแยบยลเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิง

'ศีลธรรม' ในยุควิกตอเรียน ไม่อาจแยกออกได้โดยสิ้นเชิงกับบทบาทของคำสอนทางศาสนา (คริสต์) ที่คนในยุคนั้นต่างยึดถือ ซึ่งศีลธรรมนั้นไม่ใช่แค่กรอบการใช้ชีวิตของคนในสังคม แต่รวมถึงเกณฑ์การลงโทษและพิจารณาโทษด้วย

ดังตัวอย่างที่ในเรื่องกล่าวถึง คนป่วยจะถูกปฏิบัติราวกับอาชญากร การป่วยไข้คืออาชญากรรม บรรทัดฐานที่ปฏิเสธสามัญสำนึกในแง่ความเป็นมนุษย์อย่างที่โลกปกติคุ้นเคยนี้กำลังกล่าวโทษความเข้มงวดทางศีลธรรมของตัวยุควิกตอเรียนเองว่า สุดท้ายแล้วตรรกะที่เข้มงวดจนไร้สาระจะนำไปสู่การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม

'เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน' เริ่มต้นด้วยเรื่องของตัวละครไร้นามที่หลงทางอยู่ในหุบเขาในนิวซีแลนด์ แล้วบังเอิญหลุดเข้ามาอยู่ในดินแดนลี้ลับที่ไม่เคยได้รับการบันทึก นามว่า 'เอเรวอน' และได้เรียนรู้ว่าผู้คนในดินแดนแห่งนี้เคยมีอารยธรรมที่เจริญเมื่อหลายร้อยปีก่อน ก่อนจะตระหนักว่าสักวันเครื่องจักรอาจมีบทบาทในสังคมมากขึ้นจนถึงขั้นขึ้นมาแทนที่มนุษย์ พวกเขาจึงเชื่อว่าการกลับไปใช้เครื่องมือแบบโบราณและสั่งห้ามการมีตัวตนของเครื่องจักรคือวิธีที่ดีที่สุด โดยมีคู่มือที่เรียกว่า 'The Book of the Machines' คอยกำกับนโยบายนี้

ในหนังสือเล่มนั้นพูดถึงการก้าวกระโดดของวิวัฒนาการว่าเทคโนโลยีก็สามารถวิวัฒนาการได้เช่นเดียวกับพืชหรือสัตว์ ดังนั้นวันหนึ่งเครื่องจักรหรือเครื่องมือเครื่องใช้ก็อาจมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ก็ได้

ใครจะรับประกันได้เล่าว่าวันนั้นจะไม่มาถึง?

แน่นอนว่า หนังสือ The Book of the Machines ที่ว่าคือการล้อกับ The Origin of Specie ของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่พูดถึงทฤษฎีวิวัฒนาการดังกล่าว ทฤษฎีของดาร์วินนำมาซึ่งข้อถกเถียงที่รุนแรงมากในสังคม และท้ายที่สุดจากที่เคยเป็นหนึ่งในผู้ชื่นชมดาร์วิน บัตเลอร์ก็ปฏิเสธที่จะเชื่อทฤษฎีนั้น แม้ดาร์วินจะประกาศเรื่องนี้มาสิบกว่าปีแล้วก็ตาม

เนื้อหาใน 'เอเรวอนฯ' ส่วนหนึ่งจึงพูดถึงเรื่องนี้โดยชี้ให้เห็นถึงด้านมืดของทฤษฎีดาร์วิน และทำให้เห็นว่าสักวันสิ่งที่เรียกได้ว่ามีระดับชั้นที่ค่อนข้าง 'ต่ำ' ในวงจรวิวัฒนาการ จะก้าวเข้ามามีบทบาทแทนที่มนุษย์ (ในที่นี้ก็คือเครื่องจักร เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น)

เรื่องนี้เป็นแค่การจิกกัดเสียดสีเชิงขำขันหรือไม่?

ไม่ใช่! บัตเลอร์จริงจังกับมันมาก และแสดงความไม่เห็นด้วยกับเหล่านักวิจารณ์ที่มองงานของเขาว่าเป็นการทำให้ทฤษฎีของดาร์วินดูไร้แก่นสาร (absurdity) เพราะจุดที่ไม่อาจโต้แย้งได้คือ เขามองว่าเครื่องจักรอาจนำภัยอันตรายมาให้มากพอๆ กัน หรือมากยิ่งกว่าประโยชน์ที่เครื่องจักรเหล่านั้นมอบให้แก่มวลมนุษย์

และสุดท้ายก็เป็นมุมมองของผู้คนในยุคนั้นเองที่มองรูปร่างหน้าตาของเครื่องจักรว่าเป็นอสุรกายตัวร้ายที่สูบเอาเลือดเนื้อของคนได้อย่างไม่ปรานี (ในตอนแรกที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ด้านการรักษาความปลอดภัยของการใช้เครื่องจักร คนแขนขาขาดเพราะเครื่องจักรกันเป็นว่าเล่น) และพ่นเอาสินค้าเป็นตันๆ ออกมาแบบไร้จิตวิญญาณ มันคือความน่ากลัวของการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการเฟื่องฟูของจักรกล ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผู้คนที่กอบโกยความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านการปฏิวัติดังกล่าว ก็โหยหาช่วงเวลาเงียบสงบและพื้นที่แบบชนบทอันสวยงามที่ถูกแทนที่ด้วยโรงงาน รวมถึงกล่าวโทษว่าการพัฒนานั้นพรากเอาวัฒนธรรมอันดีงามแต่เก่าก่อนไป

'เอเรวอนฯ' บางทีก็อาจเป็นดินแดนในฝันที่งดงามเช่นนั้น เมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักรอันเป็นบ้านเกิดของเขาซึ่ง ณ ขณะนั้นขุ่นคลั่กไปด้วยพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม

แต่อย่างไรก็ตาม แม้แต่บัตเลอร์ก็ตระหนักดีว่ามันไม่ใช่ดินแดนที่มีอยู่จริง!

 

==============================

บทความเผยแพร่ครั้งแรกชื่อ เสียดสีจิกกัดศีลธรรมตามแบบฉบับ ซามูเอล บัตเลอร์ ใน "เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน" ในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless

==================


ORDER NOW

ยกชุด 8 เล่มใหม่ล่าสุด!!! จากสำนักพิมพ์สมมติ จับจองเป็นเจ้าของหนังสือสุดสวยทั้ง 8 เล่มนี้ -- ในราคาพิเศษ 




8 เล่มครบทุกชุดงาน ครบทุกอรรถรส (คลิกที่ชื่อเล่ม / ชื่อนักเขียน เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)


นี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจหนึ่ง ที่เรากล้ารับประกันถึงความคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ของผู้อ่าน


หากหนังสือทุกเล่มที่ผ่านมาของเรา พอจะนำเสนอให้เห็นถึง ความเอาจริงเอาจังต่อวิชาชีพและมาตรฐานการทำหนังสือของสำนักพิมพ์ การสนับสนุนของผู้อ่าน จะทำให้ความตั้งใจของเราไม่สูญเปล่า

สั่งซื้อยกชุดในราคาพิเศษ คลิก https://bit.ly/3alEWMu

สนพ.สมมติขอขอบคุณทุกแรงสนับสนุน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้