Last updated: 2 มิ.ย. 2563 | 3160 จำนวนผู้เข้าชม |
ความรำลึกย้อนหลัง
คำว่า "แนวทดลอง” มีความเป็นมาอย่างไร
โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
[ ภาพถ่าย โดย ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล ]
===============
ถ้าย้อนความเป็นมาของคำคำนี้ในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ ผมก็ไม่แน่ใจว่าก่อนหน้าหนังสือ "รวมเรื่องสั้นและบทร้อยกรอง 'ความเงียบ' " ที่รวมพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์หนังสือ เมื่อ พ.ศ.2515 นั้น จะเคยมีคำคำนี้เกิดขึ้นในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่หรือยัง
แต่ผมเข้าใจว่ายัง
ย้อนกลับไปก่อนปี พ.ศ.2515 เล็กน้อย เพื่อนพ้องแห่งวันวารของผมคนหนึ่งเคยให้สมญาผมว่า “สุซาร์ต” คือเขาให้ผู้ที่ได้ยินหมายคิดไปว่าผมเป็นสานุศิษย์ของ ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ แต่ในความเป็นจริงแล้วผมไม่ใช่สานุศิษย์ของซาร์ตร์ ความเป็นซ้ายจัดแบบ “เหมาอิสม์” ของซาร์ตร์ในระยะหลัง [the ends justifies the means - เป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ] ได้ทำให้ผมเอียงข้างไปทางความคิดทางปรัชญาของ อัลแบร์ กามูส์ [the means justifies the ends - วิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย] มากกว่า
น่าเสียดายที่กามูส์อายุสั้นเหมือน จิตร ภูมิศักดิ์ ดังนั้นเขาจึงไม่เห็นความเปลี่ยน “แปร” ในตัวความคิดแบบซ้ายจัดทั้งของซาร์ตร์และของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ว่ามีความ “แปร” เปลี่ยนไปอย่างไร รวมทั้งคำว่า “เพื่อชีวิต” หลังการประกาศนโยบาย 66/23 ที่ทำให้ “ทุนนิยมจักถูกทำลาย” สามารถทำได้อย่างรื่นรมย์ใน “ผับเพื่อชีวิต”
เพื่อนพ้องของผมคนนั้นได้ทำให้ใครต่อใครคิดว่า ผมเป็นนักนิยมลัทธิเอ็กซิส [Existentialism] ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1970 ก็มี ”เอ็กซิส” ทั้งส่วนที่ผมรับและไม่รับ เหมือนปัญหาทางความคิดระหว่างซาร์ตร์กับกามูส์ ดังที่ยกตัวอย่าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อหนังสือ "รวมเรื่องสั้นและบทร้อยกรอง 'ความเงียบ' " พิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี พ.ศ.2515 บางคนเคยวิจารณ์ล้อว่ามันน่าจะชื่อ “ความเงี่ยน” มากว่า (และผมก็เห็นด้วย ในความหมายที่คำว่า "ความเงี่ยน" หมายถึงคำว่า Passion และ Passionate ในภาษาอังกฤษ ) และมันกลายเป็นเหมือนของแปลกๆ ยากๆ สำหรับนักอ่านในบ้านเรา และหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนได้กลายเป็นความแปลกแยกระหว่างเพื่อนกับเพื่อนในบางเรื่อง
วิทยากร เชียงกูล เจ้าของผลงานเรื่องสั้นและบทร้อยกรอง “ฉันจึงมาหาความหมาย” ที่จัดพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์หนังสือในปี พ.ศ.2514 ได้เขียนบทวิจารณ์กล่าวสรุปไว้ทำนองว่า หนังสือ “ความเงียบ” ของผมนั้น แม้จะไม่ใช่งานแบบ “น้ำเน่า” แต่ก็เป็นแค่งานแบบ “น้ำค้าง” หาใช่งานแบบ “น้ำฝน” ที่สามารถนำมาให้ประชาชนใช้ดื่มกิน ส่วน “ฟัก ผลงาม” [นามปากกาของ วิสา คัญทัพ] ก็วิจารณ์ผมไปทำนองว่า “ความยากกับสุชาติเป็นของคู่กัน” ซึ่งผมถือเป็นคำชม
รวมทั้ง ชลธิรา กลัดอยู่ [สัตยาวัฒนา] ก็ได้วิจารณ์หนังสือวรรณมาลัยในชื่อ “ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย” ที่ผมเป็นบรรณาธิการไว้ในหน้าวิจารณ์หนังสือของ "วารสารธรรมศาสตร์" เมื่อ พ.ศ.2515 ทำนองว่า เรื่องสั้นต่างๆ ในหนังสือวรรณมาลัยที่ผมรวบรวมมานั้นถือเป็นแบบ “สุชาติสม์” คือเป็นเรื่องสั้นที่ใช้ “ซ้อมมือ ซ้อมอารมณ์ ซ้อมสมอง ซ้อมแนวการเขียนในยุคแสวงหาอันสับสน และมีน้อยเรื่องที่สื่อสารได้สำเร็จ” [อ้างใน “วารสารธรรมศาสตร์” ปีที่ 5 เล่ม 3 : กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2515]
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จู่โจมหนักมากขึ้นเห็นจะเป็นบทวิจารณ์ของ “สมาน ใจรักมิตร” ในนิตยสาร “วิทยาสาร” ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 : 8 มกราคม 2516 (ก่อนหน้าเหตุการณ์ "14 ตุลาคม 2516" ประมาณ 9 เดือน) กล่าวคือ “สมาน ใจรักมิตร” (เป็นนามปากกาของใคร จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครทราบ เข้าใจว่าคงจะมีแต่ เสถียร จันทิมาธร ที่ทำงานอยู่ในกอง บก.ของนิตยสาร "วิทยาสาร" ในช่วงนั้นเท่านั้นที่น่าจะทราบว่า “สมาน ใจรักมิตร” ผู้นี้เป็นใคร (คนที่ผมเดาไว้มากที่สุด คือ สำเริง คำพะอุ ซ้ายจัดตั้งตั้งแต่รุ่นก่อน "14 ตุลาคม 2516" แต่อาจไม่ใช่ก็ได้)
“สมาน ใจรักมิตร” ได้วิจารณ์ "เรื่องสั้นและบทร้อยกรอง 'ความเงียบ' " ของผมไว้ทำนองว่า "ยุ่งยากสับสน" โดยเขาได้หยิบยืมถ้อยคำและนัยทางการเมืองของ จิตร ภูมิศักดิ์ มาเปรียบเปรยว่าผมเป็น “ศิลปินผู้เผชิญกับโรคร้าย – โรคประจำศตวรรษ” อ่านบทวิจารณ์ชิ้นนี้แล้วก็ต้องไปค้นว่า “โรคประจำศตวรรษ” ในความหมายของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เขียนบทความเรื่องนี้โดยใช้นามปากกาว่า "สมชาย ปรีชาเจริญ" นั้นมีความเป็นมาอย่างไร
ถ้าสรุปตามแบบ “จิตรติสม์” ก็ต้องบอกว่า "โรคประจำศตวรรษ เป็นโรคที่มองไม่เห็นชัยชนะของประชาชนเนื่องจากลังเลที่จะเข้าร่วมกับประชาชน โรคประจำศตวรรษเป็นโรคเหงาๆ เศร้าๆ เบื่อๆ สมัยนั้นในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ "14 ตุลาคม 2516" วิทยากร เชียงกูล ตั้งเป็นประเด็นโดยใช้ขึ้นปกหนังสือเล่มหนึ่งของเขาว่า “เราจะไปทางไหนกัน” วิสา คัญทัพ ก็มาตอบแบบหาญกล้าโดยขึ้นชื่อในปกหนังสือเล่มหนึ่งของเขาในช่วงนั้นว่า “เราจะฝ่าข้ามไป”
40 ปีผ่านไป วิทยากรเอนไปทาง กปปส. ส่วนวิสาเอียงไปทาง นปช. ฟ้าสีทองมืดมัว ฝุ่นตลบเข้าตา ผมไม่รู้จะไปทางไหนจึงยังลังเลอยู่ที่เดิม ว่าไปก็แล้ว บางคนในยุคนี้อาจจะบอกว่าอาการแบบ “โรคสลิ่ม-เสื้อหลากสี” หรือ "โรคกระทำความหว่อง" แบบตัวละครในงานเขียนของ ฮารูกิ มูราคามิ ในปัจจุบัน ก็เป็นได้
ที่ว่านี้เป็นข้อสรุปจากการที่ “สมาน ใจรักมิตร” ได้นำเอาคำว่า “โรคประจำศตวรรษ” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ มาประเมินงานในชุด “ความเงียบ” ของผมให้กลายเป็นของสามานย์ โดยมีนัยทางการเมืองว่า การทำงานศิลปะวรรณกรรมทั้งหลายนั้นต้องเป็น “โคมไฟส่องทาง” (สมัยหนึ่งในช่วงหลังเหตุการณ์ "14 ตุลาคม 2516" ทั้ง ชลธิรา สัตยาวัฒนา และ "ไพลิน รุ้งรัตน์" ล้วนชอบประเมินแบบ "ซ้ายจัด" ในทำนองนี้)
กล่าวคือ งานวรรณกรรมนั้นเป็นแค่กระจกอย่างเดียวยังไม่พอ ยังต้องมีจิตใจ “ตายสิบเกิดแสน” คือเป็น "โคมไฟส่องทาง" ไปสู่สังคมใหม่ที่ดีกว่าด้วย ซึ่งก็แปลก แม้จะร่วมเห็นอกเห็นใจกับขบวนความคิดสังคมนิยมในแบบ "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" มาตั้งแต่ช่วงปี 2512 คือตั้งแต่เริ่มทำหน้าที่เป็น บก. "สังคมศาสตร์ปริทัศน์" แต่ผมก็ทำเรื่องในแบบ "เพื่อชีวิต" ได้แค่เลือกกรรมกรสาว ป.4 คนหนึ่งมาเป็นเมียเท่านั้น ดูเหมือนผมจะมีปัญหาทางความคิดกับพวกจัดตั้งแนว "ซ้ายจัด" ของ พคท.มาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ "14 ตุลาคม 2516" แล้ว
เพราะเวลาทำงานศิลปะวรรณกรรม ผมมักชอบคิดอะไรหลายชั้นมาตั้งแต่ช่วงเริ่มเขียนหนังสือ หรืออีกนัยหนึ่งก็คงจะคล้ายๆ กับที่ วิทยากร เชียงกูล ได้เคยเปรียบเปรยว่างานเขียนในชุด "ความเงียบ" ของผมนั้น “...อย่างมากก็เป็นได้แค่น้ำค้างเท่านั้น หาใช่น้ำฝนที่จะนำไปให้ประชาชนใช้ดื่มกินไม่” [เขาคงลืมคิดไปว่าน้ำฝนในปัจจุบันนั้น บางทีอาจจะเป็น “ฝนกรด” ก็ได้]
ตัวละครในลักษณะ Melancholy ที่เป็น “โรคประจำศตวรรษ” นั้นก็อย่างเช่น
ตัวละครในโลกวรรณกรรมของตะวันตกเหล่านี้ หรือแม้กระทั่งงานเขียนของ แมกซิม กอร์กี้ ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ชื่นชม ก็ล้วนมีตัวละครที่หมกมุ่น ลังเล ไม่ยอมตัดสินใจ เป็นจำพวก anti – hero และเป็น the loser ที่มองไม่เห็นชัยชนะของประชาชนอยู่มิใช่น้อย
งานสร้างสรรค์ศิลปะวรรณกรรมในทัศนะของผม ไม่ว่าจะเพื่ออะไร มันต้องมีชีวิตขึ้นมาให้ได้ก่อน และคำว่า "ชีวิต" นั้นมันมักจะออกมาเป็นเทาๆ ไม่ขาวจัด ดำจัด พวก “จิตรติสม์” ในยุคสมัยนั้นยกย่องวิธีการแบบสัจสังคม [Social Realism] และสัจสังคมนิยม [Socialist Realism] แม้ผมจะเคยตื่นเต้นกับวิธีมอง “ศิลปะ” แบบนี้ในระยะแรก อีกทั้งภาษาไทย 2 คำนี้ รวมทั้งคำว่า “แปลกแยก” ผมก็เป็นผู้สร้างมันขึ้น
แต่วิธีมองศิลปะเพื่อชีวิตแบบ “จิตรติสม์” นั้น ผมว่ามันค่อนข้างคับแคบ และเป็นเฉพาะฤดูกาล มีลีลาแบบสั่งสอนแบบอุดมคติ จนบางครั้งลืมมอง "ความเป็นจริง" ในชีวิต ต่อมาในขบวน "เพื่อชีวิต" ยุคนั้นก็จะเห็นชัดว่าเป็นการต่อสู้แบบคับแคบไปทาง “สั่งสอน” ไม่ผิดไปจากการอ้างเรื่อง "ศีลธรรม" ของฝ่ายขวาจารีตนิยม และปิดกั้นความคิดริเริ่มใน “สังคมเปิด” ที่เรื่องศิลปะวรรณกรรมควรต้องมีโฉมหน้าที่หลากหลาย
ดังนั้นแม้ผมจะเคลื่อนไหวอยู่ในทางเดียวกัน แต่ผมก็เหมือนมี "ปัญหาทางความคิด" (คำหลวงของฝ่ายซ้าย พคท.) ที่มองไม่เห็นฟ้าสีทอง แต่ก็ยังเชื่อในเรื่อง “อย่าว่าเราเจ้าข้าอยู่ฟ้าเดียวกัน” และผมมา “ตาสว่าง” ในทันทีก็เพราะงานวิจารณ์ "ความเงียบ" ของ “สมาน ใจรักมิตร” ที่ต้องการสั่งสอนให้ผมสุดจิตสุดใจกับแง่มุมทางการเมืองประเภท “ตายสิบเกิดแสน”
ผมไม่ใช่นักเคลื่อนไหวในแบบนักการเมือง ผู้บริสุทธิ์ตายเพียงคนเดียวก็มีปัญหาทางจริยธรรมเกิดขึ้นในใจของผมแล้ว [ใครเคยอ่านบทละครเรื่อง “ผู้บริสุทธิ์” ของ อัลแบร์ กามูส์ คงทราบดี]
คำว่า “โรคประจำศตวรรษ” ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ นำมาใช้ผ่านนามปากกา “ทีปกร” และ “สมชาย ปรีชาเจริญ” นั้น ผมเข้าใจว่าจิตรมุ่งจะใช้วิธีการนี้เพื่อบอกว่าการแสดงออกทางศิลปะวรรณกรรมนั้นควรจะต้องมุ่ง “รับใช้ประชาชน” อย่างมีชีวิต ไม่ใช่อย่างกลไก ซึ่งตรงนี้วิธีการทำงานศิลปะจึงมุ่งไป "เป้าหมาย" มากกว่า "วิธีการ" บางเรื่องผมเห็นด้วย แต่บางเรื่อง ผมไม่เห็นด้วย เพราะมัน "สั่งสอน" [didactic] จนเกินไป
คนทำงานศิลปะไม่ใช่คนทำงานสั่งสอน และคำว่า "ศิลปะ" นั้นมันควรต้อง "ปลายเปิด" และวางตัวเองอยู่ในที่ซ่อน อาการ "เทศนาในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ" บางทีมันก็ไม่ผิดแผกไปจากตรรกะประเภท “คนดี” ของ กปปส. หรือ “ไพร่ – อำมาตย์” ของ นปช. และในปัจจุบันก็ยังเห็นทุกฝ่ายใช้คำว่า “เพื่อชีวิต” หากินกันไปเรื่อยโดยไม่มีคำว่า "อุดมการณ์สังคมนิยม” หลงเหลืออยู่อีกต่อไป ดังนั้นผมจึงเริ่มมีมุมมองใหม่เกี่ยวกับคำว่า “เพื่อชีวิต” มาตั้งแต่ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว และอาจเป็นด้วย "ปัญหาทางความคิด" กับพวก "ซ้ายจัด" ใน พคท.ที่ว่ามานี้ก็ได้ ที่มีส่วนทำให้ผมก็ตัดสินใจ “ไม่เข้าป่า” ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วงหลังเหตุการณ์ "6 ตุลาคม 2519"
สำหรับคำว่า “โรคประจำศตวรรษ” ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ บัญญัติขึ้นมานั้น ว่าไปแล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ เองก็ได้อิทธิพลมาจากฝรั่งโดยแท้ คือเป็นคำที่เขาหยิบมาจากภาษาฝรั่งเศส ที่เรียกว่า mal du siecle หรือ the malady of the century ในภาษาอังกฤษ และเข้าใจว่าเรื่องนี้เราคงได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอีกในอนาคต
บัดนี้เวลาผ่านมา 47 ปีแล้ว และทหารการเมือง คสช.ก็ถือวิสาสะเข้ามา “ล้างท่อ” อีกครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งก็ไม่ทราบว่า “สมาน ใจรักมิตร” และเพื่อนพ้องในอดีตของผมได้ “แปร” หรือ “เปลี่ยน” ไปอยู่ทางฝั่ง กปปส. หรือทางฝั่ง นปช. และที่ "รำลึกย้อนหลัง" มาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ผมไม่ได้ชื่นชมกับคำว่า “สุซาร์ต” ที่ผ่านมาเท่าใดนัก และขณะเดียวกันก็กังขามาตลอดกับวิธีการมอง “ศิลปะ” แบบสั่งสอนจากหนังสือเรื่อง "ศิลปะเพื่อชีวิต" ของ จิตร ภูมิศักดิ์
เรื่องนี้เราแลกเปลี่ยน “ความเห็นต่าง” กันต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ผมพอใจกับคำว่า “เชิงทดลอง” ที่ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ของสำนักพิมพ์หนังสือ ที่ กมล กมลตระกูล เป็นผู้เขียน มุมมองของเขาแม้จะเอียงไปทางหนังสือ “ศิลปเพื่อชีวิต” ของ “ทีปกร” และ “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของ วิทยากร เชียงกูล แต่จากการรู้จักกันครั้งแรก ผมก็คิดว่าเขาคงจะ “ใจกว้าง” พอ ดังนั้น ผมจึงยินดีให้เขานำเอางานเขียนทั้งบทร้อยกรอง เรื่องสั้น และบทละคร ที่มีชื่อชุดว่า “ความเงียบ” ไปรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อปี 2515 และเขาได้นำความเห็นที่ผมคุยกับเขาในคำว่า "เชิงทดลอง" ไปเขียนไว้ในแถลงการณ์สำนักพิมพ์ โดยมีใจความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงผมว่า
“...เขาทดลองใช้เทคนิคใหม่ๆ...” และได้กล่าวสรุปว่า “...งานเขียนของเขาเป็นงานในเชิงทดลอง [Experimental]”
ซึ่งตรงนี้กระมังที่คำว่า “เชิงทดลอง” ในความหมายที่ผมใช้ต่อมาว่า “แนวทดลอง” ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ และผมได้นำกลับมาใช้อีกครั้งในการเขียนบทกล่าวนำของหนังสือรวมเรื่องสั้น “ช่อปาริชาต-ฝนหยดเดียว” เมื่อปี 2535
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี -
==============================
เชิญเลือกซื้อหนังสือในราคาพิเศษ
ลดราคาทุกปก SALE Online Bookfair เรายกงานหนังสือมาบนหน้า Website ที่นี่ คลิกชมทันทีได้ที่ http://bit.ly/2wXrkJr
สนใจหนังสือเป็น SET ครบชุด ไม่ต้องการเลือกให้วุ่นวาย เราจัดมาให้แล้วในราคาพิเศษ คลิก SPECIAL SET
==========
ORDER NOW
ยกชุด 8 เล่มใหม่ล่าสุด!!! จากสำนักพิมพ์สมมติ จับจองเป็นเจ้าของหนังสือสุดสวยทั้ง 8 เล่มนี้ -- ในราคาพิเศษ
8 เล่มครบทุกชุดงาน ครบทุกอรรถรส (คลิกที่ชื่อเล่ม / ชื่อนักเขียน เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
สั่งซื้อยกชุดในราคาพิเศษ คลิก https://bit.ly/3alEWMu
17 ต.ค. 2563
11 ม.ค. 2564
26 ธ.ค. 2565