Last updated: 21 ก.ค. 2564 | 3690 จำนวนผู้เข้าชม |
น่าสังเกตว่าในหนังสือ เจ้าชายน้อย ผลงานของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) มีสัญลักษณ์เพศชายอยู่เต็มไปหมด
งูเหลือม งูพิษ ดินสอสี ปากกา เนกไท เครื่องบิน การบิน/การเหินเวหา ดาบ ต้นไทร ค้อน กระป๋องรดน้ำต้นไม้ ภูเขาไฟ เสื้อคลุมพระราชา บุหรี่ เสาไฟ ปืน ปืนพก รถไฟ ฯลฯ
ผู้อ่าน คนนอก ต้องระลึกอยู่เสมอว่าเมอโซเป็นผู้เล่าเรื่องฉันใด ผู้อ่าน เจ้าชายน้อย ก็ต้องระลึกอยู่เสมอว่า นักบินคือผู้เล่าเรื่องฉันนั้น และสิ่งที่คนเราแสดงออก พูด หรือเล่าเป็นเรื่อง ย่อมเผยความคิด ความปรารถนาจินตนาการเพ้อฝัน และความหมกมุ่นไม่มากก็น้อย
น่าคิดว่า นักบินของเราอาจหมกมุ่นอยู่กับความเป็นชาย
เด็กชายเมื่อตอนอายุหกขวบ อาจเที่ยวเล่นดินหินทรายอะไรไปตามเรื่อง แต่นั่นหาใช่ความสนใจของนักบินผู้นี้ไม่ นักบินของเราในวัยเด็กหลงใหลคลั่งไคล้ไปกับ ‘รูปภาพมหัศจรรย์ใจรูปหนึ่ง’ รูปนั้นเป็นรูปงูเหลือม
เมื่อเห็น ‘งู’ แล้วก็ติดอกติดใจ อยากอวด ‘งู’ ของตนบ้าง จึงลงมือหัดวาดภาพด้วยดินสอสีจนสำเร็จ ภูมิอกภูมิใจเรียก ‘งู’ ของตนเองว่า ‘ผลงานชิ้นเยี่ยม’ จากนั้นเด็กชายเริ่มย้ำคิดย้ำทำในการเที่ยวอวด ‘งู’ ให้ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างเชยชม อวดไม่อวดเปล่า เพราะหลงคิดว่า ‘งู’ ของตน ‘น่ากลัว’ เสียด้วย: “ฉันอวดผลงานชิ้นเยี่ยมนี้แก่พวกผู้ใหญ่ และถามเขาว่ารูปของฉันทำให้เขากลัวไหม”
แน่ละ ลงว่าจะอวดแล้ว ความอยากอวดนั้นย่อมมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่าตน ‘มีดี’ ให้ดู
แต่เคราะห์ร้ายที่ ‘งู’ ของเด็กชายนักบินมิได้ ‘ยิ่งใหญ่’ อย่างที่ตัวนึก เพราะเมื่ออวดให้ผู้ใหญ่คนใดดูแล้วก็ไม่มีใครเลยจะ ‘มองเห็น’ หรือไม่ก็เห็นเป็นอื่น: “พวกเขาตอบว่า ‘ทำไมหมวกจะทำให้คนกลัวเล่า?’ ”
...
ถ้าอ่าน เจ้าชายน้อย ควบคู่กับจิตวิเคราะห์ น่าคิดว่าความขมขื่นของนักบินผู้เล่าเรื่องนั้นสะท้อนภาพเด็กชายที่อยู่ในวัย phallic stage อันเป็นช่วงที่เด็กชายกำลัง ‘เห่อ’ หลงใหลคลั่งไคล้องคชาตของตน ชอบที่จะเล่น ลูบคลำ และที่สำคัญคืออวดองคชาตนั้นต่อผู้ใหญ่รอบตัว อย่างไรก็ดี ในวัยเดียวกันเด็กชายนักเล่นองคชาตต้องประสบกับผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองที่ไม่เพียงแต่ไม่ปลื้มกับ ‘ผลงานชิ้นเยี่ยม’ ของเขา หากยังคอยแต่วิจารณ์ ตำหนิติเตียน ต่อว่า และห้ามปรามพฤติกรรมความหมกมุ่นในองคชาตของเด็กชาย
ทั้งนี้ผู้ใหญ่จะนำมาตรการการลงโทษสารพัดมาข่มขู่คุกคามเพื่อให้เด็กละความสนใจใน ‘ของสกปรก’ นั้นเสีย ตั้งแต่ตีมือ หักมือ จนถึงขู่ว่าจะตัดทิ้งไปเสีย และเมื่อเด็กต้องเผชิญกับ ‘ปมตอน’ (castration complex) เช่นนั้น ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากละทิ้งความสนใจองคชาตแล้วหันมาทดเทิด (sublimate) ความสนใจนั้นด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจทางเพศไปสู่ความสนใจเรื่องอื่น ที่สังคมยอมรับแทน ตัวอย่างเช่นการเรียนหนังสือภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ
พิริยะดิศ มานิตย์
..,
บางส่วนจากบท ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ว่าด้วย 'งู' ของเจ้าชายน้อย
...
อ่านกันแบบเต็มๆ สั่งซื้อคลิก เรื่องใต้บรรทัด : ว่าด้วยการตีความศิลปะและวรรณกรรมฝรั่งเศสผ่านแนวคิดจิตวิเคราะห์
คลิกสั่งซื้อ Set วรรณกรรมวิจารณ์ ราคาสุดพิเศษ + กระเป๋าผ้า
============
17 ต.ค. 2563
26 ธ.ค. 2565
11 ม.ค. 2564