Last updated: 28 เม.ย 2564 | 4987 จำนวนผู้เข้าชม |
ผู้ที่คุ้นเคยกับนิทานของ ชาร์ลส์ แปร์โรต์ (Charles Perrault) คงสังเกตเห็นว่า นิทานหลายเรื่องกล่าวถึงปัญหาหนึ่งอยู่เสมอ นั่นคือพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน บ่อยครั้งตัวละครลูกคนเล็กได้รับความรักน้อยที่สุด หรือมิฉะนั้นก็เป็นที่รังเกียจในสายตาพ่อแม่รวมไปถึงพี่น้อง ตัวอย่างชัดที่สุดคือ ซินเดอเรลลา (Cendrillon) ผู้ถูกแม่เลี้ยงและพี่สาวต่างมารดากลั่นแกล้งสารพัด กรณีนิทาน “แมวใส่บู๊ต” ก็เช่นกัน ผู้เป็นพ่อแบ่งมรดกให้ลูกชายทั้งสามราวกับเลือกที่รักมักที่ชัง สิ่งที่ลูกคนเล็กได้ไปนั้นแทบหาค่ามิได้เมื่อเทียบกับพี่ชายทั้งสอง
ในเชิงสัญลักษณ์ การจัดสรรมรดกของพ่อกระทบต่อความเป็นชายของลูกคนเล็กอย่างลึกซึ้ง ‘โรงสี’ และ ‘ลา’ ที่พี่คนโตและพี่คนรองได้ไปตามลำดับนั้น เชื่อมโยงกับการทำงานที่ต้องใช้แรงงาน อันเป็นงานที่โดยทั่วไปแล้วเป็นของบุรุษเพศ ตัวละครพ่อมิได้มอบ ‘ความเป็นชาย’ ให้แก่ลูกคนเล็กอย่างที่มอบให้ลูกชายอีกสองคน แต่พ่อกลับให้ ‘แมว’ ซึ่งนักวิจารณ์บางคนตีความว่าเป็นสัญลักษณ์เพศหญิง (Soriano 1968 : 432) คำว่า ‘แมว’ ในภาษาอังกฤษมีคำหนึ่งคือ ‘pussy’ เมื่อใช้เป็นคำแสลง หมายถึงอวัยวะเพศหญิง ส่วนในภาษาฝรั่งเศส ‘แมว’ ตรงกับคำว่า ‘chat’ เป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า ‘chas’ แปลว่ารูเข็ม ในทางจิตวิเคราะห์วัตถุใดลักษณะเป็นรู เป็นช่องที่วัตถุอื่นสอดใส่ได้ พึงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งสตรีเพศ นอกจากนี้ คำว่า ‘chat’ ยังชวนให้นึกถึงคำกริยา ‘châtrer’ แปลว่า ตัดอวัยวะเพศ กล่าวสั้นๆ คือ ‘ตอน’
รวมความแล้ว ตัวละครพ่อมิได้มอบความเป็นชายให้แก่ลูกคนเล็ก แต่กลับ ‘ตอน’ หรือทำให้หมดความเป็นชายด้วยการมอบสิ่งที่ถือว่าเป็นความเป็นหญิงให้ และความผิดหวังของลูกคนเล็กก็อาจตีความได้ว่าเป็นความรู้สึกรันทดของบุรุษที่มิอาจครอบครองความเป็นชาย
ฝ่ายตัวละครแมว เมื่อเห็นผู้เป็นนายน้อยใจในโชคชะตาก็เสนอตัวช่วยเหลือ
“อย่าเป็นทุกข์ไปเลย นายข้า ท่านเพียงนำถุงมาให้ข้าใบหนึ่ง และสั่งตัดรองเท้าบู๊ตสำหรับเดินลุยกอหนามคู่หนึ่ง แล้วท่านจะเห็นว่าส่วนแบ่งมรดกของท่านนั้นไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ท่านนึกเลย”
แมวขอรองเท้าบู๊ตเพื่อเดินลุยกอหนามไปดักจับกระต่าย และจะนำกระต่ายไปถวายพระราชา ทั้งนี้เป็นแผนของแมวเจ้าเล่ห์ที่หมายให้พระราชาพออกพอใจนายมัน
เมื่อได้สิ่งที่ขอ แมวใส่รองเท้าบู๊ตของมันอย่างสง่างาม ขาหน้าทั้งสองถือเชือกถุงที่เอาพาดคอไว้ แล้วเข้าไปในป่าที่ซึ่งมีกระต่ายอยู่มากมาย แมวใส่เหยื่อล่อในถุง ลงนอน แสร้งทำเป็นตาย เพื่อรอกระต่ายที่ยังอ่อนต่อโลกเข้ามากินเหยื่อที่วางไว้ ไม่ทันไร มันก็สบโอกาส เพราะกระต่ายตัวหนึ่งเดินเข้ามาในถุง มันรีบจัดการดึงเชือก ตะครุบเหยื่อ และสังหารอย่างไร้ความปรานี
ด้วยความพอใจในเหยื่อ แมวไปพบพระราชาและขอเข้าเฝ้า มีผู้พามันไปยังห้องพระราชา เมื่อเข้าห้องไปแล้ว มันแสดงความคารวะต่อพระราชา และกล่าวว่า
“ขอเดชะ นี่คือกระต่ายป่า ซึ่งท่านมาร์กี เดอ การาบา (เป็นชื่อที่แมวเสกสรรปั้นแต่งให้นายของมัน) ใช้ข้าให้นำมาถวาย”
“จงไปบอกนายของเจ้า” พระราชาตอบ “ว่าข้าขอบใจ และเขาทำให้ข้าพอใจ”
อีกครั้งหนึ่ง แมวซ่อนตัวในทุ่งหญ้าสาลีแห่งหนึ่ง เปิดถุงตามเดิม เมื่อนกกระทาสองตัวเดินเข้ามาในถุง มันดึงเชือก แล้วตะครุบเหยื่อไว้ทั้งสองตัว จากนั้นนำไปถวายพระราชาอย่างเดียวกับที่เคยไปถวายกระต่ายป่า พระราชารับนกกระทาสองตัวด้วยความยินดียิ่ง พระองค์ตอบแทนแมวด้วยของขวัญเล็กๆ น้อยๆ แมวยังคงนำของไปถวายพระราชาเช่นนี้อีก บางครั้งบางคราวตลอดเวลาสองถึงสามเดือน
ดาวิด รุฟเฟล (David Ruffel) ถือว่า แท้จริงแล้วตัวละครแมวเป็นตัวแทนความรู้สึกนึกคิดและจิตใจด้านมืดของตัวละครลูกชายคนเล็ก (Ruffel 2006 : 87) ถ้ายอมรับการตีความนี้ ความต้องการของแมวก็เท่ากับความต้องการของลูกคนเล็ก ฉะนั้นควรพิจารณาต่อไปว่า การที่แมวร้องขอรองเท้าบู๊ตสื่อถึงความปรารถนาประการใดของตัวละครลูกคนเล็ก
ที่จริงแล้ว ‘รองเท้าบู๊ต’ อาจตีความได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ขององคชาต อันที่จริง ‘รองเท้าบู๊ต’ นั้นนอกจากจะปรากฏในนิทาน “แมวใส่บู๊ต” แล้ว ยังพบในนิทานอีกเรื่องของแปร์โรต์คือ “เจ้าตัวเล็ก” (Le Petit poucet) ในนิทานดังกล่าว แปร์โรต์ระบุว่า ‘รองเท้าบู๊ต’ มีอำนาจวิเศษ ปรับขนาด ยืดหด เปลี่ยนไปตามขนาดเท้าผู้สวมใส่ได้ ข้อมูลนี้ดูเผินๆ เหมือนเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นไปตามขนบนิทานซึ่งมักสอดแทรกองค์ประกอบเหนือจริง
พิริยะดิศ มานิตย์
..,
บางส่วนจากบท การแสวงหาความเป็นชายในนิทานเรื่อง "แมวใส่บู๊ต"
...
อ่านกันแบบเต็มๆ สั่งซื้อคลิก เรื่องใต้บรรทัด : ว่าด้วยการตีความศิลปะและวรรณกรรมฝรั่งเศสผ่านแนวคิดจิตวิเคราะห์
คลิกสั่งซื้อ ชุดหนังสือ 5 เล่มใหม่รอบเมษา 2564 ในราคาพิเศษ
============