Last updated: 7 ก.ค. 2564 | 2077 จำนวนผู้เข้าชม |
นอกจากมีเรื่องให้ต้องเจ็บกาย ก็องดิดด์ยังมีเรื่องให้ต้องเจ็บใจด้วย เหตุนั้นล้วนเป็นเรื่องเงินทองทั้งสิ้น
เขาถูกเจ้าของเรือคนหนึ่งโกงค่าเรือ เมื่อนำความไปแจ้งผู้พิพากษา กลับถูกขูดรีดค่าธรรมเนียมอีก (บทที่ 19) ยามล้มป่วยก็ถูกทั้งหมอและพระรุมสูบเลือดสูบเนื้อ เมื่อหายดีแล้ว ก็ถูกโกงไพ่ ถูกนักบวชและสาวสังคมหลอกตบทรัพย์ไปเป็นจำนวนมาก ซ้ำต้องถูกตำรวจขู่เข็ญรีดไถ (บทที่ 22)
หากเชื่อว่าการหาเรื่องเจ็บก้นซ้ำซากอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางจิตวิทยา การที่ก็องดิดด์หาเหตุให้ตนต้องถูกขูดรีดทรัพย์หลายครั้งก็น่าจะอธิบายได้ในแนวทางเดียวกัน
อันที่จริง ในทัศนะของฟรอยด์ พฤติกรรมการใช้เงินเกี่ยวพันล้ำลึกกับการมีความสุขที่บริเวณทวารหนัก คำอธิบายของฟรอยด์สรุปได้โดยสังเขปดังนี้ (Freud 1973 : 143-148)
เด็กวัยหนึ่งถึงสามขวบเป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้วินัยและสุขลักษณะในการขับถ่าย ทว่าความรู้สึกซึ่งเกิดบริเวณทวารหนักขณะที่เด็กขับถ่ายหรืออั้นอุจจาระนั้นเป็นความสุขทางเพศสำหรับเด็ก เด็กบางคนจึงชอบอั้นอุจจาระ บางคนก็ชอบช่วงเวลาที่ผู้ปกครองจับนั่งกระโถนเพื่อจะได้ขับถ่ายตามใจปรารถนา เมื่อเด็กเติบใหญ่พ้นวัยจะหมกมุ่นกับอุจจาระของตน ก็เก็บกดความพึงใจที่มีต่อสิ่งปฏิกูลนั้น แล้วถ่ายโอนไปสู่เงิน นักจิตวิเคราะห์ไม่เพียงแต่ฟรอยด์ เชื่อว่า ผู้ใหญ่ที่มีนิสัยตระหนี่ถี่เหนียว หรือ ‘ขี้เหนียว’ ก็คือบุคคลที่ในวัยเด็กหวงแหนอุจจาระของตนมาก เมื่อใดที่ผู้ปกครองบังคับให้ขับถ่ายก็จะชอบอั้นอุจจาระให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ (Freud 1973 : 146-147 ; Storr 2001 : 32)
ส่วนบุคคลที่ในวัยเด็กได้เรียนรู้ว่าทุกครั้งที่ผู้ปกครองจับนั่งกระโถน แล้วตนขับถ่ายตามที่ผู้ปกครองต้องการ ทำให้ได้รับความรักและการยอมรับ บุคคลนั้นจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกไม่มั่นคง ต้องการความรักและการยอมรับ ก็จะสนองอารมณ์ความต้องการเหล่านั้นด้วยพฤติกรรมใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย จับจ่ายใช้สอยไม่บันยะบันยัง (Godberg and Lewis 1978 : 50)
ฟรอยด์ (Freud 1973 : 146-147) อธิบายไว้น่าสนใจว่า แท้จริงแล้วหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามนุษย์เชื่อมโยงอุจจาระเข้ากับเงินนั้นมีอยู่มากมาย พบได้ทั่วไปทั้งในอารยธรรมโบราณ ตำนานปรัมปรา นิทาน ความเชื่อถือโชคลาง ความฝัน ตลอดจนวิธีคิดของผู้ที่ป่วยเป็นโรคประสาท และในสำนวนภาษาต่างๆ ฟรอยด์ยกตัวอย่างตำนานหนึ่ง ตามตำนานนั้นปีศาจซาตานมอบทองคำแก่สาวกของมัน แต่เมื่อซาตานจากไป ทองกลับแปรสภาพเป็นสิ่งปฏิกูล นอกจากนี้ ฟรอยด์ยกตัวอย่างจากความเชื่อถือโชคลางที่โยงการค้นพบสมบัติกับการขับถ่ายอุจจาระ ความเชื่อของชาวบาบิโลนโบราณที่ถือว่าทองคือสิ่งที่นรกขับถ่ายออกมา ตลอดจนถ้อยคำอย่าง ‘shitter of ducats [Dukatenscheisser]’
ความเชื่อมโยงระหว่างอุจจาระและเงินปรากฏใน ก็องดิดด์ เช่นกัน
ในเหตุการณ์ตอนหนึ่ง ก็องดิดด์และกะกอมโบบังเอิญได้เข้าไปในดินแดนอาณาจักรเอลโดราโดอันมั่งคั่ง (บทที่ 17 และ 18) อาคันตุกะทั้งสองต้องตะลึงเมื่อเห็นว่าถนนหนทางของอาณาจักรแห่งนี้เต็มไปด้วยแก้วแหวนเงินทองมากมายขนาดกลายเป็นของเล่นเด็ก
ทั้งสอง [ก็องดิดด์และกะกอมโบ] ขึ้นฝั่งที่หมู่บ้านแรก เด็กๆ แต่งกายด้วยผ้าปักดิ้นทองขาดรุ่ยร่าย กำลังเล่นโยนเบี้ยอยู่ตรงทางเข้าหมู่บ้าน ชายจากโลกอื่นทั้งสองหยุดดูเด็กเล่นด้วยความเพลิดเพลิน เบี้ยนั้นมีลักษณะกลมเรียบขนาดใหญ่ สีเหลือง สีแดง และสีเขียว เป็นประกายประหลาด นักเดินทางทั้งคู่อยากเก็บมาเป็นสมบัติของตน เพราะนั่นคือทองคำ ทับทิม และมรกต เบี้ยอันเล็กที่สุดก็ยังใหญ่กว่าเพชรที่ประดับบัลลังก์มหาราชาแห่งอินเดีย (บทที่ 17)
แต่สิ่งที่ก็องดิดด์และผู้ติดตามเห็นเป็นทรัพย์ศฤงคาร แท้จริงเป็นเพียงก้อนกรวด ก้อนดินของชาวเมือง มิได้มีค่าอะไรมากไปกว่านั้น เมื่อก็องดิดด์ใช้ ‘เบี้ยทองคำ’ จ่ายเป็นค่าอาหารแก่เจ้าของที่พักแรมแห่งหนึ่ง เจ้าของที่พักผู้นั้นเห็นขันและกล่าวว่า “โปรดให้อภัยแก่เราด้วยที่ได้หัวเราะเมื่อเห็นท่านเอาก้อนกรวดตามทางเดินจ่ายค่าอาหาร” (บทที่ 18)
พิริยะดิศ มานิตย์
..,
บางส่วนจากบท ก็องดิดด์ และรักร่วมเพศแบบแฝงเร้น
...
อ่านกันแบบเต็มๆ สั่งซื้อคลิก เรื่องใต้บรรทัด : ว่าด้วยการตีความศิลปะและวรรณกรรมฝรั่งเศสผ่านแนวคิดจิตวิเคราะห์
คลิกสั่งซื้อ Set วรรณกรรมวิจารณ์ ราคาสุดพิเศษ + กระเป๋าผ้า
============