Last updated: 29 ก.ค. 2564 | 4454 จำนวนผู้เข้าชม |
แนวของวารสาร อ่าน ที่ออกมาในช่วง พ.ศ.2553-2560 ซึ่งมีบทความของผู้เขียนลงตีพิมพ์นั้น ไม่ว่าบรรณาธิการตั้งธงอย่างจงใจจะจับวางวรรณกรรมเป็นดวงตะวันอยู่กลางวง โดยมีดาวใหญ่น้อยโคจรอยู่รอบๆ หรือเป็นไปตามบรรยากาศการเมือง อีกทั้งงานศิลปะวรรณกรรม หลายต่อหลายข้อเขียนก็กระเดียดอยู่ในทิศทางดังว่า
...
ข้อเขียนในวารสาร อ่าน โดยรวม และในหนังสือเล่มนี้โดยส่วนหนึ่ง คงพอถือได้ว่า เป็นบันทึกส่วนเสี้ยวของความคิดความรู้สึกทางสังคมการเมืองในช่วงนั้น กระนั้นย่อมไม่ได้หมายความว่า งานวรรณกรรมเป็นคันฉ่องส่องสภาพสังคม การเมือง จริงอยู่ที่บางบทในหนังสือเล่มนี้ตอบโต้ต่อเหตุการณ์การเมืองโดยตรง แต่บทอื่นก็เป็นต่างเรื่องจากแดนไกล ทั้งมิได้เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เฉพาะอย่างเจาะจงในกาลเทศะใด
...
การได้วิสาสะกันถึงวรรณกรรมของนักเขียนที่ชวนให้น่าชมชอบ เราก็อาจจะมาใช้ภาษาใจเดียวกัน ไม่ใช่เพราะเราเป็นคนชาติเดียวกัน (ในนามของความเป็นไทย ทหารไทยฆ่าคนไทยมากกว่าคนชาติอื่นๆ) แต่เพราะความเป็นมนุษยชาติร่วมกัน กระแสความคิดที่เห็นว่า การศึกษาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศนั้น วรรณคดีศึกษาถูกผลักตกไปเป็นวิชาชายขอบ ปัญหาข้างต้นใหญ่โตเกินกำลังผู้เขียนจะร่วมโต้แย้งได้อย่างเป็นแก่นสาร อีกทั้งยังหวั่นเกรงจะตอบคำถามถึงคุณค่าวรรณกรรมที่ตั้งไว้ในย่อหน้าแรก อันสมควรให้เป็นภาระของเอตทัคคะ แต่เมื่อเนื้อที่หน้าคำนำอนุญาตให้ ผู้เขียนได้ ‘อภิสิทธิ์’ (คำที่ทำให้ใจประหวัดถึงฆาตกรรมย่อมเป็นอัปมงคล) จึงขอเสี่ยงทำใจลองคิดสุ่มคำตอบ อย่างน้อยก็ถือเสียว่าเป็นคำปรารภ หรืออย่างมากก็เป็นความคิดคำนึงจาก ‘ครูพักลักจำ’
แม้จะมีคำสอนของศาสดา ทฤษฎีราชาปราชญ์ (จนถึงผู้ฉลาดเหนือมนุษย์) พยายามเสนอโอสถวิเศษสำหรับมนุษยชาติ แต่คำให้การของประวัติศาสตร์ก็แจ้งอยู่แล้วว่า ความปรารถนาให้มนุษย์เอื้ออาทรกันนั้นผลสำเร็จอยู่ในระดับใด จึงคงไม่มีใครละเมอไปว่า วรรณกรรมจะอวดอ้างสรรพคุณสูงส่งอะไรได้ ครั้นเมื่อผู้เขียนได้มารำลึกถึงข้อคิดเก็บตก คือ ‘Habit of Mind’ อันเป็นคำฝากจากครูที่ให้นักเรียนในวิชาสัมมนาหนึ่งพึงสังวรอยู่เนืองๆ ก็ชวนให้คล้อยไปว่าสามารถสมพงศ์กับการศึกษาวรรณกรรม ซึ่งเอื้อให้เราออกจากกรอบที่เป็นกรงของความสิ้นสงสัยในการมองโลก มองชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการมองตัวเอง มองการเมือง มองเพื่อนมนุษย์ ฯลฯ เพื่อพ้นไปจากความคุ้นชินที่ให้ความหมายและคำตอบอันจำเจจนเป็น ‘อุปนิสัยของความคิดจิตใจ’
งานเขียนเล่มนี้เป็นความพยายามเสนอในแนวเปิดวรรณกรรมมาอ่านชีวิต รวมถึงชวนคิดเรื่องการเมือง ด้วยความเชื่อว่า คุณค่าของเรื่องราวมนุษย์ที่พรรณนาในรูปวรรณกรรมซึ่งมาจากประสบการณ์ และจินตนาการที่นอกเหนือไปจากที่เราแต่ละคนมีอยู่อย่างจำกัด คงช่วยให้เรามองสรรพสิ่งจากมิติต่างๆ ตั้งแต่ความพร้อมเพื่อให้พ้นจากความยึดถือในคตินิยม และรูปนามใดๆ ไปจนถึงการไม่ลดทอนความยุ่งยากของโลกและชีวิตมาเป็นเพียงโวหารจากแม่พิมพ์ความคิด
อีกทั้งยังเชื่อว่า ยิ่ง ‘Habit of Mind’ ละลายลงได้มาก ก็ยิ่งจะเป็นเงื่อนไขที่เสริมสร้าง ‘Health of Mind’ ให้แข็งแรงขึ้น แม้ความหมายของทั้งสองวลีนี้จะจับต้องยาก อย่าแม้นว่าจะจับมาวางเข้าสมการเป็นสาเหตุและผลลัพธ์ต่อกันเลย แต่ถ้าไม่ถึงกับเป็นคำเฝือๆ ที่ผู้คนในวงการตระหนักกันมานานแล้ว (?) สำหรับผู้เขียนก็ขอรำพึงว่า ฤๅคำทรัพย์คู่นี้คือคุณของวรรณกรรมที่เป็นมรดกสืบทอดและเทิดค่าต่อกันมา
..,
บางส่วนคำนำผู้เขียน | ไชยันต์ รัชชกูล
...
อ่านกันแบบเต็มๆ สั่งซื้อคลิก น้ำตาเหือด แล้วเลือดตก : สาธกการเมืองไทยในวรรณกรรมโลก
โดย ไชยันต์ รัชชกูล
คลิกสั่งซื้อยก Set ราคาพิเศษ
1. Set วรรณกรรมวิจารณ์ ราคาสุดพิเศษ + กระเป๋าผ้า
2. Set 3 เล่ม ไชยันต์ รัชชกูล
3. Set 4 เล่มหนาตาสว่าง
============
17 ต.ค. 2563
11 ม.ค. 2564
26 ธ.ค. 2565