Last updated: 23 เม.ย 2565 | 2182 จำนวนผู้เข้าชม |
แดแกร์ (Louise J. Daguerre) ผู้เป็นศิษย์ของ ฌอง ปรีโวส (Jean Prevost) ที่ได้ประดิษฐ์ห้องโถงแบบโรงละครแสดงภาพทิวทัศน์ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า พาโนรามา แดแกร์ได้พัฒนาและประดิษฐ์ไดโอรามาหรืออันตรภาพ (diorama) ที่ยกและถอนรากผู้ชมจากโลกของความเป็นจริง แสดงภาพหลอนของเวลาด้วยแสงเงาประดิษฐ์ จนกระทั่งโรงมหรสพไดโอรามาเสื่อมความนิยมและถูกไฟไหม้ ต่อมาแดแกร์จึงหันมาประดิษฐ์วิธีเก็บทิวทัศน์ธรรมชาติด้วยสารเคมีและแสงเงาจนภรรยาเขาถึงกับร้องขอแพทย์ให้ทดสอบจิตว่าแดแกร์เสียสติไปหรือเปล่า วิธีการคว้าจับธรรมชาติของแดแกร์กลายมาเป็นวิธีการถ่ายภาพยุคแรกที่มีภาพเนกาทีฟและไม่สามารถพิมพ์ภาพซ้ำได้ จึงเรียกวิธีที่เขาค้นพบเพื่อเป็นเกียรติแก่แดแกร์ว่า Daguerreotype เป็นหลักฐาน ซึ่งงานของเขาครอบงำวงการถ่ายภาพถึงกว่าทศวรรษ
ไดโอรามา หรือ ‘อันตรภาพ’ ในความหมายเดิม เป็นโรงมหรสพที่สร้างขึ้นเพื่อความเพลิดเพลินทางสายตาในยุคที่มนุษย์เริ่มแสวงหาความสุขสนุกสนานเพลิดเพลินจากการมอง และเป็นยุคแรกเริ่มของวัฒนธรรมทัศนา สิ่งประดิษฐ์ร่วมยุคได้แก่พาโนรามากับ โคมมหัศจรรย์ (phantasmagorie) เป็นต้น
แดแกร์ประดิษฐ์ไดโอรามาราว ค.ศ.1821 โดยในตอนเริ่มแรกมีลักษณะคล้ายกับพาโนรามาในแง่ที่เป็นโรงมหรสพ แต่ถูกพัฒนาให้มีลักษณะต่างไป โดยเฉพาะการยกพื้นที่ให้บริเวณผู้รับชมสามารถเคลื่อนตัว หรือหมุนได้ มีการวาดภาพลงผืนลินินที่บางใส และใช้แสงเงาประกอบร่วมเพื่อสร้างความรู้สึกสว่างมืดผ่านกลไกที่บังคับแสงให้ผ่านลอดลงมาตามการกำกับของผู้ควบคุมกลไก
ท่ามกลางความคลั่งไคล้มหรสพของภาพทิวทัศน์มุมกว้าง แดแกร์สนใจเลียนแบบธรรมชาติมากขึ้น จนหลงใหลการจำลองภาพทิวทัศน์ธรรมชาติมาไว้ในโรงมหรสพจนกลายมาเป็นอันตรภาพ ที่ทำให้มนุษย์ได้เห็นมหัศจรรย์ของแสงสีที่แดแกร์ได้เลียนแบบธรรมชาติจากดินแดนอันไกลโพ้น มาอยู่ในเมืองให้คนดู และมีการสร้างอาคารหมุนได้ที่ ‘ถอนราก’ ผู้ชมให้เพลิดเพลินไปกับ ‘ธรรมชาติที่ถูกประดิษฐ์’ จนเลื่องชื่อกลจักรของแดแกร์ทำให้เกิดความจริงเสมือนในยุคสมัยใหม่ เมื่อผนวกมองกับแนวคิดเรื่องเรือนจองจำที่เห็นได้จากทุกด้านของ เยเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham) ที่เรียกว่า ‘พานอปติคอน’ (panopticon) ที่อันตรภาพของเขาสร้างความจริงลวงให้เกิดการรับรู้รวมหมู่ของสังคมในทิศทางเดียวกันกับแสงและภาพมายา
ไดโอรามาได้รับความนิยมแพร่หลายในยุโรปและอเมริกา แต่ในที่สุดก็เสื่อมความนิยมลงเนื่องด้วยความทุ่มเทของแดร์แกร์ในการพัฒนาความก้าวหน้าในการถ่ายภาพโดย เขาคิดค้นเทคนิคการถ่ายภาพแบบแดแกร์ (Daguerreotype) ขณะที่โรงมหรสพไดโอรามาต้นแบบถูกเพลิงเผาผลาญไปพร้อมๆ กับการกําเนิดของกระบวนการถ่ายภาพแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ไดโอรามาในความหมายที่สอง หมายถึงการจัดแสดงวัตถุจริงและจัดวางองค์ประกอบขนาดเท่าของจริง เช่น ตัวอย่างสิ่งมีชีวิต สัตว์ป่า และมีฉากหลังเป็นธรรมชาติ หรือการเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยผ่านการจัดแสดงเรื่องราวและฉากชีวิตของบุคคลสําคัญ ส่วนไดโอรามาในความหมายที่สาม หมายถึง ภาพทิวทัศน์ แบบจําลองความจริงจากธรรมชาติ ทั้งขนาดเท่าของจริง (live size) และขนาดย่อส่วน (miniature)
กล่าวได้ว่า ไดโอรามาทำหน้าที่หล่อหลอมโลกภายในหรือระบบคิดของคนที่ถูกผลิตและรับผ่านสื่อทางสายตา การดึงคนออกจากความเป็นจริงมาอยู่ในเครื่องจักรกลรัฐ เชื่อมบุคคลกับโลกสาธารณะภายนอกที่มีการติดป้ายเฉลิมฉลองยกย่องเป็นสื่อของความจริงเฉพาะที่ที่สร้างเพื่อกำหนดความรู้สึกนึกคิดของคนให้เป็นไปในทางเดียวกันอย่างไม่รู้ตัว ไดโอรามา ‘ถอนราก’ ผู้ชมออกจากโลกของความเป็นจริงโดยสร้างสภาวะลวงของการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ จากเช้าจรดเย็นจากเย็นจรดค่ำแล้วคืนกลับสู่กลางวัน ความนิยมในไดโอรามาเป็นที่ประจักษ์อยู่ช่วงหนึ่ง
..,
บางส่วนจาก วิธีการของวัฒนธรรมทัศนา โดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในเล่ม การเมืองทัศนา
ว่าด้วย การเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น —สู่ความหมายทางวัฒนธรรม
โดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
=====
สั่งซื้อยกเซ็ต หนังสือศิลปะเด็กอาร์ตต้องอ่าน
หรือ
คลิกสั่งซื้อยกชุด 4 เล่มรอบ มี.ค. 2565 เราจัดให้ราคาพิเศษเท่าที่เคารพต่อราคาบนปกหนังสือ
1. การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475:
ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปรสำนึก จากกษัตริย์ สู่ชนชั้นนำ ถึงปัจเจกชนและสามัญชน
●— อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
450 บาท
2. การเมืองทัศนา: ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น สู่ความหมายทางวัฒนธรรม
●— บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
350 บาท
3. ประเทศไร้ทรงจำ
●— รวมบทกวีแสบทรวง โดย รอนฝัน ตะวันเศร้า
200 บาท
4. เกดในเคิร์มแลนด์
●— วรรณกรรมแปร่งลิ้นรสขม โดย วิภาส ศรีทอง
200 บาท
14 เม.ย 2564
14 เม.ย 2564