ธเนศ วงศ์ยานนาวา | ทำไมต้องรักชาติ !?

Last updated: 8 เม.ย 2564  |  3404 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำไมต้องรักชาติ ธเนศ วงศ์ยานนาวา

Keynotes

- อะไรทำให้ 'ความหลากหลาย' กลายเป็นสิ่งแปลกปลอม

- ความหลากหลายทางวัฒนธรรม - ความคิดที่ทรงพลังตั้งแต่ทศวรรษ 1960

- การไม่ผูกขาดทางวัฒนธรรม เป็นกรอบคิดที่สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตย และต่อต้านระบอบเผด็จการอย่างไร

- ทำไมรัฐประชาชาติต้องเน้น 'วัฒนธรรมเดี่ยว'

- ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะมีความเท่าเทียมได้หรือไม่


ความหลากหลายที่คืออะไรก็ตามที่มีอยู่มากมายและมีลักษณะแตกต่างกัน(the Many) กับอะไรที่มีความเหมือนกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนกลายเป็นหนึ่งเดียวนั้น (the One) เป็นปัญหาทางปรัชญามาตั้งแต่โบราณกาล อย่างน้อยที่สุดก็มีมาตั้งแต่ในกรีกโบราณ ซึ่ง อแน็กซิมานเดอร์ (Anaximander of Miletus: 610 BC - 546 BC) ก็เป็นผู้หนึ่งที่เชื่อว่า ‘ธรรมชาติมีพลังมากมายมหาศาลที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งอื่นๆ’

ในขณะที่ ซีโนฟาเนส (Xenophanes of Colophon: 570 BC - 475 BC) กลับมีความเห็นว่า “ธรรมชาติแบ่งแยกไม่ได้ ธรรมชาติมีความเป็นหนึ่งเดียวเชื่อมโยงเข้ากับ Reason (อันเป็นสิ่งที่ภาษาไทยนิยมแปลกันว่า เหตุผล แต่ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะ Reason ยังแปลเป็นอย่างอื่นได้อีก) และแยกไม่ขาดจากสภาวะแห่งความเป็นเทวะ (divine)” ขณะที่กรอบคิดแบบคริสต์ศาสนา หรือศาสนาแบบพระเจ้าองค์เดียว (monotheism) ความหลากหลายที่มีมากกว่าหนึ่งนับเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะถ้าความหลากหลายนั้นหมายถึงพระผู้เป็นเจ้า

แต่ก็ใช่ว่าความหลากหลายจะสูญหายไปจากเวทีแห่งความคิด ‘ความหลากหลาย’ ยังคงความหลากหลายไว้ไม่เสื่อมคลาย ดังเช่น ความหลากหลายทางจริยธรรม หรือความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับการเมืองของสภาวะสมัยใหม่ (modernity) ความหลากหลายดูจะเป็นกรอบคิดที่แปลกปลอม เพราะเป้าหมายสำคัญทางการเมืองภายใต้สภาวะสมัยใหม่ก็คือการสร้างสภาวะความเป็นเอกพันธุ์ (homogeneity) ขณะเดียวกัน ด้วยเงื่อนไขของสภาวะสมัยใหม่ที่มีการจำแนกแจกแจง (differentiation) ของปริมณฑลต่างๆ ก็ทำให้ความหลากหลายกลายเป็นสิ่งปกติสามัญ

คำว่า Multiculturalism เป็นคำที่ปรากฏในพจนานุกรม The Oxford English Dictionary ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 ซึ่งแปลไว้ว่า ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ ก็ดูจะตรงกันกับชื่อ แต่ความหมายของความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะหลากหลายและแตกต่างกันหรือไม่นั้น นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

สำหรับภายใต้กรอบของรัฐประชาชาติ (nation-state) ความหลากหลายที่ว่านี้บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ (ethnicity) และเชื้อชาติ (race) ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ครองอำนาจทางการเมือง กล่าวอีกอย่างก็คือ กลุ่มชาติพันธุ์ทางวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติที่ครองอำนาจทางการเมืองกับ ‘ชนกลุ่มน้อย’ ที่ไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง และด้วยภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงหรือปกป้องอำนาจของฝ่ายตนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้กลุ่มผู้ครองอำนาจทางการเมืองก็มีนโยบายทางการเมืองที่พร้อมจะจัดการกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ เหล่านี้ไม่ให้กลายเป็นพวกที่มีอำนาจมาก ส่วนชนกลุ่มน้อยเองก็มีนโยบายและแนวทางการเมืองที่ทำให้กลุ่มของตัวเองได้เข้าไปมีบทบาทในทางการเมือง หรือมีอำนาจทางการเมืองบ้างไม่มากก็น้อย ความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็เป็นเช่นเดียวกันกับความคิดอื่นๆ อาทิ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งทั้งคู่ต่างก็เป็นความคิดที่เจริญเติบโตในช่วงทศวรรษ 1950 และกลายเป็นความคิดที่ทรงพลังมากขึ้นในทศวรรษ 1960 จนกลายมาเป็นกรอบคิดที่เชื่อกันว่าจะส่งเสริมกรอบคิดระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรอบคิดของเสรีนิยมพหุนิยม (liberal pluralism)

...

การจำกัดอยู่ในอาณาเขตของวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว ส่งผลทำให้ ‘วัฒนธรรมกลายเป็นวัฒนธรรมที่ปราศจากความหลากหลาย’ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การผูกขาดเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา ดังนั้น การผูกขาดด้วยวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรพยายามทำให้วัฒนธรรมเป็นตัวการของการผูกขาด สภาวะที่ปราศจากการผูกขาดทางวัฒนธรรม เป็นกรอบคิดที่สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตย และยังมีนัยของการต่อต้านระบอบเผด็จการอีกด้วย ถึงแม้ว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะมีมานานแล้ว แต่กรอบคิดเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมกลับไม่ได้มีมายาวนานเคียงคู่กัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า กรอบคิดเรื่องความหลากหลายเป็นผลิตผลของโลกกลางศตวรรษที่ 20 เพื่อตอบสนองปัญหาทางการเมืองของรัฐประชาชาติ

...

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในฐานะกลไกทางการเมืองของรัฐประชาชาติ มักตกอยู่ในความหวาดกลัวและความวิตกกังวลต่อ ‘ความเป็นอนิจจังของวัฒนธรรม’ ซึ่งก็ทำให้วัฒนธรรมต้องเชื่อมต่อเข้ากับการเมืองของรัฐประชาชาติ ดังเช่น การปกป้องพิทักษ์วัฒนธรรม นอกจากนั้น ภายใต้กลไกของรัฐประชาชาติที่เน้นวัฒนธรรมเดี่ยว ซึ่งจำเป็นต้องพิทักษ์และปกป้องไว้ก็ทำให้วัฒนธรรมอื่นๆ ต้องสลายและสูญสิ้นไปโดยปริยาย ประหนึ่งช้างแมมมอธหรือสัตว์อื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปในอดีตอันไกลโพ้น

...

แม้กระทั่ง ‘วัฒนธรรมเผด็จการทหาร’ ของบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศด้อยพัฒนา ที่เป็นมรดกตกทอดกันเรื่อยมานั้น ก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะต้องรักษาเอาไว้ (ยกเว้นแต่ในยามคับขันเพื่อแก้ไขปัญหาการผูกขาดโดยพ่อค้า/นายทุนที่ถือว่าเป็นชนชั้น ‘เลวร้าย’ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาที่หนักหน่วงและสำคัญมากกว่าปัญหาว่าเป็นเผด็จการทหาร เพราะเนื่องจากแนวคิดที่ว่า เผด็จการทหารสามารถนำพาและบ่มเพาะเสรีประชาธิปไตยให้งอกเงยและเกิดขึ้นใหม่ได้เช่นกัน) ทั้งๆ ที่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็น ‘สิ่งพิเศษ’ ของประเทศหรือสังคมนั้นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ความพิเศษของวัฒนธรรมที่กล่าวมากลับไม่ได้รับการปกป้องหรือยกไว้ให้เป็นหนึ่งในความหลากหลาย

...

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในรัฐประชาชาติก็ไม่ได้มีความต้องการให้มีความหลากหลายเกิดขึ้นในขั้นตอนสุดท้าย เพราะเป้าหมายสำคัญของรัฐประชาชาติแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ส่วนต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน รวมตัวรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว หรือมีความเป็นเอกพันธุ์ เป้าหมายของรัฐประชาชาติแสดงให้เห็นชัดเจนว่าต้องการ ‘ไผทของไทยทุกส่วน’

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี


ทุกส่วนที่แม้จะแสดงถึงความหลากหลาย แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมุ่งและพุ่งตรงไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น ในความเป็นพลเมืองของรัฐประชาชาติก็หาได้มีความหลากหลายไม่ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว มวลสมาชิกในรัฐประชาชาติก็ไม่ได้มีสัญชาติที่แตกต่างหลากหลาย แต่กลับมีสัญชาติเดียวหรือเหมือนกันทั้งหมด



ถึงแม้ว่าจะมีความหลากหลายหรือมีความแตกต่าง แต่ก็เป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะเป้าหมายของ ‘ล้วนหมาย รักสามัคคี’ ก็คือการแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียว จนทำให้กรอบคิดแบบ ‘แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก’ ยังคงเป็นสิ่งที่มีความหมายและยังเป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหาภายใต้แรงผลักดันจากการยึดมั่นในเรื่องหลักของความหลากหลาย

ความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ว่า ‘วัฒนธรรมของตนเองยิ่งใหญ่กว่าวัฒนธรรมอื่นๆ’ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ออกมาป่าวประกาศว่าสมควรเป็นที่พึงปฏิบัติกันอีกต่อไป ดังนั้นวัฒนธรรมแบบนี้ที่ก็ต้องถือว่าเป็นหนึ่งในความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกันนั้น กลับเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการและไม่จำเป็นต้องมี ‘ความอดทน’ ให้ดำรงอยู่ต่อไป เพราะวัฒนธรรมแบบที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับค่านิยมสากลในการพิทักษ์ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หรือหลักความเท่าเทียมกันของมนุษย์

เมื่อไม่มีวัฒนธรรมใดยิ่งใหญ่และเหนือกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง วัฒนธรรมที่หลากหลายจึงดำรงอยู่ได้อย่างเท่าเทียมกัน เมื่อพิจารณาจากมุมมองนี้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงจำเป็นต้องมีความเท่าเทียมกันอยู่ร่วมด้วย เพราะถ้าไม่มีความเท่าเทียมกัน ความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็ไม่สามารถแก้ไขและขจัดการเลือกปฏิบัติและการกีดกันทางวัฒนธรรมไปได้

==============================

บางส่วนจากบท 'ความไม่หลากหลาย' ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม

อ่านเพิ่มเติมได้ใน ว่าด้วยความไม่หลากหลายทางวัฒนธรรม



ว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ธเนศ วงศ์ยานนาวา : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการ
วรัญญา ฉัตรนิธิกุล : ออกแบบปก

ความหนา : 248 หน้า
ISBN: 9786167196404
==================

สนใจสั่งซื้อ Set รวมงานธเนศ วงศ์ยานนาวา ในราคาพิเศษสุด



======================

สั่งซื้อ 'เสื้อยืดดำ' ได้แล้ววันนี้  (เลือกชมได้ทุกแบบได้ที่ http://bit.ly/2qUTfGN )

ราคาพิเศษ ทุกแบบ ทุกไซส์
(จากราคาปกติ 380 บาท)


- คลิกสั่งซื้อที่รูป - เสื้อยืดสำหรับราษฎรทั้งหลาย

1. เสื้อคณะราษฎร





2. เสื้อคณะราษฎร

== สกรีนลาย 2475 : Democracy Dies [?] ==




3. เสื้อยืดศรัทธา 





4. เสื้อยืดไม่ไว้วางใจ



======================

สั่งซื้อหนังสือยกชุดในราคาพิเศษ คลิก https://bit.ly/3alEWMu

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้