เรมิงตัน | เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรกของโลก

Last updated: 30 ก.ค. 2565  |  4075 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรมิงตัน | เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรกของโลก

หากพูดถึงอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่สำคัญต่อการสร้างหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่มแล้ว สิ่งที่เราไม่ควรลืมนอกจากปากกาและกระดาษก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ หนึ่งในเครื่องมือทุ่นแรงทางการเขียนและยังช่วยให้เราประหยัดเวลามากขึ้นอีกด้วย

แต่เมื่อนึกดูดีๆ แล้ว หากในสมัยก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์เหมือนในสมัยนี้ นักเขียนรุ่นเก่าๆ เขาจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือช่วยให้ประหยัดเวลามากขึ้นกันล่ะ? ใช่แล้ว คำตอบก็คงชัดเจนว่าสิ่งๆ นั้นต้องเป็นต้นกำเนิดของแป้นพิมพ์อย่าง ‘เครื่องพิมพ์ดีด’ แน่นอน

กระนั้น กว่าเราจะได้เครื่องพิมพ์ดีดที่สามารถใช้งานได้จริงขึ้นมาเครื่องหนึ่งก็ไม่ได้ใช้เวลากันน้อยๆ เลย

วันนี้สำนักพิมพ์สมมติจะพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับ ‘เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรก’ และเรื่องราวก่อนจะได้มาเป็นเครื่องมือช่วยเขียนเครื่องนี้กัน

ไอเดียของเครื่องช่วยเขียนนั้นมีมานานมาก จนเมื่อปี 1575 เครื่องประทับตัวอักษรลงกระดาษที่มีชื่อว่า สคริตทูล่า ทาติเล่ (Scrittura Tattile) ได้กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยช่างพิมพ์ชาวอิตาลีนามว่า ฟรานเซสโก รัมปาเซทโต (Francesco Rampazetto) แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ไอเดียของเครื่องพิมพ์ดีดที่เราใช้กันมาถึงยุคปัจจุบัน เพราะยังเป็นเพียงแค่เครื่องปั๊มตัวอักษรที่ต้องใช้แรงกด และยังไม่ช่วยให้ประหยัดเวลาสักเท่าไหร่นัก

เมื่อปี 1714 วิศวกรชาวอังกฤษที่มีชื่อว่า เฮนรี่ มิลล์ (Henry Mill) พยายามคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถพิมพ์ตัวอักษรได้โดยไม่ต้องใช้แรงกด เขาเป็นเจ้าของความคิดเรื่องเครื่องพิมพ์ดีดคนแรกของโลกและได้จดสิทธิบัตรไว้อีกด้วย แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเขาได้ผลิตออกมาใช้จริง นี่จึงอาจเป็นแค่เพียงโครงการที่เขาวางเอาไว้แต่ไม่สามารถสานต่อให้สำเร็จได้

ท้ายที่สุด ในปี 1867 นักคิดค้นชาวสหรัฐฯ คริสโตเฟอร์ ลาทาม โชลส์ (Christopher Latham Sholes) เกิดได้อ่านวารสารวิทยาศาสตร์ที่มีการเล่าถึงเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่ชาวอังกฤษคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้พิมพ์ตัวอักษร จนทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจและได้สร้างเครื่องพิมพ์ดีดที่ใช้งานได้ขึ้นมาจริงๆ



เครื่องพิมพ์ดีดรุ่น เรมิงตัน สแตนดาร์ด


เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรกที่ผลิตขึ้นมาโดย คริสโตเฟอร์ ลาทาม โชลส์ นั้น ได้วางขายตามท้องตลาดเมื่อปี 1874 และได้ถูกตั้งชื่อรุ่นว่า เรมิงตัน (Remington) ตามชื่อบริษัทที่เขาร่วมทำงานผลิตเครื่องพิมพ์ดีดด้วย เครื่องรุ่นนี้จะไม่มีปุ่มยกแคร่ หรือหากเทียบกับแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์คือ ปุ่มชิฟต์ (shift key) หรือถ้าจะพูดง่ายๆ ก็คือมันสามารถพิมพ์ได้แค่ตัวพิมพ์ใหญ่เท่านั้น

แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เรมิงตัน โมเดลที่สอง (Remington Model 2) ก็วางขายพร้อมกับฟีเจอร์ปุ่มยกแคร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1878 และยังมีนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันอย่าง ‘มาร์ค ทเวน (Mark Twain)’ ที่ซื้อเรมิงตันไปใช้งาน และกลายเป็นนักเขียนคนแรกของโลกที่ส่งต้นฉบับซึ่งพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดีดอีกด้วย

เรียบเรียงโดย พีรญาพร เตชาภณ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้