Last updated: 3 เม.ย 2566 | 1407 จำนวนผู้เข้าชม |
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชนบทได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ในสังคมไทยอย่าง ‘ชาวบ้านที่กลายเป็นชาวเมือง’ (the urbanized villagers) ที่หมายถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเมืองหรืออยู่ระหว่างในพื้นที่เมืองกับชนบทด้วยรายได้ปานกลางระดับต่ำ และมีความปรารถนาทางทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกับคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง
และ ‘ชาวชนบทผู้เห็นโลกกว้าง’ หรือหมายถึงชาวชนบทที่เข้าใจระบบเศรษฐกิจโลกและสังคมระดับชาติที่พวกเขาทำงานและอาศัยอยู่ อย่างเช่นกรณีของชาวบ้านในอีสาน
ชาวชนบทผู้เห็นโลกกว้างเหล่านี้มีความเข้าใจลึกซึ้งต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลกและระดับชาติ ขณะที่พวกเขาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘การเป็นแรงงานรับจ้างในเมืองหรือแรงงานอพยพในต่างประเทศ’ กับ ‘ครอบครัวในพื้นที่หมู่บ้านของพวกเขา’ ได้ ในขณะเดียวกัน ชนบทก็ปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นเมืองมากขึ้นและมีความหลากหลายของระบบเศรษฐกิจในชุมชน
อีกทั้งการขยายตัวของระบบความสัมพันธ์ทางเครือข่ายเศรษฐกิจในชนบทกับนอกชนบทได้ขยายตัวมากขึ้นตาม ควบคู่ไปกับการพัฒนาของระบบคมนาคม การสื่อสาร และเทคโนโลยี ที่ทำให้ชนบทเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่
ดังนั้นจึงส่งผลให้ชนชั้นกลางใหม่หรือชนชั้นรากหญ้ามีวิถีชีวิตที่ยึดโยงกับตลาดเศรษฐกิจโลกและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปสู่สมัยใหม่และการบริโภคนิยมมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างชนบท
สอดคล้องกับงานวิจัยที่ศึกษาอัตราการบริโภคในชนบทอีสานอย่างงานของ สันติภาพ ศิริวัฒนาไพบูลย์ (2556) ที่ศึกษาการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะและสังคมอีสานที่เป็นธรรมในชนบทของจังหวัดอุดรธานี เมื่อ พ.ศ.2555 - 2556 พบว่า
ครัวเรือนชนบทส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารในแต่ละเดือนประมาณ 24 - 45% ของรายได้ครัวเรือนทั้งหมด และ 32.9% สำหรับรายจ่ายในการซื้อยานพาหนะ ซึ่งหมายความว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในพื้นที่ชนบท และการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในการบริโภคในชนบท
กล่าวได้ว่า วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชนบทไม่ได้เป็นไปเพื่อยังชีพอีกต่อไป ในความเป็นจริงชาวชนบทมีความต้องการการบริโภคเชิงวัตถุนิยมและการเข้าถึงทุนนิยมจากสภาวะของการเปลี่ยนแปลงในชนบทข้างต้น
ดังที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2553) ได้กล่าวว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในสังคมที่เรียกว่า ‘สังคมหลังยุคชาวนา’ (post-peasant) ซึ่งหมายถึงประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีความทันสมัยและเข้าสู่ระบบตลาดทุนนิยมมากขึ้น
ดังนั้น การแบ่งแยกเมืองกับชนบทจึงไม่อาจทำให้เห็นชัดเจนได้อีกต่อไป เพราะว่าคนชนบทส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มคนที่เข้ามาทำงาน รับจ้าง และประกอบธุรกิจในเขตเมือง และมีทัศนคติความคิดเช่นเดียวกับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่
นอกจากนี้ กลุ่มคนชนชั้นกลางใหม่และรากหญ้าไม่ใช่คนจน แต่รายได้ วิถีชีวิต และโอกาสทางเศรษฐกิจของพวกเขาขึ้นอยู่และผูกพันกับระบบตลาดอย่างแนบแน่น ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอนหรือมีความผันผวนตามระบบเศรษฐกิจ
คนเหล่านี้จำนวนมากเป็นผู้ค้าขาย ผู้ประกอบการอิสระ เช่น ขับแท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างเสริมสวย หรือแม้เป็นเกษตรกรรายย่อยก็เป็นเกษตรกรเชิงพาณิชย์ มีเป้าหมายการผลิตเพื่อป้อนตลาด
พวกเขาไม่ใช่เกษตรกรแบบพอเพียงที่ผลิตเพื่อบริโภคเองเป็นหลัก ผู้คนเหล่านี้ต่างคาดหวังและต้องการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ระบบตลาดสมัยใหม่ ไม่ต่างไปจากชนชั้นกลางเก่า
ขณะที่พวกเขาอาจมีสมรรถนะ (capabilities) เช่น ระดับการศึกษา ทักษะความสามารถ และ/หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าชนชั้นกลางเก่า
ซึ่งทำให้ชนชั้นกลางใหม่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าชนชั้นกลางเก่า และทำให้พวกเขาต้องการหลักประกันความมั่นคงในชีวิต และนโยบายสาธารณะจากรัฐที่สามารถอุดหนุน-ส่งเสริมการยกฐานะทางเศรษฐกิจของเขาให้ใกล้เคียงกับชนชั้นกลางเก่ามากขึ้น
..,
บางส่วนจาก บทที่ 4 ในเล่ม มหาบุรุษแห่งชุมชนศีลธรรม
วัฒนธรรมอำนาจนิยมและอารมณ์เชิงวัฒนธรรมไทย
ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช : เขียน
ยศ สันตสมบัติ และ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : คำนิยม
สั่งซื้อหนังสือ คลิก