Last updated: 11 มิ.ย. 2566 | 1158 จำนวนผู้เข้าชม |
วิถีชีวิตและสำนึกที่มีต่อตนเอง ตลอดจนโอกาส (opportunity) ในชีวิตของชนชั้นล่างนั้นต่างจากชนชั้นกลางและชนชั้นสูง วิถีของการเลี้ยงดูเด็กของแต่ละชนชั้นที่แตกต่างมีผลต่อคุณลักษณะของเด็ก กล่าวคือ คุณสมบัติที่แตกต่างส่งผลต่อความสำเร็จในการศึกษาที่เป็นทางการ (formal education) เช่น ลูกชนชั้นกลางกับการเรียนต่อมหาวิทยาลัย เด็กจากครอบครัวชนชั้นที่มีทรัพยากรมากกว่าก็จะถูกจัดให้ดำเนินชีวิตแบบที่มีการจัดระเบียบ เช่น การเรียนดนตรี กีฬา เรียนพิเศษ การจัดระเบียบให้เด็กมีกิจกรรมก็ทำให้พ่อแม่ต้องอุทิศทรัพยากรให้กับเด็กๆ มากกว่าชนชั้นล่างที่ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะทุ่มทุนให้ เด็กจากชนชั้นล่างจึงพัฒนาตามมีตามเกิด และโตไปพร้อมกับพัฒนาการตามอัตภาพ มากกว่าที่จะมีตัวช่วยหรือการสนับสนุนผลักดันจากพ่อแม่
เด็กจากครอบครัวชนชั้นกลางถูกเลี้ยงมาด้วยการฝึกฝนให้ใช้หรือแสวงหาความสมเหตุสมผล (justification) ภายใต้นาม ‘rationality’ ในการจะทำสิ่งใด การสร้างให้มีความสมเหตุสมผล (justification) หรือ ‘reason’ เป็นวิถีทางของการสร้างวินัย (discipling) ทางความคิดและโครงสร้างประชาน (cognitive) ให้กับชีวิต การฝึกให้เด็กๆ สร้างความสมเหตุสมผลผ่านคำพูดต่างๆ ทำให้เด็กมีความสามารถในการใช้ภาษา นอกจากนี้ การสร้างความสมเหตุสมผลเป็นรากฐานสำคัญของการเจรจาต่อรอง
เมื่อฝึกฝนให้มีวินัยแห่งการสร้างความสมเหตุสมผล หมายความว่าการถกเถียงโต้แย้งผ่านการใช้ภาษาหรือการพูดคือวิถีชีวิตที่สำคัญ และเมื่อมีการฝึกฝนให้ตอบโต้กับพ่อแม่ด้วยภาษาก็หมายความว่าการโต้แย้งถกเถียงหักล้างกับพ่อแม่เป็นวิถีแห่งวินัยที่พ่อแม่เปิดโอกาสให้ใช้ภาษาในการโต้แย้ง การหักล้างโต้แย้งกับสิ่งเก่าๆ แสดงคุณลักษณะสำคัญของสภาวะสมัยใหม่ (modernity) ดังนั้น การปฏิวัติล้มล้างของเก่าที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น เสรีนิยมใหม่ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การฝึกฝนความสามารถในการพูดจาฉะฉานที่เต็มไปด้วยความสมเหตุสมผล ทำให้รูปแบบของการตอบโต้ด้วยภาษาแสดงออกมาในรูปของการบ่นตำหนิพ่อแม่ที่เป็นคนอีกช่วงวัยหนึ่ง (generation) การกระทำนี้ย่อมเป็นสิ่งปกติในโครงสร้างของสภาวะสมัยใหม่
คนที่เกิดมาในครอบครัวร่ำรวยมีโอกาสปรับตัวเข้ากับสภาวะสมัยใหม่ได้มากกว่า รูปแบบครอบครัวเป็นตัวกำหนดลู่วิ่งชีวิตของตนเองไปจนถึงในอนาคต กล่าวอีกแบบคือ เกิดมาในชนชั้นไหนก็พอบอกได้ว่าแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับอนาคตว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นมีอยู่เสมอ เพราะอย่างน้อยๆ อนาคตไม่มีความแน่นอน แต่เมื่อพิจารณาเรื่องโอกาสของคนที่มั่งคั่งก็ย่อมมากกว่าของคนจน ความแตกต่างทางชนชั้นของครอบครัวจึงนำไปสู่ปลายทางชีวิตที่ต่างกัน (divergent destinies) เช่น ผู้หญิงที่จบปริญญาทำงาน แต่งงานช้า มีลูกช้า (หรือการเปลี่ยนผ่านทางประชากรครั้งที่สอง [second demographic transition]) จะมีทรัพยากรให้ลูกมากกว่าผู้หญิงที่หย่าร้าง
ชนชั้นของพ่อแม่ที่มีการศึกษาสูงหรือมีทรัพยากรมากมายส่งผลต่อชีวิตและการศึกษาของลูกไปจนถึงเส้นชีวิตในอนาคต แต่ด้วยการสร้างอัตตาที่เน้นการแสดงออกของอัตตาแบบขยายเกินตัว (inflated self) ก็ทำให้เด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวร่ำรวยมีทรัพยากรมากมายจนมองข้ามความสำคัญของทรัพยากรทางชนชั้นของตัวเองว่ามีบทบาทสำคัญในการทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จ เนื่องจากอุดมการณ์ของความเป็นปัจเจกชนที่ตอกย้ำ ‘ความสำคัญของตัวเอง’ หรือ ‘อัตตา’ ทำให้คนมักคิดว่าทุกอย่างมาจากความสามารถของตัวเองทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตในโรงเรียนที่การเรียนเป็นเรื่องของตนคนเดียว มากกว่าต้องร่วมงานกับคนอื่นอย่างเช่นการสอบ ทั้งนี้ คนที่มาจากครอบครัวที่ได้เปรียบมักคิดถึงความยิ่งใหญ่และความเก่งกาจของตนเองเท่านั้น
บางส่วนจากเล่ม On Academic Capitalism in the age of neoliberalism
ว่าด้วยทุนนิยมมหาวิทยาลัยในสภาวะเสรีนิยมใหม่ โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา