บทสัมภาษณ์ | ภววิสัยทางวรรณกรรมของบรรณาธิการ ‘สมมติ’ - ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล

Last updated: 22 ก.ย. 2565  |  5072 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บทสัมภาษณ์ | ภววิสัยทางวรรณกรรมของบรรณาธิการ ‘สมมติ’ - ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล

- - โลกในวรรณกรรมล้วนเป็นเรื่องแต่ง ทว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมหาใช่สิ่งสมมติ - -


มากบ้างน้อยบ้าง นักเขียนมีหน้าที่จับเรื่องจริงอันขมปร่ามาปรุงให้น่ารื่นรมย์สำหรับโลดเต้นบนหน้ากระดาษ ส่วนรสขื่นๆ นอกเหนือไปจากตัวบท กลับเป็นภววิสัยที่คนผลิตงานวรรณกรรมปรารถนาให้เป็นเรื่องเท็จ

อย่างเป็นทางการ, ‘สำนักพิมพ์สมมติ’ ส่งงานเล่มแรกออกสู่สาธารณะด้วยหนังสือปกสีขาวขนาดความหนาไม่ทรทานจิตใจชื่อ บาร์เทิลบี ของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ นับจากกุมภาพันธ์นั้น (2551) จนถึงปัจจุบัน กล่าวได้อย่างเต็มปากว่าสำนักพิมพ์ซึ่งบริหารโดย ‘ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล’ พิมพ์และจำหน่ายงานที่อยู่ในหมวดขายยากมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นบทกวี งานวิชาการ รวมไปถึงวรรณกรรมทั้งไทยและเทศ

นับได้ว่าสำนักพิมพ์นี้เป็นชื่อแรกๆ ที่นักเขียนบ้านเราอยากร่วมงานด้วย อย่างไรก็ตาม นั่นหาใช่สรรพคุณที่ต้องจับมาอวดโอ่กระทั่งเรียกร้องฟูมฟาย เหมือนที่ปิยะวิทย์ย้ำอยู่บ่อยๆ ตลอดการสนทนาว่าทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นกิเลสส่วนบุคคล และข้าวปลาอาหารก็สำคัญต่อชีวิตกว่าเป็นไหนๆ

กลับมาที่สารตั้งต้น เราบุกไปเยี่ยมร้านหนังสือสมมติย่านชานเมืองอันสวยขรึม ที่ขึงกางไปด้วยความสงบชวนให้นึกถึงรอบๆ สถานที่ซึ่งเกริกจับชายแคระมาขังไว้ในนิยายซีไรต์ของวิภาส ศรีทอง เพื่อพูดคุยกับบรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์นี้ ด้วยข้อสงสัยหลักว่า ทำไมวรรณกรรมแปลถึงขายคล่องกว่าวรรณกรรมไทย ในสัดส่วนสมมติฐานที่มากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามเสียงครวญของมนต์แคน แก่นคูณจากวิทยุของเพื่อนบ้าน

เกือบสิบปีมานี้เขาเห็นอะไร มีสิ่งไหนน่าสนใจเป็นพิเศษ บนเครื่องหมายดอกจันที่วางอยู่เหนือตำแหน่งของประเทศที่ข้าวปลาอาหารยังซื้อหายากขึ้นตามลำดับด้วยซ้ำไป
===============================================


ก่อนอื่นรบกวนถามว่า วรรณกรรมแปลขายดีกว่าวรรณกรรมไทยจริงไหม


สำหรับของสมมติต้องตอบว่าใช่ แต่เท่าที่รู้ วรรณกรรมแปลขายดีกว่าวรรณกรรมไทยมาโดยตลอดอยู่แล้ว มันเหมือนมีการันตีบางอย่าง การแปลคือการข้ามวัฒนธรรม การศึกษา การเรียนรู้ เป็นตัวอย่างที่ดีในหลายๆ ด้าน รวมถึงโลกใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ฉะนั้นย่อมขายดีกว่าด้วยตัวมันเองตามธรรมชาติ

พอตั้งคำถามแบบนี้ผมเลยขออนุญาตถามกลับว่า การที่วรรณกรรมไทยขายไม่ดีนั้นเป็นปัญหาหรือเปล่า ถ้าเป็น มันเป็นปัญหาของใคร แล้วใครคือคนที่จะแก้ปัญหานี้ ผมเคยคิดว่าโจทย์นี้เป็นปัญหา หลังๆ มาเริ่มรู้สึกว่ามันธรรมดาในสังคมแบบนี้ ถ้ามองในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่กับมัน ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกว่ามันคือปัญหา เพราะมันอยู่ตรงหน้าเรา แต่ถ้าเราเป็นคนอ่านทั่วไป ไม่ได้มารู้มาเห็นเกี่ยวกับกระบวนการทำหนังสือก็อาจรู้สึกเฉยๆ อย่าลืมว่าสิ่งที่เราพูดกันมันอยู่ในวงแค่นี้ เฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหนังสือ

พูดง่ายๆ คือวัฒนธรรมการอ่านอาจไม่ได้อยู่ในการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ในสังคมเลยก็ได้ ต้องยอมรับว่าไม่เหมือนปัญหาข้าวสารราคาแพง ค่ารถเมล์ขึ้น ค่าน้ำมันขึ้น ที่พูดอย่างนี้เพราะจริงๆ เรื่องหนังสือไม่ได้มีความสำคัญหรือถูกนับเป็นประเด็นพื้นฐานของสังคมอยู่แล้ว

อีกอย่าง วรรณกรรมไทยโบราณเป็นเรื่องมุขปาฐะ เป็นเรื่องเล่ากาพย์กลอนฉันท์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แต่พอรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา เลยทำให้บางอย่างเปลี่ยนไป คำว่าวรรณกรรมจึงไม่เข้าคู่กับผู้คนในสังคมที่เราอยู่ คล้ายๆ ว่าวรรณกรรมกับคนในสังคมนี้มีระยะห่างระหว่างกันเพิ่มขึ้น


พูดเหมือนคนหมดรัก?

ผมรักในเชิงปัจเจก เราทำวรรณกรรมไทยเพราะยังอยากทำอยู่ ในเชิงความจริงจะพบว่าสัดส่วนของสำนักพิมพ์กับงานคนไทยนั้นทำได้น้อยลง ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขปัจจุบันที่มีอยู่เต็มไปหมด ทว่ายังมีงานของนักเขียนไทยอีกมากมายที่ส่งเข้ามาแล้วรู้สึกว่าอยากพิมพ์มาก แต่สุดท้ายก็ต้องเบรก ทั้งในแง่ของจำนวนพิมพ์ที่ลดลง หรือกระทั่งปฏิเสธไปเลย

มันเป็นภาวะที่น่าเบื่อ เรากลับมานั่งโทษตนเองว่าทำไมไม่สามารถตีพิมพ์งานของนักเขียนไทยให้ต่อเนื่องได้ มันยาก ทั้งที่คุณภาพงานของนักเขียนไทยดี ผมมีหวังกับนักเขียนไทยตลอดเวลา งานของนักเขียนรุ่นใหม่มีพลัง น่าสนับสนุน แต่ต้องอย่าลืม มันไม่เท่ากับคำว่าสร้างรายได้ ไม่ใช่แบบนั้น


มีความเห็นที่ค่อนข้างแรงคือ วรรณกรรมไทยไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น

ผมไม่ได้โอเวอร์นะ พูดแบบโรแมนติกเลย สำหรับผม งานของนักเขียนไทยน่าตื่นเต้นตลอดเวลา และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ยังส่งให้ผมทำสำนักพิมพ์อยู่ คือมันน่าตื่นเต้นในระดับวัฒนธรรมแบบนี้ สังคมแบบที่เราเป็นอยู่ ยังมีนักเขียนที่กล้านำเสนอมุมมองที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ ยังเอาจริงเอาจังกับตัวหนังสือทั้งๆ ที่โลกเปลี่ยนไปแล้ว

แต่ถ้าเทียบกับวรรณกรรมคลาสสิกหรือวรรณกรรมร่วมสมัยที่ขึ้นหิ้งไปแล้วในแต่ละประเทศ นักเขียนไทยยังต้องทำงานหนัก อีกอย่างคือมันมีเพดานทางสังคมและข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เขียนยาก ประเทศที่เราอยู่ไม่เคยผ่านระบบระเบียบวิธีคิดแบบโลกสมัยใหม่ (Modernization) เรื่องความมีเหตุผล สิทธิเสรีภาพ การเข้าถึงทรัพยากร และอีกหลายๆ อย่างที่ประเทศสมัยใหม่ควรมี ไม่มีประสบการณ์ร่วมในกระบวนการแบบนั้นจริงๆ จังๆ มีแค่องค์ความรู้ที่นำเข้ามา

เพื่อนผมเคยคุยกับนักวิชาการต่างชาติ เขาบอกว่า ที่คุณทำหนังสือแบบนี้แล้วขายไม่ได้ก็ถูกต้องแล้ว จะมาทุกข์ร้อนอะไร นี่มันเรื่องปกติชัดๆ สังคมที่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับเหตุและผล สังคมที่ไม่ผ่านกระบวนการจัดระเบียบทางความคิด และสังคมที่ยังก้าวข้ามไม่พ้นปัญหาปากท้อง ใครจะมาคิดเรื่องอ่านหนังสือ ปัญหาที่แท้จริงคือจะทำยังไงให้วรรณกรรมไทยขายได้ โจทย์อยู่ตรงนี้มากกว่า ผมข้ามการถกเถียงในประเด็นที่ว่านักเขียนไทยดีหรือไม่ดีไปแล้วนะ เพราะผมเชื่อว่าดีและควรได้รับการสนับสนุน

ในเล่ม 121 Classic Literature Book Lists (หนังสือว่าด้วยการแนะนำวรรณกรรมคลาสสิค 121 เรื่อง – สำนักพิมพ์สมมติ) มีเรื่องไหนของ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่น่าหยิบยกมาเล่าให้ฟังบ้าง

งานแปลของเราในช่วงแรกมันไม่ได้เป็นงานชั้นหนึ่ง เป็นงานชั้นรองๆ สมมติฐานของพี่สุชาติคือถ้าเลือกงานชั้นหนึ่งมาแปลเป็นภาษาไทย ผู้อ่านหรือนักเขียนไทยจะได้เรียนรู้ต้นแบบที่ดี อาจช่วยย่นระยะเวลาในการตกตะกอนความคิดบางอย่าง แต่เราไม่ได้เอามาสเตอร์พีซมาทำ จึงไม่ได้เห็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เรียกได้ว่ามันมาช้า คนเลยได้อ่านช้าหน่อย


เหมือนที่คุณสุชาติเคยกล่าวในงานเสวนาหนึ่งว่า ด้วยเหตุนี้ทำให้นักเขียนไทยขาดวิธีคิดแบบตะวันตก?

ตามความเห็นผม ต่อให้มันมีงานแปลดีๆ มาเป็นพันๆ ปก ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-19 ไล่มาหมด คำถามคือมันจะมีพื้นที่สำหรับงานเหล่านี้หรือเปล่า ผมว่าไม่ มีตัวแบบที่ดีมากองเต็มไปหมด แต่เราจะเอาทั้งหมดนั่นไปสู่คนอ่านได้ยังไง ผมเข้าใจในแง่ที่พี่สุชาติพูดนะ สมัยที่เขายังเป็นวัยรุ่น มันคงไม่มีจริงๆ หาไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้หาได้หมด

ปัญหาตอนนี้จึงไม่ใช่ว่าเรามีหรือไม่มี แต่มันคือเรื่องพื้นที่ พูดกันตรงไปตรงมาคือ เราไม่มีพื้นที่ให้กับสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง เอาให้ชัด เราจะเอาของแบบนี้ไปอยู่ในพื้นที่ไหนของสังคม นักเขียนหรือใครก็ตามที่ดำรงอาชีพนี้ คุณต้องแสวงหาความรู้ในอาชีพตนอยู่แล้ว แต่เมื่อคุณผลิตงานออกมา คุณจะเอางานไปให้ผู้อ่านผู้ชมของคุณได้ยังไง ช่องทางมันแคบลงเรื่อยๆ


บางประเทศเขามีรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นนักเขียน เราต้องผลักดันให้เกิดอะไรแบบนั้นไหม

ต่อให้ประเทศนั้นๆ ไม่มีรัฐมนตรีเป็นนักเขียน แต่เนื้อหางานของเขาคือสนับสนุน ผลักดัน เปิดพื้นที่ พอเห็นว่าเนื้อหาสาระได้ ก็สร้างรูปแบบให้เป็นสีสัน ให้ไปด้วยกันได้ มันก็มีหวัง ส่วนบ้านเราต่อให้รัฐมนตรีทุกคนเป็นนักเขียน สังคมการอ่านเราก็ไม่ดีขึ้นหรอก เพราะเนื้อหาเราไม่ได้ไปทางนั้น

มีครั้งหนึ่งผมไปไทเป ที่นั่นมีร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงหลายร้านมากในย่านธุรกิจ เดินเข้าไปห้าทุ่มเที่ยงคืนมีลูกค้าเต็มไปหมด นั่งอ่านบ้าง ยืนอ่านบ้าง คืออาจมาหลบหนาว แต่ก็คนเยอะ นั่นคือเรื่องปกติของเขา พอเข้าไปดูชั้นหนังสือ การจัดหมวดหมู่ก็ดีอีก

มากไปกว่านั้นงานปรัชญา งานวรรณกรรมมีแปลเป็นภาษาจีนทั้งหมด ผมหันหลังกลับเดินออกจากประตูด้วยซีนของหนัง As Tears Go By ของหว่องกาไว ออกมายืนสูดอากาศ ทรุดลงไปนั่ง แล้วตั้งคำถามกับตนเองว่าเราจะทำอะไรได้บ้างไหม ในสังคมแบบบ้านเรา คือบ้านเขาเป็นเกาะเล็กๆ เป็นเมืองขึ้น แต่วัฒนธรรมการอ่านแข็งแรงมาก


การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตช่วยอะไรได้บ้างไหม

หลายคนอาจคิดว่าใช่ แต่ผมมองในมุมกลับว่าการเข้าถึงข้อมูลเป็นแค่ฟังก์ชั่น แต่การจะเปลี่ยนหรือสร้างอะไรใหม่มันเป็นเรื่องยาก การมีตัวเลือกมากขึ้น มีสิ่งเร้าตลอดเวลา คนจะรู้สึกว่าทำไมฉันต้องสนใจคุณ ในเมื่อมีสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจเต็มไปหมด ตัวเลือกมหาศาล ความเป็นปัจเจกของคนในสังคมก็เพิ่มขึ้นมากๆ

อินเทอร์เน็ตทำให้การปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริงไม่จำเป็นอีกต่อไป จะเจอเพื่อนก็เฟซไทม์ หิวข้าวก็กดเรียกไลน์แมน จะทำความสะอาดบ้านก็เรียกผ่านแอพฯ คุณสามารถเอาตัวรอดคนเดียวได้สบายในสังคมแบบนี้


“ซื้อวรรณกรรมแปล คุ้มค่ากว่าซื้อวรรณกรรมไทย” ถ้าคนอ่านคิดแบบนี้ ถือว่าผิดไหม

เป็นผมก็คิด ถึงบอกว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของผู้อ่าน เพราะเขามีสิทธิ์เลือก ราคาหนังสือสักเล่มมันไม่ใช่ถูกๆ จะซื้อต้องคิดนะว่าเจียดเงินแล้วต้องได้อะไรที่คุ้มหน่อย ปัญหาของเขาไม่ใช่การจะต้องมาสนับสนุนส่งเสริมวรรณกรรมไทย


มีคนตั้งข้อสังเกตว่าสำนักพิมพ์เล็กๆ สำนักพิมพ์อิสระ เป็นตัวจุดกระแสงานแปลให้มีความหลากหลายขึ้น


เป็นข้อดีในทางธุรกิจ ผมไม่พูดในเชิงอุดมการณ์หรือการส่งเสริมวัฒนธรรม เพราะทำธุรกิจคุณต้องอยู่รอด พูดในเชิงอุดมการณ์หรือวัฒนธรรมก็หมายถึง มีงานนอกดีๆ แล้วนักเขียนไทยได้รับประโยชน์ มีตัวอย่างที่ดี ขยันเขียนกันมากขึ้น มีชั้นเชิงมากขึ้น แล้วยังไงต่อ? ก็ขายไม่ได้อยู่ดี

แต่ถามว่าเป็นข้อดีหรือเปล่าที่สำนักพิมพ์เล็กๆ ผลิตงานวรรณกรรมแปลออกมาเยอะๆ มันเป็นข้อดีในสังคมนั้นๆ อยู่แล้ว ที่จะได้รับสิ่งใหม่ซึ่งเป็นประโยชน์ แต่อย่าไปพูดในเชิงอุดมการณ์ เดี๋ยวจะมีคนพูดว่าถ้าอย่างนั้นทำฟรีให้หน่อย แจกห้องสมุดทั่วประเทศ คุณต้องวงเล็บกำกับด้วยว่าคุณทำบนพื้นฐานของช่องว่างทางธุรกิจ

ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าเอาเรื่องเศรษฐศาสตร์เป็นตัวนำ แค่มันต้องผสมผสานเรื่องวัฒนธรรมการอ่านกับการเขียนให้ดี เพราะถ้าเอาเศรษฐศาสตร์เป็นตัวนำ ก็ไม่ต้องทำหนังสือ ไปทำอย่างอื่นที่ได้กำไรเห็นๆ ดีกว่า


ปีแรกที่แปล บาร์เทิลบี ออกมา แสดงว่าตอนนั้นคุณคิดไว้แล้วว่าต้องมีตำแหน่งแห่งที่สำหรับคุณ ผ่านมาสิบปี ตำแหน่งนั้นมีจริงไหม

ไม่จริงเลย ไม่มีอะไรจริงเลยนอกจากผู้อ่านกับนักเขียน วันแรกที่ทำเราก็คาดหวังแบบเด็กๆ ไม่ได้วางแผน ทำโดยไม่รู้จักธุรกิจ ไม่เคยคิดว่าถ้าทำแล้วขายไม่ได้ สต็อกตีกลับมากองที่บ้านจะทำยังไง ไม่เคยรู้ว่าถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าพิมพ์จะทำยังไง คิดแค่ว่าอยากทำแล้วมีโอกาสก็ทำ รู้แค่นั้น

แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ บอกเองว่า (หัวเราะ) อ๋อ… มันเป็นอย่างนี้นี่เอง แต่ไม่ได้บอกเร็วนะ มันค่อยๆ เผยตัวทีละนิด หนึ่งปีก็ได้เรียนรู้หนึ่งเรื่อง พ้น 5-6 ปีนั่นแหละ ถึงเข้าใจครบทุกอย่าง ก็รู้สึกขบขันในความเด็กน้อยของตนเอง ทุกวันนี้ผมยังเหลือความฝันในเชิงปัจเจก

อีกอย่างที่อยากพูดคือ ไม่อยากโทษสังคมแบบนี้นะแต่มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดว่าสาเหตุมันเป็นเพราะสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่ได้เอื้อต่อการงอกงามของศิลปวัฒนธรรม สังคมลักษณะนี้มันจำกัดความฝันของคนที่ทำอาชีพบางอาชีพ กัดกร่อนแรงพลังของคนทำงานไปเรื่อยๆ อยู่ที่ว่าปัจเจกคนนั้นจะยืนอยู่ได้นานเท่าไหร่

ในขณะเดียวกันสังคมที่ตรงข้ามกับแบบดังกล่าว จะยืดอายุความฝันให้แก่การทำงานได้ สังคมซึ่งมีพื้นที่ มีโอกาสและการสนับสนุน พูดหยาบๆ คือมันอาจต้องเป็นสังคมที่คนอิ่มท้องก่อน เพราะเมื่อใดก็ตามที่คนในสังคมยังนั่งคุยกันว่าจะกินอะไร ทำยังไงให้หายจน เวลาก็หายไปทั้งวันแล้ว ถ้าอยากบันเทิงก็บันเทิงเต็มที่ไปเลย บางทีหนังสือมันไม่ได้บันเทิง จึงถูกกีดกันออกนอกพื้นที่ด้วยตัวมันเองตั้งแต่ต้น


สิบปีสำนักพิมพ์สมมติ เป็นช่วงระยะที่การเมืองเข้มข้นมากๆ มีข้อสังเกตใดน่าสนใจเกี่ยวกับการตัดสินใจซื้อหนังสือของผู้อ่านบ้าง

งานที่เป็นความรู้ขายดีขึ้น บางคนรู้สึกว่าอ่านวรรณกรรมมันก็มีสอดแทรกเนื้อหาสาระ แต่ถ้าให้เลือกเล่มเดียว งานวิชาการมันเข้มข้นกว่า อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ชัดเจนกว่า อ่านจบแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นเรื่องเป็นราวกว่า ส่วนฟังก์ชั่นของวรรณกรรมมันคือเสน่ห์บางอย่างที่ต้องใช้เวลากับเรื่องเล่า เป็นสุนทรียศาสตร์บางอย่างในชีวิตที่ควรต้องเสพเหมือนกัน ผมรู้สึกว่าคนเราก็ต้องอ่านทั้งสองแบบ


ในฐานะบรรณาธิการคนหนึ่ง สิ่งไหนที่คิดว่าวรรณกรรมแปลมี แล้วอยากให้วรรณกรรมไทยก้าวไปให้ถึง

ไปให้พ้นประสบการณ์ตัวเอง อยู่กับปรากฏการณ์และอธิบายมันให้ได้ พูดแบบอุดมคติคือ เห็นปรากฏการณ์ตรงหน้าแล้วต้องฉกฉวยมาอธิบายให้ได้ คนอ่านอย่างผมไม่อยากรู้เรื่องส่วนตัวคุณ แต่อยากรู้วิธีคิดของนักเขียนไทยคนหนึ่งที่เฉียบคม ทำให้ผมประเทืองปัญญา หรือแม้กระทั่งทำให้รู้สึกบันเทิงด้วย นักเขียนควรใช้ความสามารถทางวรรณศิลป์ให้เกิดเป็นงานวรรณกรรมที่ดีให้ผู้อ่านได้อ่าน

คือผมเข้าใจนะ วรรณกรรมหลายเรื่องก็เขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวทั้งนั้น แต่เรื่องส่วนตัวของเขามันเป็นปัจจัยนำไปสู่การอธิบายบางอย่างที่มากกว่านั้น หรือหากเป็นเรื่องส่วนตัวล้วนๆ อารมณ์ความรู้สึกเต็มๆ ก็ทำได้ แต่ต้องจริง ใช้วรรณศิลป์ทำให้คนอ่านอินหรือเชื่อในเรื่องเล่าของคุณ เพราะคนอ่านเขารู้ว่าอันไหนจริง อันไหนล้นเกิน บางทีพยายามใส่อารมณ์ จะเศร้า จะเหงา หรือดีใจก็เถอะ ถ้ามากเกินก็จับได้เหมือนกันว่าชักจะประดิษฐ์ๆ


งานเขียนสไตล์มินิมอลกำลังมาใช่หรือไม่

อันนี้นักเขียนไทยก็ต้องศึกษา เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะมันเขียนยาก ตัวหนังสือตรงนั้นต้องอธิบายตัวเองได้ แล้วอาศัยให้เรื่องราวไปทำงานในหัวของคนอ่านโดยที่นักเขียนไม่ต้องมาอธิบายอะไรเพิ่ม ตัวหนังสือถูกออกแบบจากนักเขียนมาอย่างดีว่าจะเขียนแค่นี้


อยากให้ทิ้งท้ายในฐานะสำนักพิมพ์และคนทำร้านหนังสือ

ถ้าร้านหนังสือรายใหญ่ในประเทศไทยเปลี่ยน วัฒนธรรมการอ่านเปลี่ยนแน่นอน หมายความว่าขอให้คิดเรื่องวัฒนธรรมการอ่านให้บาลานซ์กับวัฒนธรรมการขาย ขอพื้นที่ชั้นหนังสือหนึ่งชั้นในร้านหนังสือทั่วประเทศสำหรับวางหนังสือของสำนักพิมพ์อิสระในประเทศ

นั่นคือช่องทางที่จะทำให้นักเขียนมีโอกาสได้เจอกับนักอ่าน ช่วยพรีเซนต์ให้เราได้ไหม คือถ้ามีช่องทางสำหรับขายขนาดนั้นแล้วยังขายไม่ดีอีก แปลว่ามีปัญหาจริงๆ อาจจะเขียนห่วย สำนักพิมพ์ประชาสัมพันธ์ไม่ดี หรืออะไรก็ตามแต่

เรายังไม่เคยไปถึงจุดนั้นเลย แต่ดันมีการตั้งประเด็นขึ้นมาว่านักเขียนไทยคุณภาพต่ำทำให้ขายไม่ได้ ผมไม่เชื่อไง เพราะสำหรับตัวผมเองได้อ่านต้นฉบับดีๆ เยอะ แต่ไม่สามารถพิมพ์ให้ได้ เพราะรู้ดีว่ามันจะไปจบลงที่ตรงไหน ผมเคยพิมพ์ 2,500 เล่มต่อปก ตอนนี้ต้องลดลงมาเหลือ 1,500 แล้วบอกนักเขียนตรงๆ ว่าเราจ่ายให้คุณได้ในราคา 1,500

ปัญหาที่แท้จริงคือเราไม่มีพื้นที่ สำนักพิมพ์เล็กๆ ต้องดิ้นรนกันเอง ทั้งๆ ที่อยู่ในโลกสมัยใหม่มันควรมีตัวเลือก ลองนึกดูว่าถ้าคนทำอาชีพนี้แล้วต้องมานั่งคิดปัญหาพวกนี้ทุกวัน มันไม่ปวดหัวตายเหรอ น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่ฝ่ายกุมนโยบายหรือเจ้าภาพหลักที่ดูแลเรื่องการอ่านการเขียนและการขาย หรือวัฒนธรรมการอ่านในบ้านเราต้องมาคุยกันให้เป็นเรื่องเป็นราว ว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือสภาพที่น่าพอใจจริงๆ ใช่ไหม ถ้าพวกคุณพอใจแล้วก็จบ สำนักพิมพ์เล็กๆ ก็กระเสือกกระสนกันต่อไป
======

[ ภาพถ่ายในเว็บไซต์ โดย เอกสิทธิ์ เทียมธรรม ]


บทสัมภาษณ์นี้ ตีพิมพ์เมื่อปี 2018 ในเว็บไซต์สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย www.pubat.or.th

========================

เลือกซื้อหนังสือ 
SET ครบชุด ราคาพิเศษ ไม่ต้องการเลือกให้วุ่นวาย เราจัดมาให้แล้ว คลิก SPECIAL SET



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้