Last updated: 19 ก.ย. 2565 | 4977 จำนวนผู้เข้าชม |
บางท่อนบางตอนจากบทสัมภาษณ์ 'เงาของวิภาส ศรีทอง' โดย ธิติ มีแต้ม
ใน วาระสมมติ หมายเลข 00
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่นในปัจจุบัน ภายหลังรัฐประหารปี 2557 การกลับมาของอำนาจอนุรักษนิยมสุดขั้วที่มาพร้อมกับเผด็จการทหาร ตลอดจนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลคสช. ความเกลียดชังแพร่กระจายลุกลามไปทั่วสังคมไทย
มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย อีกทั้งยังมีเสียงสนับสนุนต่อความรุนแรงนั้น ประชาชนทั่วไป กระทั่งเหล่าปัญญาชน นักคิด นักเขียน นักกิจกรรมบางกลุ่ม ต้องหลีกลี้หนีไปพำนักต่างประเทศเพื่อเอาชีวิตรอด
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางกลุ่มที่ปักหลักยืนหยัดต่อสู้ทางอุดมการณ์อยู่ภายในประเทศ ผ่านการสร้างสรรค์ผลงาน ป่าวประกาศความคิด ความเชื่อของตนเอง ยึดมั่นในความเป็นธรรม แม้ความหวังและการโต้ตอบแทบจะเป็นไปไม่ได้ในสภาพสังคมที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก
ความรุนแรง การถูกกระทำรังแกในชีวิตจริงที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันข้างต้น ชวนให้นึกถึงหลากหลายตัวละครในนวนิยายของ วิภาส ศรีทอง ที่เขาพยายามสร้างขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติกรรมด้วยปลายปากกา
สำนักนักพิมพ์สมมติขอพาผู้อ่านมาย้อนทวนบางท่อนบางตอนในบทสัมภาษณ์ของเขา ที่บอกเล่าเรื่องราวความสิ้นหวัง พังพ่าย และการลุกขึ้นมาต่อต้านขัดขืนต่ออำนาจทมิฬที่ครองเมืองด้วยอาวุธเท่าที่เขาพึงมีในฐานะนักเขียน
"ช่วงแรกๆ ของหลังรัฐประหารปี 57 ใหม่ๆ หลายคนและรวมผมด้วยตกอยู่ในความสิ้นหวัง เหมือนจู่ๆ โลกทั้งใบวูบแสงลงไปครึ่งหนึ่งทันที กลางวันที่เคยสว่างกลับกลายเป็นโพล้เพล้ ทึมๆ เทาๆ หม่นเศร้าโศกซึม แต่ผ่านไปสักระยะ มันกลับกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญและสำคัญยิ่งยวดให้เราต้องเขียน เพราะตอนที่เราพังพาบลงไป
"ผ่านไปสักระยะ ถึงจุดหนึ่งเราก็อยากจะลุกแล้ว เหนื่อยหน่ายกับความสิ้นหวังมานานพอแล้ว สามารถสลัดความเฉื่อยชาออกไปได้ เราอยากตอบโต้ แต่เราก็ไม่มีทางอื่นใดที่จะรีแอคชั่น สายตาเราสอดส่ายมองหาสิ่งที่มี เสบียงกรังและศักยภาพที่เราครอบครอง ซึ่งตัวผมก็ไม่มีอะไรอย่างอื่นนอกจากการเขียน
"รัฐประหารมันทำให้เป้าหมายของเราเรียวลง ความคลุมเครือก่อนหน้าถูกแรเงาให้ชัดขึ้น สิ่งเลวร้ายที่เห็นรอบตัวกลับช่วยให้เรามีสมาธิจดจ่อ กะเกณฑ์ได้ดีขึ้นว่าเราจะไปทางไหนทิศไหน ตอบโต้อะไร ประเด็นไหน เป้าหมายมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น
"แต่ความรู้สึกแบบนี้จะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้จักรักษาระยะห่างเหมือนกัน คืออย่าโดนครอบงำจนหมดความอิสระที่จะประเมินหรือคิดสร้างสรรค์ ใส่อารมณ์กับสถานการณ์เสียจนหมดวิจารณญาณ เราต้องถอยออกมาระดับหนึ่ง รักษาความรอบด้านของเราให้ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงลอยตัวจากทุกอย่าง เพิกเฉยอย่างปลดปลงอะไรทำนองนั้น"
และในผลงานชิ้นสำคัญอย่าง หลงลบลืมสูญ เขาเขียนมันขึ้นมาเพื่อชำระล้างความรู้สึกผิดในใจตนเอง ทวงถามความยุติธรรมและคืนความเป็นมนุษย์ให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่
เขาพยายามปกปักษ์รักษาความทรงจำที่ถูกผลักไสไล่ส่ง ไม่มีที่ทางในประวัติศาสตร์กระแสหลัก ป้องกันไม่ให้ถูกบิดเบือนโดยฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ไม่ยอมให้คนตาย คนบริสุทธิ์ กลายเป็นผู้ร้ายและอาชญากร
"ผมเขียนนิยายเล่มนี้ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามจะปลอมประโลมจิตใจตัวเองระดับหนึ่ง คือ ปลอบประโลมคนตายด้วย และปลอบตัวเองที่รู้สึกผิดด้วย และที่สำคัญ ภาพโศกนาฏกรรมทางการเมือง อย่างภาพที่มีคนเอารองเท้ายัดปากคนตาย ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลา ในเล่มนี้ผมพยายามเขียนให้ตัวละครทำความสะอาดให้เขา
ผมใช้คำว่า "เวลาผ่านไป ศพของชายหนุ่มเปียกชุ่มจากการชำระล้างหลายครั้งหลายหน ดูเป็นมันเลื่อมปลาบประหนึ่งรูปปั้นศิลาแกร่ง" ใจผมคืออยากสร้างอนุสาวรีย์ให้เขา ที่เราไม่ได้จดจำเขาเฉพาะภาพที่ถูกทำร้ายแบบนั้น รวมถึงคนที่ถูกยิงตายในปี 53 ด้วย นี่เป็นการปลอบประโลมตัวเอง และปลอบเขาด้วย ถ้าวิญญาณเขายังอยู่ เหมือนการไว้ทุกข์ให้คนตายรู้ว่าเราไม่ลืมเขา"
สุดท้ายแล้วเขาหวังว่า หลงลบลืมสูญ จะเป็นเครื่องมือรื้อทำลาย ภาพจำอันน่าสะอิดสะเอียนที่กักขังผู้เสียชีวิตไว้ แล้วจดจำพวกเขาเสียใหม่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีเลือดเนื้อ ชีวิตจิตใจ
"ผมเขียนเรื่องนี้เพราะต้องการสงบศึกตนเอง ผมอยากจดจำภาพพวกเขาที่ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐอย่างป่าเถื่อนในภาพที่สวยงาม แบบมนุษย์ที่มีชีวิต พวกเขาไม่ควรถูกจองจำในภาพอันป่าเถื่อนนั้น ซึ่งผมไม่ต้องการลบข้อเท็จจริงออกไป
"ในทางกลับกัน การทำให้พวกเขามีชีวิต อย่างน้อยก็ในนิยายนี้ มันแปลว่าใครก็บิดเบือนข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าเขาตายอย่างไร ภาพของการเงื้อง่าชั่วนิรันดร์ก็ยังจะคงอยู่ต่อไปเป็นบทเรียน"
[ ภาพถ่ายในเว็บไซต์ โดย ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล ]
สนใจคลิกสั่งซื้อ Set วิภาส ศรีทอง