ธงชัย  วินิจจะกูล | 1984 ถอดรหัสอำนาจควบคุมของพี่เบิ้ม

Last updated: 24 ธ.ค. 2563  |  6637 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ธงชัย  วินิจจะกูล | 1984 ถอดรหัสอำนาจควบคุมของพี่เบิ้ม

ใครก็ตามที่มีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมเล่มสำคัญของโลกที่ชื่อว่า 1984 หรือ Nineteen Eighty-Four จะพบว่า ในโลกของ 1984 มีภาพตัวแทนของอำนาจ การจับจ้องควบคุม อันเป็นลักษณะของตัวละครหลักที่แม้ไม่ค่อยเผยร่าง แต่พรางกายไว้ตลอดทั้งเรื่องอย่าง Big Brother

และแม้การควบคุมของ Big Brother จะเขย่าขวัญของผู้คนไปทั่วโลก แต่ใช่หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วแกนหลักที่ส่งเสริมอำนาจและความน่ากลัวของ Big Brother คงหนีไปไม่พ้น 'พรรค' และตัวละครสำคัญอย่าง ‘โอไบรอัน’ !!


"...ลองนึกถึงชีวิตปกติที่ไปที่ไหนก็มีท่านผู้นำ หรือผู้มีบารมีที่คนทั้งประเทศเคารพเทิดทูนสรรเสริญวันละหลายเวลา Big Brother อาจก่อความกลัวมากกว่าความยำเกรง ในขณะที่ท่านผู้นำผู้มีบารมีในความเป็นจริง ก่อให้เกิดความยำเกรงและสยบยอมจงรักภักดีต่ออำนาจก็เป็นได้..."


จินตภาพของ Big Brother ชวนให้เรานึกถึงอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบไหน? ลองจินตนาการดูว่า หากมีหน้าสตาลินอยู่บนจอทีวีทุกซอกมุมในสังคม รวมทั้งในบ้านเราเอง เราอาจคิดว่าออร์เวลล์สร้างภาพน่าสะพรึงกลัวแบบเชยๆ แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อหรือเป็นไปไม่ได้ ลองนึกบรรยากาศเหมือนเดินอยู่ใจกลางปราสาทบายนที่มีใบหน้าของอวโลกิเตศวรฉบับชัยวรมันที่ 7 จ้องมองเราอยู่ทุกฝีก้าว ถึงแม้จะเป็นพระโพธิสัตว์ที่ยิ้มน้อยๆ ก็ยังน่ากลัวขนหัวลุก จากนั้นลองนึกถึงชีวิตปกติที่ไปที่ไหนก็มีท่านผู้นำ หรือผู้มีบารมีที่คนทั้งประเทศเคารพเทิดทูนสรรเสริญวันละหลายเวลา Big Brother อาจก่อความกลัวมากกว่าความยำเกรง ในขณะที่ท่านผู้นำผู้มีบารมีในความเป็นจริง ก่อให้เกิดความยำเกรงและสยบยอมจงรักภักดีต่ออำนาจก็เป็นได้


"...อำนาจที่มีประสิทธิภาพไม่ต้องทำตัวเป็นแค่ยามเฝ้าธนาคารหรือห้างสรรพสินค้า การเฝ้ามองอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพกว่าสามารถทำได้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของเงิน ดูคนเพียงไม่กี่คน  หรือการประชุมเฉพาะไม่กี่แห่ง..."


ในโลกที่เป็นจริงจึงอาจไม่มี Big Brother จ้องจับผิดเราโต้งๆ ตลอดเวลา
แต่เราคิดว่าสังคมที่เป็นจริงไม่มี Big Brother คอยสอดส่องเราอยู่เงียบๆ กระนั้นหรือ แถม Big Brother ของจริงอาจสั่งสมประสบการณ์ว่าจะมัวเฝ้าดูเราทุกฝีก้าวย่อมเสียเวลาเปล่า อำนาจที่มีประสิทธิภาพไม่ต้องทำตัวเป็นแค่ยามเฝ้าธนาคารหรือห้างสรรพสินค้า การเฝ้ามองอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพกว่าสามารถทำได้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของเงิน ดูคนเพียงไม่กี่คน หรือการประชุมเฉพาะไม่กี่แห่ง

‘เราไม่โดนควบคุมบงการ’ หรือ ‘เราโดนแบบไม่รู้ตัว’ ไม่โฉ่งฉ่างอย่าง Big Brother? หากเราบอกปัดจินตนาการเกี่ยวกับBig Brother ไปอย่างง่ายๆ เพียงเพราะไม่มีจอทีวีหน้าสตาลินอยู่ในบ้านเรา เราอาจจะเข้าใจ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ พลาดไปอย่างน่าเสียดาย

จินตภาพของผู้มีอำนาจที่อยู่ข้างหลัง Big Brother ใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่  ชวนให้เรานึกถึงกลุ่มคน องค์กร ประเภทไหนกัน?

นอกจากโฉมหน้าสาธารณะของอำนาจในรูปของ Big Brother บนจอทีวีแล้ว เรารู้จัก ‘พรรค’ ที่ครองอำนาจในโอชันเนียผ่านโอไบรอัน เขาเป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อ ดูเผินๆ น่าคบได้ ใจกว้าง และมีมนุษยสัมพันธ์ดี มีเสน่ห์ ชวนคล้อยตาม ต้อนรับความแตกต่าง และสนับสนุนให้แสดงออก คุณลักษณะของโอไบรอันตรงข้ามกับภาพพจน์ของ Big Brother โดยสิ้นเชิง แต่ลงท้ายผู้อ่านคงตระหนักตรงกันว่าโอไบรอัน ‘ร้าย’ และ ‘น่ากลัว’ กว่า Big Brother เสียอีก เพราะโฉมหน้าของอำนาจในรูปของโอไบรอันลึกลับซับซ้อนอ่านยากกว่าใบหน้าบนจอทีวีมากนัก


"...หรือว่าเขาก็เป็นเหมือนปัญญาชนสาธารณะที่มีชื่อเสียงตามปกติที่มักพร่ำสอนเรื่องการต่อต้านอำนาจ แต่เอาเข้าจริง กลับทำหน้าที่กล่อมเกลาให้พวกขบถยอมสยบต่ออำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามที่พวกขบถเกิดเอาจริงขึ้นมา?..."


โอไบรอันเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นผู้มีอำนาจในโอชันเนีย แต่ในเวลาเดียวกัน เขารู้เรื่องพวกขบถดี และทำท่าเหมือนจะมีส่วนร่วมกับพวกขบถด้วยซ้ำไป เขาเป็นพวกต่อต้านอำนาจจากภายในศูนย์กลางใช่ไหม จึงเกี่ยวดองกับทั้งสองข้าง? หรือว่าเขาก็เป็นเหมือนปัญญาชนสาธารณะที่มีชื่อเสียงตามปกติที่มักพร่ำสอนเรื่องการต่อต้านอำนาจ แต่เอาเข้าจริง กลับทำหน้าที่กล่อมเกลาให้พวกขบถยอมสยบต่ออำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามที่พวกขบถเกิดเอาจริงขึ้นมา? หรือเขาเป็นผู้มีอำนาจที่ทำตัวเป็นสปายสายลับมาแทรกซึมพวกขบถ? หรือเพราะมือถือสากปากถือศีล? เขาจงใจหลอกลวงวินสตัน หรือเขาไม่ได้หลอกใครอื่นเลย แต่หลอกตัวเองคนเดียว จึงตีสองหน้าได้อย่างจริงใจไม่ขัดเขิน?

ถ้าเราไม่ถือว่าโอไบรอันเป็นบุคคล แต่ออร์เวลล์ใช้ตัวละครนี้เป็น ‘บุคลาธิษฐาน’ (personification) ของนามธรรมที่เราเรียกว่า ‘อำนาจ’ จากนั้นลองคิดถึงอำนาจอีกครั้งว่า ด้านหนึ่งแสดงตัวเป็น Big Brother บนจอทีวี อีกรูปหนึ่งแสดงตัวเป็นโอไบรอัน เราอาจเข้าใจดีขึ้นว่าอำนาจมีรูปร่างหน้าตาโดยรวมอย่างไร


"...อำนาจที่ ‘เนียน’ จะดูคมคายมีเสน่ห์ชวนหลงใหล ชวนให้เราใจอ่อน ยอมเป็นผู้สนับสนุนหรือเป็นพวก แม้แต่วิญญาณขบถของวินสตันหรือของเราๆ ท่านๆ ยังถูกหลอมละลายโดยโฉมหน้าของอำนาจแบบโอไบรอัน  ไม่เห็นว่าเป็นศัตรูเลวร้ายตรงไหน..."


นั่นคืออำนาจมีทั้งโฉมหน้าที่น่ากลัว จ้องจับผิด เล่นงานเราอยู่ทุกขณะชีวิตอย่าง Big Brother แต่อีกด้านของอำนาจ คือคนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ เพียงแต่อ้างความรู้ดีกว่า มากกว่า อ้างความเชี่ยวชาญกว่า หรือคุณสมบัติเฉพาะทางอื่นๆ อำนาจที่ ‘เนียน’ จะดูคมคายมีเสน่ห์ชวนหลงใหล ชวนให้เราใจอ่อน ยอมเป็นผู้สนับสนุนหรือเป็นพวก แม้แต่วิญญาณขบถของวินสตันหรือของเราๆ ท่านๆ ยังถูกหลอมละลายโดยโฉมหน้าของอำนาจแบบโอไบรอัน ไม่เห็นว่าเป็นศัตรูเลวร้ายตรงไหน

ปัญหาน่าคิดคือ ระหว่าง Big Brother - อำนาจควบคุมด้วยความกลัว กับอำนาจควบคุมประชาชนด้วยวิธีอื่น อย่างไหนมีประสิทธิภาพในการบงการความคิดจิตใจคนมากกว่ากัน? แล้วถ้าพระเดชประสานพระคุณ หรือความจงรักภักดีประสานความกลัวล่ะ?

บุคลาธิษฐานของอำนาจอย่างโอไบรอันและ ‘ที่ยิ่งกว่า’ โอไบรอันมีอยู่ในทุกสังคม ในความเป็นจริง อำนาจที่มีพลังทรงประสิทธิภาพมักไม่ใช่อำนาจแบบ Big Brother ด้วยซ้ำไป แต่มักเป็น ‘อำนาจที่เนียน’ ซึ่งไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ากำลังโดนอำนาจครอบงำบงการอยู่ ดังนั้นจึงไม่ต้องใช้วิธีทรมานแต่อย่างใด


"...โฉมหน้าอำนาจแบบพระคุณก็ต้องอาศัยวิธีการอย่างในหนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เช่นกัน ได้แก่ การควบคุมข่าวสาร เสนอแต่คุณวิเศษเหลือเชื่อวันละหลายเวลา ปกปิดข่าวสารด้านอื่น อย่างเก่งก็กลายเป็นแค่ข่าวลือ ควบคุมความรู้ แก้ประวัติศาสตร์ ทั้งโดยเข้าใจผิด โดยตีความตามอุดมการณ์ และโดยจงใจโฆษณาชวนเชื่อ จนทำให้ผู้คนหลงคิดว่าหากขาดท่านผู้นำ ประเทศของตนอาจล่มสลายตกทะเลไปนานแล้ว..."


อันที่จริงก็คงไม่มีจอมเผด็จการคนไหนในโลกเป็นจริงที่ไม่ประสานสองด้านเข้าด้วยกัน แม้แต่จอมเผด็จการในพม่า ลัทธิบูชาผู้นำในเกาหลีเหนือ หรือระบอบที่โหดเหี้ยมอื่นๆ ก็มีด้านที่สามารถเรียกความจงรักภักดีหรือสยบยอมอย่างสมัครใจรวมอยู่ด้วย ในกรณีลัทธิบูชาผู้นำ มักอาศัยการกล่อมประสาทให้เห็นแต่ด้านพระคุณวิเศษมากกว่าด้านพระเดชหรือความกลัวด้วยซ้ำไป โฉมหน้าอำนาจแบบพระคุณก็ต้องอาศัยวิธีการอย่างใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เช่นกัน ได้แก่ การควบคุมข่าวสาร เสนอแต่คุณวิเศษเหลือเชื่อวันละหลายเวลา ปกปิดข่าวสารด้านอื่น อย่างเก่งก็กลายเป็นแค่ข่าวลือ ควบคุมความรู้ แก้ประวัติศาสตร์ ทั้งโดยเข้าใจผิด โดยตีความตามอุดมการณ์ และโดยจงใจโฆษณาชวนเชื่อ จนทำให้ผู้คนหลงคิดว่าหากขาดท่านผู้นำ ประเทศของตนอาจล่มสลายตกทะเลไปนานแล้ว และใช้การควบคุมภาษา คำและความหมาย จนไม่หลงเหลือศัพท์หรือภาษาที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำสมมติเทพได้เลย นานวันเข้า แม้แต่จะตีความประวัติศาสตร์เบี่ยงออกจากมาตรฐาน หรือใช้คำไม่สูงพอกับความเป็นสมมติเทพ ก็อาจกลายเป็นอาชญากรรมทางความคิดได้

อย่างไรก็ตาม ลัทธิบูชาผู้นำทุกแห่งรายล้อมพระคุณด้วยพระเดช ปกป้องค้ำจุนความจงรักภักดีด้วยความกลัว ท่ามกลางการแซ่ซ้องสรรเสริญ ย่อมมีการกำจัดปราบปรามอาชญากรทางความคิดอย่างสม่ำเสมอ  ยิ่งสูงส่งก็ยิ่งต้องเข้มงวดรุนแรง

Big Brother ของโอชันเนียไม่แสดงออกด้านที่เป็นพระคุณ จนอดคิดไม่ได้ว่า ลำพังความกลัวจะทำให้ผู้คนสยบยอมอยู่ได้อย่างไร แต่ในโลกที่เป็นจริง ทั้งสองด้านกลับต้องทำงานประสานกัน ความสำเร็จของลัทธิบูชาผู้นำเป็นสมมติเทพยังคงเป็นโจทย์ที่มีผู้ศึกษาและอธิบายไม่มากนัก ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองด้านเป็นอย่างไร ทำงานประสานกันอย่างไร

และปัญหาใหญ่อีกข้อของลัทธิบูชาผู้นำก็คือ ประชาชนสยบยอมอย่างเชื่องๆ ราวกับถูกล้างสมองกันทั้งสังคมได้อย่างไร คงอีกนานกว่าเราจะมีคำตอบ เพราะทุกวันนี้ ความกล้าถามก็ถือเป็นอาชญากรรมทางความคิดชนิดหนึ่ง

..,

บางส่วนจาก: 
อำนาจกับการขบถ โดย ธงชัย  วินิจจะกูล | บทกล่าวตามในเล่ม 1984 
..,


อ่านบทความ 'อำนาจกับการขบถ' แบบเต็มๆ
เพียงคลิกสั่งซื้อ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ฉบับครบรอบ 72 ปี

ครบชุดการออกแบบ - 4 ปก







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้