400 ปี ฌอง เดอ ลา ฟงแตน (Jean de La Fontaine) คลาสสิกนอกคอก

Last updated: 5 ก.พ. 2564  |  6881 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Jean de La Fontaine พิริยะดิศ มานิตย์


-- บทความโดย พิริยะดิศ มานิตย์ --

ฌอง เดอ ลา ฟงแตน (Jean de La Fontaine) เกิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ.1621 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ.1695 ดังนั้นในปีนี้ (ค.ศ.2021) จึงเป็นวาระครบรอบ 400 ปี ชาตกาลของนักประพันธ์ฝรั่งเศสสกุลคลาสสิกคนสำคัญผู้นี้

ลา ฟงแตน เป็นที่รู้จักในฐานะผู้เขียน ‘นิทานคติ’ ซึ่งตรงกับคำฝรั่งเศส la fable และมาจากคำละติน fabula แปลว่า เรื่องเล่า นักเล่านิทานคติที่เด็กทั่วโลกรู้จักคือ อีสป นิทานคติมีลักษณะเฉพาะอันได้แก่ เป็นเรื่องเล่าขนาดสั้น มีสัตว์เป็นตัวละคร เช่น กระต่ายกับเต่า หมาจิ้งจอกกับนกกา และเรื่องเล่าประเภทนี้จะลงท้ายด้วย ‘คติ’ ทำนอง “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...”


ความหมายของคำว่า คลาสสิก


ลา ฟงแตน ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนคลาสสิกคนสำคัญสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 คำว่า คลาสสิก มาจากคำละติน classicus หมายว่าจัดเข้าเป็นชั้นเลิศ คำว่าคลาสสิกมีความหมาย 3 ประการ

1. กวีหรือนิพนธ์กรีกหรือละติน

2. กวีหรือนิพนธ์ที่จัดอยู่ในชั้นเลิศสมควรจะเป็นแบบอย่างของการประพันธ์ในยุคหลัง

3. กวีและนิพนธ์ที่แต่งตามแบบกรีกหรือละติน


ลา ฟงแตน เป็นนักเขียนคลาสสิกตามความหมายที่สามและความหมายที่สอง ในชั้นต้น ลา ฟงแตน ประพันธ์นิทานคติโดยยึดกวีกรีกโบราณเป็นแม่แบบ ซึ่งในที่นี้ก็คือ อีสป (คลาสสิกความหมายที่ 3) ต่อมา กาลเวลาได้พิสูจน์ว่านิพนธ์ของ ลา ฟงแตน ทรงคุณค่าทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบ นักประพันธ์รุ่นหลังพึงยึดถือเป็นครูและแบบอย่าง (คลาสสิกความหมายที่ 2) อนึ่ง พึงสังเกตว่า คำว่าคลาสสิกประกอบด้วยคำ classe หรือ ชั้นเรียน ในแง่นี้ งานประพันธ์คลาสสิกจึงหมายถึงงานที่มีคุณค่ามากพอที่จะนำไปศึกษาในชั้นเรียน นิทานคติของ ลา ฟงแตน นั้นไม่มีเด็กนักเรียนฝรั่งเศสคนใดไม่รู้จัก จึงนับว่ามีความ ‘คลาสสิก’ ในประการฉะนี้ด้วย

...คำว่าคลาสสิกประกอบด้วยคำ classe หรือ ชั้นเรียน ในแง่นี้ งานประพันธ์คลาสสิกจึงหมายถึงงานที่มีคุณค่ามากพอที่จะนำไปศึกษาในชั้นเรียน นิทานคติของ ลา ฟงแตน นั้นไม่มีเด็กนักเรียนฝรั่งเศสคนใดไม่รู้จัก...


อย่างไรก็ตาม แม้ ลา ฟงแตน จะเป็นนักเขียนคลาสสิก แต่เมื่อเทียบกับกวีในยุคและสกุลเดียวกัน ก็ดูจะนอกคอกอยู่ไม่น้อย ความนอกคอกนั้นสาธิตได้จากนิทานคติ 3 เรื่อง ได้แก่ หมาป่ากับลูกแกะ พญามัจจุราชกับคนตัดไม้ และ จักจั่นกับมด

หมาป่ากับลูกแกะ มีความอยู่ว่า

เหตุผลของผู้ที่แข็งแรงที่สุดนั้นถูกต้องเสมอ
เราจะแสดงให้เห็นประเดี๋ยวนี้
ขณะที่ลูกแกะตัวหนึ่งกำลังกินน้ำในธารน้ำใส
หมาป่าตัวหนึ่งก็ปรากฏตัว
มันหิวโซ เดินไปมาหวังโชคจะเข้าข้าง
และความหิวก็พามันมาถึง ณ ที่แห่งนี้
อะไรทำให้เอ็งอวดดีขนาดมาก่อกวนตอนที่ข้ากินน้ำ, เจ้าสัตว์ผู้กราดเกรี้ยวเอ่ย
เอ็งมันบังอาจ ต้องโดนอาญา
ขอเดชะ, ลูกแกะกล่าวตอบ, ขอฝ่าละอองพระบาทอย่าเพิ่งลุแก่โทสะ
ขอพระองค์ดูเถิดว่า หม่อมฉันมากินน้ำ
ตรงลำธารที่อยู่ใต้พระองค์ไปถึง 20 ฝีเท้า
ด้วยเหตุนี้ หม่อมฉันจะไปก่อกวนขณะพระองค์กินน้ำก็หามิได้
เอ็งน่ะกวน, เจ้าสัตว์ใจโฉดพูดต่อ
และข้ายังรู้มาด้วยว่า เมื่อปีกลาย เอ็งเอาข้าไปว่าร้าย
หม่อมฉันจะทำไปได้อย่างไร ในเมื่อหม่อมฉันยังไม่ได้เกิดเลยพะย่ะค่ะ, ลูกแกะตอบ
ถึงตอนนี้ก็ยังกินนมแม่
ถ้าไม่ใช่เอ็ง ก็พี่ชายเอ็งละวะ
หม่อมฉันไม่มีพี่พะย่ะค่ะ
ถ้าอย่างนั้นก็ญาติเอ็งสักตัวละ
พวกเอ็งทุกตัวไม่เคารพข้านักดอก
ทั้งพวกเอ็ง คนเลี้ยงพวกเอ็ง หมาที่เฝ้าพวกเอ็ง
ใครเขาก็บอกข้ามาอย่างนี้ ข้าขอชำระแค้นละ
ไม่ทันใด หมาป่าก็ลากลูกแกะเข้าไปลึกสุดป่า
แล้วจับกิน
โดยมิได้มีกระบวนไต่สวนความแต่อย่างใด

                                                          (คำแปลของผู้เขียนบทความ)


นักเขียนคลาสสิกฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 มีความหมกมุ่นร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือปรารถนาที่จะถ่ายทอดลักษณะอันเป็นสากลของมนุษย์ งานวรรณกรรมคลาสสิกอาจมีรูปแบบต่างกันไป จะเป็นบทละคร นวนิยาย จดหมาย นิทานคติ คติพจน์ เทพนิยาย แต่ลงท้ายแล้วต่างก็ต้องการประกาศว่า “มนุษย์ทุกคนจะชาติใดสมัยใดก็เป็นอย่างนี้” และในการถ่ายทอดลักษณะทั่วไปของมนุษย์นั้น นักเขียนคลาสสิกมุ่งแต่การเล่าหรือพรรณนาชีวิตสังคมเท่านั้น จะไม่สนใจสัตว์โลกอื่นๆ ตลอดจนธรรมชาติแวดล้อมเลย

ราซีน นักประพันธ์บทละครโศกนาฏกรรมชั้นบรมครู อาศัยโครงเรื่องจากปกรณัมกรีกเพื่อเล่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ภายในวังอันเกิดแก่บรรดาเจ้าชายเจ้าหญิงทั้งหลาย วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกนามนั้นเมื่อตกเป็นทาสราคะจริตแล้วย่อมอ่อนแอ ยินดีทำสิ่งที่ไม่ถูกครรลองจนตัวต้องพินาศ มาดาม เดอ เซวิญเญ มีชื่อเสียงจากการเขียนจดหมายถึงลูกสาว จดหมายนั้นมากด้วยโวหารตลอดจนเนื้อความอันลึกซึ้งกินใจ จนได้รับการยกย่องให้เป็นงานคลาสสิกเช่นกัน มาดาม เดอ เซวิญเญ บรรยายครรลองชีวิตของพวกชนชั้นสูง แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้ จะเห็นได้ว่าลักษณะนิสัยใจคอของสังคมผู้ดีที่ มาดาม เดอ เซวิญเญ พรรณนานั้น แท้จริงแล้วพบได้ในคนทั่วไป

วรรณกรรมคลาสสิกฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 17 จึงมีแต่เรื่องสังคมมนุษย์ กว่าที่นักเขียนฝรั่งเศสจะใฝ่ใจกล่าวถึงธรรมชาติก็ต้องรอกระทั่งช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 18 อันมี ฌอง ฌาค รุสโซ เป็นผู้บุกเบิก และพัฒนาต่อมาในศตวรรษที่ 19 กลายเป็นวรรณกรรมสกุลใหม่ได้แก่ โรแมนติก ซึ่งให้ความสำคัญยิ่งยวดแก่ธรรมชาติ

...นักเขียนคลาสสิกฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 มีความหมกมุ่นร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ปรารถนาที่จะถ่ายทอดลักษณะอันเป็นสากลของมนุษย์ งานวรรณกรรมคลาสสิกอาจมีรูปแบบต่างกันไป จะเป็นบทละคร   นวนิยาย จดหมาย นิทานคติ คติพจน์ เทพนิยาย แต่ลงท้ายแล้วต่างก็ต้องการประกาศว่า “มนุษย์ทุกคนจะชาติใดสมัยใดก็เป็นอย่างนี้”...


ลา ฟงแตน ผู้มาก่อนกาล

ลา ฟงแตน เป็นนักเขียนที่มาก่อนกาล จริงอยู่เขาเองก็หมกมุ่นในการถ่ายทอดลักษณะสากลของมนุษย์ไม่ต่างจากนักเขียนคลาสสิกคนอื่น แต่ในขณะที่นักเขียนคนอื่นอาศัยภาพสังคมมนุษย์เป็นสื่อในการถ่ายทอด ลา ฟงแตน กลับใช้สัตว์และธรรมชาติเป็นสื่อในการถ่ายทอดสิ่งเดียวกัน ลา ฟงแตน เกิดที่ปราสาทตีแยรี ณ แคว้นชองปาญ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส นักเขียนคติธรรมของเราจึงได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมาแต่เล็ก เพราะเมืองนั้นรายล้อมไปด้วยเทือกเขาป่าไม้ ลำธาร ตลอดจนสัตว์นานาประเภท นอกจากนี้ ก่อนจะมาเป็นกวี ลา ฟงแตน ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้ดูแลน้ำและป่าหลวง ภูมิหลังเช่นนี้ย่อมมีส่วนเสริมให้ลา ฟงแตน ผูกพันแนบชิดอยู่กับธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี การใช้สัตว์เป็นตัวละครยังไม่เพียงพอจะทำให้ถือได้ว่า ลา ฟงแตน เป็นนักเขียนโรแมนติก ลา ฟงแตน ออกนอกคอกเพียงในด้านรูปแบบ แต่ในด้านเนื้อหา เขายังคงเป็นคลาสสิก นิทาน หมาป่ากับลูกแกะ มิได้กล่าวถึงสัตว์ทั้ง 2 ประเภท เพียงเพื่อบรรยายชีวิตพวกมัน หากแต่ต้องการใช้เป็นสื่อเพื่อกล่าวถึงลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นคือ ความอยุติธรรมของผู้มีอำนาจ เมื่อเราอ่านนิทานเรื่องนี้จบ ย่อมมีข้อสรุปในใจว่า คนเราลงว่ามีอำนาจแล้วก็ใช้อำนาจนั้นอย่างไร้เหตุผลดุจเดียวกับหมาป่าในเรื่อง อนึ่ง น่าสังเกตว่า เมื่อกล่าวถึงหมาป่า มีการใช้ราชาศัพท์ “ขอเดชะ” ซึ่งชวนให้ตีความไปได้ถึงขนาดที่ว่า ‘หมาป่า’ หรือผู้ลุแก่อำนาจนั้น อาจหมายถึง ‘พระเจ้าอยู่หัว’ เลยทีเดียว อันที่จริง ลา ฟงแตน น่าจะมีความขัดเคืองใจต่อกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 ไม่มากก็น้อย เพราะพระองค์สั่งจับกุม นิโกลา ฟูเก ผู้มีพระคุณของลา ฟงแตน

ในฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 17 นักประพันธ์ยังมิใช่อาชีพ กวีมิได้หาเลี้ยงชีพด้วยการนำต้นฉบับไปเสนอตามสำนักพิมพ์อย่างที่กระทำกันในปัจจุบัน รายได้หลักของนักประพันธ์มาจากการมีผู้อุปถัมภ์ ซึ่งอาจเป็นชนชั้นเจ้าหรือชนชั้นปกครอง ฟูเกเป็นผู้อุปถัมภ์ของ ลา ฟงแตน เขาเป็นนักการเมืองซึ่งทำหน้าที่ดูแลกองพระคลัง มีอำนาจบารมีล้นฟ้าล้นแผ่นดิน แต่แล้วต้องหมดบุญญาวาสนาเพราะไปกระทำการอันเป็นเหตุให้ขัดเคืองพระราชหฤทัย ฟูเกสร้างปราสาทหลังใหม่ ชื่อ โว เลอ วีกง ตอนนั้นยังไม่มีพระราชวังแวร์ซาย กษัตริย์พำนักอยู่ที่พระราชวังลูเวรอะ ปรากฏว่าปราสาทโว เลอ วีกง ซึ่งฟูเกระดมจ้างศิลปินมือเอกของประเทศมาช่วยรังสรรค์ (เช่น เลอ โนเทรอะ เป็นผู้ออกแบบสวน) ดูงดงามอลังการจนบดบังรัศมีที่พำนักสุริยกษัตริย์ มิหนำซ้ำ ฟูเกยังจัดงานเลี้ยงฉลองปราสาทหลังใหม่อย่างยิ่งใหญ่ มีการจัดแสดงละครตลกโดยนักการละครชั้นเอกหรือ โมลิแยร์ มีการจุดดอกไม้ไฟ ซึ่งต้องเป็นผู้มีทรัพย์ศฤงคารมหาศาลจึงจะจัดหามาได้ มีแขกเหรื่อมามากมาย เผอิญในบรรดาผู้ที่ฟูเกเชิญมาร่วมงานนั้น มีพระเจ้าแผ่นดินรวมอยู่ด้วย เมื่อกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 เห็นปราสาทโว เลอ วีกง พระองค์จะรู้สึกอย่างไรก็เหลือที่จะเดา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เช้าวันรุ่งขึ้นพระองค์สั่งให้ทหารเสือมาจับกุมฟูเก และปลดจากราชการฐานประพฤติมิชอบ มีพฤติกรรมที่ส่อว่าทุจริตยักยอกเงินแผ่นดิน

วอลแตร์ เมธีนามอุโฆษ กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “วันที่ 17 สิงหาคม ตอน 6 โมงเย็น ฟูเกเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศส แต่ตอนตี 2 เขาก็ไม่เหลืออะไรให้เป็นอีกต่อไป” หลังจากกำจัดฟูเก หลุยส์สั่งสร้างพระราชวังแวร์ซาย โดยมีพระราชประสงค์ให้พระราชวังหลังใหม่นี้ยิ่งใหญ่กว่าโว เลอ วีกง

...ลา ฟงแตน เป็นนักเขียนที่มาก่อนกาล จริงอยู่เขาเองก็หมกมุ่นในการถ่ายทอดลักษณะสากลของมนุษย์ไม่ต่างจากนักเขียนคลาสสิกคนอื่น แต่ในขณะที่นักเขียนคนอื่นอาศัยภาพสังคมมนุษย์เป็นสื่อในการถ่ายทอด ลา ฟงแตน กลับใช้สัตว์และธรรมชาติเป็นสื่อในการถ่ายทอดสิ่งเดียวกัน...


การที่ผู้มีพระคุณต้องมาหมดอำนาจวาสนาเช่นนี้ อาจดลใจให้ ลา ฟงแตน ประกาศก้องว่า “เหตุผลของผู้ที่แข็งแรงที่สุดนั้นถูกต้องเสมอ” ฟูเกจะชี้แจงแถลงไขว่ามิได้ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างไร สุดท้ายก็เป็นเพียงเหตุผลของ ‘ลูกแกะ’ ลงว่า ‘หมาป่า’ จะลงอาญาแล้ว อาญานั้นย่อมไม่พ้นเกล้า อนึ่ง มักมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าในนิทานคติบางเรื่อง ลา ฟงแตน ดูจะจงใจกล่าวพาดพิงกษัตริย์ เช่น เรื่อง ราชสีห์กับหนู ซึ่งว่าด้วยราชาแห่งพงไพรที่ต้องมาติดบ่วงของนายพราน แต่รอดตายมาได้เพราะหนูช่วยแทะบ่วงนั้น ลา ฟงแตน ทิ้งคติไว้ว่า “บ่อยครั้ง คนเราจำเป็นต้องพึ่งคนที่เล็กกว่าตัว” กุสตาฟ ดอเร นักวาดภาพประกอบงานวรรณกรรมโลก ดูจะจับนัยแฝงเร้นของนิทานคติธรรมเรื่องนี้ เพราะใบหน้าสิงโตที่เขาวาดนั้นดูจะละม้ายพระพักตร์อยู่ไม่น้อย



ที่มาของภาพ : https://www.francemusique.fr/emissions/histoires-de-musique/jean-de-la-fontaine-ou-le-poete-rebelle-70424


ลักษณะท้าทายอำนาจทำให้แลเห็นว่า ลา ฟงแตน เป็นคลาสสิกนอกคอกในอีกมุมหนึ่ง ในที่นี้ ขอให้พิจารณานิทานคติธรรมเรื่อง พญามัจจุราชกับคนตัดไม้ อันมีเนื้อความอยู่ว่า

คนตัดไม้ผู้ยากไร้คนหนึ่ง
หอบกิ่งไม้พะรุงพะรังจนไม่เห็นตัว
แบกทั้งมัดฟืนแลอายุอานาม
ส่งเสียงครวญคราง หลังงอคด ก้าวเท้าแต่ละทีหนักอึ้ง
ตะเกียกตะกายเดินกลับกระท่อมหลังน้อยควันคลุ้ง
สุดท้าย เมื่อไม่อาจทนทุกข์ยากบากบั่นต่อไปอีก
แกจึงวางมัดฟืนลง คิดถึงความทุกข์
ตั้งแต่เกิด เคยสุขใจอะไรบ้างหนอ
ในเครื่องจักรทรงกลมใบนี้ จะมีใครจนไปกว่าแก
ขนมปังบางวันก็ไม่มี
ส่วนการได้พักนั้นไม่มีสักวัน
เมีย ลูกๆ พวกทหาร ภาษีสารพัดอย่าง เจ้าหนี้ แรงงานให้เปล่า
เหล่านี้แปรเปลี่ยนตัวแกให้เป็นภาพจิตรกรรมผู้ทุกข์ยากโดยสมบูรณ์
แกเรียกพญามัจจุราช ซึ่งมาไม่รอช้า
ท่านถามว่า จะให้ทำอะไร
ก็มาช่วยเอาไม้เหล่านี้กลับมาไว้บนหลังฉันน่ะซี, แกว่า
ไม่ทำให้ท่านเสียเวลาเท่าใดดอก

                                                          (คำแปลของผู้เขียนบทความ)


ระบบศักดินาใน ‘สังคม’ และ ‘วรรณกรรม’


ฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 17 ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สังคมเป็นสังคมศักดินา มีโครงสร้างเป็นปีรามิด ไพร่เป็นฐานของปีรามิด ศักดินาอยู่บนยอดแหลม สังคมแบ่งชนชั้นชัดเจน ลักษณะศักดินานอกจากจะปรากฏเด่นชัดในสังคม ยังซึมลึกถึงโลกวรรณกรรมคลาสสิกด้วย สังคมมีชนชั้นฉันใด คลาสสิกก็แบ่งชั้นวรรณะฉันนั้น ละครโศกนาฏกกรมถือเป็นงานชั้นสูง ตัวละครต้องเป็นเจ้าเท่านั้น จะมีพ่อค้าหรือชาวนาเผยอเป็นพระเอกนั้นหามิได้ ชนชั้นต่ำจะมีตัวตนก็แต่ในละครตลก ซึ่งถือว่ามีศักดิ์ต่ำว่าโศกนาฏกรรม สกุลคลาสสิกกับระบบศักดินาจึงผูกพันกันแนบแน่น นักเขียนคลาสสิกเป็นผู้ค้ำจุนระบบดังกล่าว โมลิแยร์ เขียนบทละครเรื่อง พ่อค้าผู้ดี เล่าเรื่องพ่อค้าผู้มั่งคั่งคนหนึ่ง ใฝ่ฝันจะเขยิบฐานะขึ้นมาเป็นผู้ดี จึงได้จ้างครูวิชาต่างๆ มาอบรมให้ตนได้รู้จักกิริยามารยาทตลอดจนครรลองของชนชั้นสูง แต่ในสังคมศักดินา คนจะเป็นผู้ดีได้นั้นก็เพราะชาติกำเนิด ใช่ว่ามีทรัพย์แล้วจะซื้อหาได้ พ่อค้าผู้ไม่สำเหนียกในกำพืด ตัวอยู่กลางปีรามิด แต่เดาะจะปีนขึ้นไปบนยอด คนพรรค์นี้เป็นได้อย่างมากก็เพียงตัวตลกเท่านั้น

ลา ฟงแตน ออกจะผิดแผกไปจากเพื่อนกวีคลาสสิกคนอื่น เพราะขณะที่นักเขียนคนอื่น แม้จะประสงค์แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของมนุษย์ แต่ก็ไม่เคยคิดวิจารณ์ระบอบชนชั้น ลา ฟงแตน กลับแสดงสำนึกทางการเมือง โดยเฉพาะที่เกี่ยวแก่ความทุกข์ยากของชนชั้นไพร่

ใน พญามัจจุราชกับคนตัดไม้ ลา ฟงแตน อาศัยคำไม่กี่คำก็สรุปความลำบากของไพร่ในสมัยก่อนได้อย่างครบถ้วน “เมีย และลูกๆ” ถือเป็นหน้าที่โดยธรรมชาติของไพร่ชายในสังคมศักดินา แต่นอกจากหน้าที่โดยธรรมชาติหรือการเลี้ยงดูลูกเมียแล้ว ไพร่ยังต้องเลี้ยงดูศักดินา อันเป็นหน้าที่โดยการเมือง ด้วยการจ่าย “ภาษีสารพัดอย่าง” เพื่อให้เจ้า ขุนนาง และพระได้มีอยู่มีกินกันต่อไป แต่หากวันใดไพร่บกพร่องในหน้าที่ เงินไปไม่ถึงยอดปีรามิด รัฐก็จะส่ง ‘ทหาร’ มาเฝ้าบ้านคอยติดตามทวงภาษี เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตไพร่ก็เข้าวงจรอุบาทว์ ไม่มีเงินจ่ายษี ก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน ตกเป็นเบี้ยล่างของ ‘เจ้าหนี้’ แต่จะเอาอะไรมาใช้คืนเจ้าหนี้เล่า ในเมื่อบ่อยครั้งงานที่ไพร่ทำให้เจ้าที่ดินนั้นเป็น ‘แรงงานให้เปล่า’ นับวันหนี้สินก็มีแต่จะพอกพูน เป็นภาระหนักอึ้งดุจเดียวกับฟืนกองพะเนินบนหลังคนตัดไม้

อย่างไรก็ตาม ลา ฟงแตน มิได้ ‘ก้าวหน้า’ ขนาดนักเขียนในยุคแสงสว่าง (ศตวรรษที่ 18) เขาเพียงชี้ให้เห็นความทุกข์ยากของชนชั้นไพร่ แต่มิได้ไปไกลถึงขั้นเรียกร้องให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนตัดไม้ของ ลา ฟงแตน แม้จะสำนึกถึงความลำบากอันเกิดจากระบบสังคม แต่ก็ก้มหน้าก้มตาแบกฟืนต่อไป มิหนำซ้ำยังพอใจจะมีชีวิต (แบบไพร่)มากกว่าที่จะเลือกความตาย

ลา ฟงแตน ดูจะมิใช่ผู้ที่จะสวามิภักดิ์ต่อผู้มีอำนาจมากนัก อันที่จริง แม้ในทางวรรณศิลป์ เขาก็มิได้เคารพนับถือกวีกรีกละตินอย่างมืดบอด ในบางครั้ง ลา ฟงแตน หยิบยืมโครงเรื่องมาจากอีสป เพียงเพื่อนำตัวบทของบรมครูแห่งนิทานคติธรรมมา ‘รื้อ’

การศึกษาเปรียบเทียบนิทาน จักจั่นกับมด สำนวนอีสปกับสำนวน ลา ฟงแตน จะช่วยให้มองเห็นประเด็นดังกล่าวแจ่มชัดขึ้น จักจั่นกับฝูงมด สำนวนอีสปมีใจความว่า (ในสำนวนนี้ มดเป็นพหูพจน์)

ระหว่างฤดูหนาว เมื่อข้าวสาลีเปียกชื้น เหล่ามดก็นำไปผึ่งแดดตากแห้ง เจ้าจักจั่นนั้นเล่าหิวเจียนตาย มันมาขออาหารจากพวกมด ซึ่งตอบมันว่า “เหตุใดในช่วงหน้าร้อน เธอไม่สะสมของกินไว้เล่า”

– ฉันก็มิได้อยู่เฉย, จักจั่นว่า, ฉันร้องเพลงไพเราะจับใจอยู่”

พวกมดหัวเราะ “เอ้า ถ้าตอนหน้าร้อนเธอร้องเพลง ตอนนี้หน้าหนาว ก็เต้นเสียสิ”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หากไม่อยากเผชิญทุกข์แลภยันตราย จงอย่าวางเฉยไม่ว่ากับเรื่องใด (คำแปลของผู้เขียนบทความ)



ส่วน จักจั่นกับมด (เอกพจน์) ของ ลา ฟงแตน นั้นเล่าว่า

เจ้าจักจั่น ตั้งหน้าตั้งตาร้องเพลงมา
ตลอดทั้งฤดูร้อน
มารู้เอาว่าต้องยากไร้ข้าวปลาอาหาร
ก็ต่อเมื่อลมหนาวพัดผ่านมาถึง
ด้วยไม่มีแม้สักชิ้นกะจิดหริดสักชิ้นเดียว
ไม่ว่าจะเป็นแมลงวันน้อยนิดหรือตัวหนอน
หิวเข้าก็จึงไปออดอ้อน
กับนางมดผู้เป็นเพื่อนบ้าน
วอนไหว้กราบกรานขอยืม ขอได้โปรดกรุณา
ข้าวปลาสักเมล็ดพอได้ประทัง
ให้ชีวิตยังไปจนกว่าจะถึงฤดูใหม่
“แล้วข้าจะใช้ให้” เจ้าจักจั่นบอก
“ก่อนเดือนสิงหาดอก เอาเกียรติข้าเป็นประกัน
ทั้งดอกเบี้ยนั้น และเงินต้น”
แต่นางมดนั้นไซร้ใช่คนช่างให้ยืม
นี่แหละคือข้อบกพร่องของนางสถานเบา
“ก็ยามร้อนนั้นเล่า เจ้ามัวทำสิ่งใดอยู่”
“จะกลางวันกลางคืนไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร
ข้านั้นได้แต่ร้องเพลง ขอท่านอย่าได้เคืองข้อง”
“อ้อ ท่านรู้จักแต่ร้องเพลงเรื่อยมา ข้าดีใจหนักหนาที่ได้รู้
กระนั้นก็จงสู้เต้นระบำต่อไปเถิด”

                            (สำนวนแปลของศาสตราจารย์ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร)


นิทานคติของ ลา ฟงแตน – งานศิลปะเหนือกาลเวลา

เมื่อเปรียบเทียบทั้ง 2 สำนวน จะเห็นว่า ความหมายของคู่ตรงข้าม จักจั่น/มด นั้น แตกต่างกันอย่างกลับหัวกลับหาง ในสำนวนของอีสป มดเป็นอุปลักษณ์ของคนขยันทำมาหากินที่พึงนำมาเป็นแบบอย่าง ส่วนจักจั่นเป็นอุปลักษณ์ของคนขี้เกียจที่ไม่พึงลอกเลียนแบบ แต่ในสำนวนของ ลา ฟงแตน นั้น น่าสังเกตว่า ลา ฟงแตน ตัดส่วนที่เป็นคติสอนใจออก เราจึงไม่อาจด่วนสรุปได้ว่าผู้ประพันธ์จัดวางให้มดเป็น ‘ฝ่ายดี’ อันที่จริง มดของ ลา ฟงแตน ดูกระเดียดไปทางเป็นจอมซาดิสต์เสียด้วยซ้ำ มันคงพึงใจที่ได้ใช้วาจากล่าวทำร้ายจิตใจจักจั่น พูดจากระแนะกระแหนแดกดัน (“จงสู้เต้นระบำต่อไปเถิด”) ความจริง ด้วยนิสัยชอบเก็บออม มดควรยินดีให้จักจั่นยืมเมล็ดพืชสักสองสามเม็ด เพราะจะได้คืนทั้ง ‘ดอกเบี้ย’ และ ‘เงินต้น’ แต่มันกลับยอมละทิ้งผลประโยชน์เพียงเพื่อได้พูดจาเหยียบย่ำเพื่อนร่วมโลก มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในหนังสือรวมนิทานคติ ลา ฟงแตน เลือกเรื่อง จักจั่นกับมด เสนอเป็นเรื่องแรก เสมือนเป็นคำนำที่ประกาศลัทธิความเชื่อของผู้ประพันธ์

ในสังคมสมัยลา ฟงแตน ศิลปินหรือ ‘จักจั่น’ ย่อมใช้เวลาทั้งหมดในการสร้างสรรค์ผลงาน จะเอาเวลาที่ไหนไปทำมาหากิน สังคมควรอุปถัมภ์เลี้ยงดูไม่ให้จักจั่นอดตายหากยังคาดหวังให้มัน ‘ร้องเพลง’ ได้ต่อไป  ในสังคมที่เจริญ ศิลปะควรดำรงอยู่ได้โดยเป็นอิสระจากโลกแห่งวัตถุนิยมและอรรถประโยชน์นิยม สังคมที่มีแต่ ‘มด’ ซึ่งหากินแต่ถ่ายเดียว คงไม่เข้าใจว่างานศิลปะมีประโยชน์อันใดเพราะไม่ทำให้ท้องอิ่ม การที่ ลา ฟงแตน เสนอแต่นิทานแต่ไม่ให้คติ เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่านิทานคติของเขาพึงเสพในฐานะศิลปะ (ตัวบทนิทาน) แต่อย่าคาดหวังอรรถประโยชน์ (เพราะไม่มี ‘คติ’ ข้างท้าย) สังคมที่ยังมัวตั้งคำถามว่าศิลปะมีไปทำไม เรียนปรัชญา วรรณคดี แล้วจะทำมาหากินอะไร จะเรียกว่าเจริญแล้วนั้นเห็นจะไม่ได้         

นิทานคติของ ลา ฟงแตน ในฐานะงานศิลปะนั้นมีคุณค่าเหนือกาลเวลา ในศตวรรษที่ 21 ใครเลยจะปฏิเสธว่าวิชาอักษรศาสตร์นับวันก็จะเป็นเพียง ‘วิชาจักจั่น’ ที่สังคมมิได้เห็นคุณค่าและปล่อยให้คนเรียนวิชาดังกล่าวอดตาย (ในบางประเทศ ผู้นำถึงแก่ดำริให้ “ควบคุมสาขาที่ไม่มีงานทำ/ไม่ตรงความต้องการ ลดเงินอุดหนุนหรือไม่ให้”) ใครเลยจะปฏิเสธว่าสังคมนั้นหมด ‘คนตัดไม้’ แล้ว และใครเลยจะมืดบอดจนมองไม่เห็นว่า ‘หมาป่า’ ยังเที่ยวรังแกลูกแกะ “โดยมิได้มีกระบวนไต่สวนความแต่อย่างใด”

นิทานคติของ ลา ฟงแตน นั้น 400 ปี อ่านกี่ทีก็จริงเหมือนเดิม

- - พิริยะดิศ มานิตย์ - -

. . ,

 
บรรณานุกรม

จินตนา ยศสุนทร, คุณหญิง. ประวัติวรรณคดีฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๒๒. 

บันทึกสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๑.

พิริยะดิศ มานิตย์. ประวัติความคิดฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๖๑.

วิทย์ ศิวะศริยานนท์. วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ธรรมชาติ, ๒๕๔๑.

Collet, Francis. Les grands textes de la littérature française. Paris : Ellipses, 2010.


หมายเหตุผู้เขียนบทความ

การอธิบายความหมายและลักษณะคลาสสิกนำมาจากงานของ วิทย์ (บรรณานุกรมรายการที่ 4) และการตีความนิทานเรื่อง พญามัจจุราชกับคนตัดไม้ และ จักจั่นกับมด ส่วนใหญ่มาจากงานของ Collet (บรรณานุกรมรายการที่ 5)
==============================

เชิญเลือกสรรผลงานคลาสสิคระดับโลก วรรณกรรมตาสว่างที่อ่านได้ทุกชนชั้น

'วรรณกรรมโลกสมมติ' วรรณกรรมคัดสรรที่เสนอมุมมองต่อการจัดระเบียบและควบคุมสังคม คลิก
เลย http://bit.ly/2KDsXkm



'วรรณกรรมในวงเล็บ' ชุดงานเปลือยเนื้อแท้และพฤติกรรมของผู้คนเพื่อย้ำเตือนให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ เลือกชมได้ที่ http://bit.ly/2WE3XjZ



==========

PROMOTION ตรุษจีน

แจกส่วนลด 100 บาท!!!

สมมติแจกอั่งเปา ใช้ได้ทั้ง Website // ใส่โค้ด ANGPAO100 ที่หน้าสรุปรายการสั่งซื้อ กรอกช่อง 'ใส่รหัสคูปอง' (เมื่อสั่งซื้อครบ 1,000 บาท)



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้