Last updated: 11 ส.ค. 2567 | 2523 จำนวนผู้เข้าชม |
ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 3
- กำเนิดตุลาการภิวัตน์ : ตุลาการผู้คุ้มครอง “เสียงข้างน้อย” ? -
'ตุลาการภิวัตน์' เป็นคำนิยามที่เกิดขึ้นมาใหม่ในการเมืองไทยช่วงหลัง พ.ศ.2549 โดยผู้ที่เสนอคำนี้เป็นคนแรกคือ ธีรยุทธ บุญมี คำว่า 'ตุลาการภิวัตน์' มาจากรากศัพท์ 'ตุลาการ' + 'อภิวัฒน์' รวมกันแปลว่าความเจริญงอกงามอย่างวิเศษโดยฝ่ายตุลาการ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันได้ให้คำตอบแล้วว่าคำแปลนี้สอดคล้องกับความจริงของสังคมหรือไม่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล เสนอให้ใช้คำที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า 'การเมืองเชิงตุลาการ' ซึ่งแปลมาจาก 'Judicialization of Politics' หมายถึงกระบวนการในการทำให้ประเด็นทางการเมืองเข้าไปอยู่ในการตัดสินของฝ่ายตุลาการ ซึ่งสื่อความหมายถึงการขยายอำนาจของสภาบันตุลาการมาสู่ปริมณฑลทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมากว่า
ที่จริงแล้วตุลาการภิวัตน์และบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่ขยายอำนาจแทรกแซงการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หลังสงครามโลกครั้งที่สองหลายประเทศในเอเชียและยุโรปตั้งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อการปกป้องรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย โดยพื้นฐาน ระบอบประชาธิปไตยจะถูกกำกับควบคุมโดยรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็มีหน้าที่ในการรักษารัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย มีอำนาจตรวจสอบร่างกฎหมายว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ อำนาจในรูปแบบนี้ยังสอดคล้องตามหลักการแบ่งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ โดยศาลไม่มีอำนาจเสนอกฎหมายแต่มีอำนาจปฏิเสธร่างกฎหมายบางอย่างได้
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการคิดระบบเพื่อป้องกันเสียงข้างมากทำลายประชาธิปไตยดังที่เกิดขึ้นกับพรรคนาซีในเยอรมนี จึงมีการออกแบบระบบให้ศาลรัฐธรรมนูญป้องกันเสียงข้างมากไปกดขี่เสียงข้างน้อย กล่าวคือ ป้องกันผู้นำทำลายประชาธิปไตยเสียเอง อย่างไรก็ดี โยชิฟูมิ ทามาดะ ได้เน้นว่าการปกป้องในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการปกป้อง 'เสียงข้างน้อยที่มีอำนาจ' แต่หมายถึงเสียงข้างน้อยที่อ่อนแอจริงๆ เช่น ชนกลุ่มน้อยต่างภาษา ศาสนาหรือชนชาติ ซึ่งไม่มีอำนาจอะไรไปต่อกรกับอำนาจรัฐ ดังนั้น การขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไปปกป้องเสียงข้างน้อยนั้น ไม่ใช่น้อยที่จำนวนแต่น้อยที่อำนาจแบบในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น ศาลไทยยังเข้ามาแทรกแซงเรื่องที่เป็นปัญหาการเมือง ซึ่งสมัยก่อนเป็นเรื่องที่สภาหรือคณะรัฐมนตรีตัดสิน เช่น ปัญหาการคลังกู้เงินสองล้านล้าน การกระจายรายได้ การป้องกันประเทศ การขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ให้ศาลซึ่งไม่ใช่ผู้แทนของประชาชนตัดสิน
ปิยบุตร แสงกนกสกุล เสนอว่า หลักไมล์สำคัญของตุลาการภิวัตน์ในไทยคือพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 เนื่องในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาประจำศาลเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ พระราชดำรัสชุดนี้มีสาระสำคัญสรุปได้สองประการ ประการแรกคือ พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่ามาตรา 7 หรือการขอประทาน 'นายกฯ พระราชทาน' ไม่สามารถทำได้ และทรงเน้นย้ำว่าวิธีการดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย แต่สาระสำคัญประการที่สองซึ่งสำคัญยิ่งกว่าประการแรกคือ ทรงแนะนำว่า "ศาลต้องเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้" ศาลทุกศาลต้องปรองดองกันคิดหาทางแก้ไข ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะล่มจม ปัญหาที่พระองค์ทรงกังวลคือปัญหาการเลือกตั้ง ที่มีผู้ลงสมัครเพียงพรรคเดียวคือพรรคไทยรักไทยใน พ.ศ. 2549 ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่พรรคเดียวเสียทีเดียว เพียงแต่ไม่มีพรรคใหญ่อื่นๆ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย ลงเลือกตั้งด้วย
หลังจากพระราชดำรัสในวันนั้น มีการประชุมระหว่าง 3 ศาลคือ ศาลฏีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. พ.ศ. 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะคูหาเลือกตั้งหันหน้าออกข้างนอกทำให้การลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับ เกิดสุญญากาศทางการเมืองระหว่างรอการจัดการเลือกตั้งใหม่ แล้วก็เกิดรัฐประหารขึ้นก่อนในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะรัฐประหารในนามคมช. มีคำสั่งยุบศาลรัฐธรรมนูญชุดเดิมแล้วแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญชุดเฉพาะการขึ้น ทำการพิพากษาย้อนหลักพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 5 ปี หลังจากเกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ขยายอำนาจให้ศาลเป็นต้นกำเนิดของอำนาจตุลาการภิวัตน์ขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญที่สำแดงอำนาจปลด สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชาชนออกจากตำแหน่งในคดีที่เรียกกันว่า 'ชิมไปบ่นไป' ต่อมาก็ตัดสินยุบพรรครัฐบาล 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย
พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรค ศาลรัฐธรรมนูญเข้าขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที ต่อมาให้คำแนะนำขัดขวาง พ.ร.บ เงินกู้สองล้านล้านบาทซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเงินลงทุนพลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานของพรรคเพื่อไทย ด้วยคำพูดที่ประชาชนต่างจดจำได้เป็นอย่างดีว่า “ให้ถนนลูกรังหมดจากประเทศไทยก่อนทำรถไฟความเร็วสูง” ต่อมาก็ปลดยิ่งลักษณ์จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากคดีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารด้วย สว. แต่งตั้ง 270 คน ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำพิพากษายุบพรรคไทยรักษาชาติ และต่อมาคือพรรคอนาคตใหม่
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า อำนาจตุลาการภิวัตน์พิพากษาให้โทษและทำลายกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามลงทั้งหมดคือ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ และล่าสุดพรรคอนาคตใหม่ นี่เป็นผลงานของตุลาการภิวัตน์ซึ่งขยายอำนาจไปสู่พื้นที่ทางการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดย สสร. ที่คัดเลือกจากคณะรัฐประหาร
สายชล สัตยานุรักษ์ เสนอไปในทิศทางเดียวกันว่า การต่อต้านระบบทักษิณเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดตุลาการภิวัตน์ แนวคิดประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลสูงมาในช่วง พ.ศ. 2530-2540 โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการชุมนุมขับไล่ทักษิณพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย แม้แต่นักวิชาการเสรีนิยมหลายท่านก็ยังเสนอให้ถวายคืนพระราชอำนาจ แม้ในขณะนั้นจะหมายถึงการยุบสภาแล้วตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เป็นที่ยอมรับ ใน พ.ศ. 2548 ประมวล รุจนเสรี แต่งหนังสือ พระราชอำนาจนำ ขณะที่พันธมิตรฯ กำลังชุมนุมเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น โดยเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นการร้อยเรียงเหตุผลเพื่อปูทางไปสู่กำเนิดของตุลาการภิวัตน์ ดังประโยคหนึ่งที่สำคัญคือ
กล่าวโดยสรุป วิกฤตของสถาบันตุลาการไทยในขณะนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน ตามความเห็นของ ธงชัย วินิจจะกูล ลักษณะเฉพาะของวิกฤตการณ์เมืองหลังจาก พ.ศ. 2549 มีสองประการ ประการแรกคือ การประกาศตัวอย่างเปิดเผยของเครือข่ายกษัตริย์นิยมว่าพวกเขาชิงชังประชาธิปไตยและพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะสร้างระบอบการเมืองใต้พระราชอำนาจ ประการที่สอง บทบาทของสถาบันตุลาการและองค์กรที่ควรทำหน้าที่เป็นกรรมการ แต่กลับเป็นผู้เล่นสำคัญเสียเอง การเมืองหลัง พ.ศ. 2549 จึงกลายเป็นการต่อสู้กันทางกฎหมาย และนิติศาสตร์ก็กลายเป็นการเมืองไปหมด นอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขวิกฤตทางการเมืองแล้วยังนำไปสู่วิกฤตทางสังคมอีกประการหนึ่งคือ วิกฤตความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือของระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการ ซึ่งประชาชนทั่วไปต่างรับรู้กันแล้วว่าตกต่ำมากเพียงใด
อ่านตอนอื่นๆ ของบทความเดียวกัน
ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 1
ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 2
ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 4 บทสรุป
สำหรับนักอ่านที่สนใจงานวิชาการทั้งด้านการเมือง รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา
ขอแนะนำชุดหนังสือที่น่าสนใจ
// Set มายาคติในการเมืองไทย //
// Set ถอดมายาคติการเมือง //
// Set นักคิดทางการเมืองคนสำคัญ //
// Set รื้อ-สร้าง และท้าทายทางความคิด //
// Set เล่มหนาตาสว่าง //
// Set การเมือง ปรัชญา และศิลปะฝรั่งเศส //
// Set วรรณกรรมวิจารณ์ ราคาสุดพิเศษ + กระเป๋าผ้า //
// Set 3 เล่ม ไชยันต์ รัชชกูล //
==============================
บทความที่คุณน่าจะชอบ
/ คณะราษฎร 2475 | โหลดฟรี 10 บทความ /
/ รัฐประหารไทย | รวม 10 บทความสุดเข้ม /
/ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | โหลดฟรี 10 บทความ /
/ ปรัชญาตะวันออก | โหลดฟรี 13 บทความ /
/ ราชาชาตินิยม | โหลดฟรี 10 บทความ /
/ 20 หนังสือ อ่านเบิกเนตร /
/ ธงชัย วินิจจะกูล | อุตสาหกรรมแห่งความจงรักภักดี /
/ สัญลักษณ์คณะราษฎรที่หายไป...เราจะจดจำไว้ /
/ ธงชัย วินิจจะกูล | อำนาจของสาธารณชน จากบทกล่าวตามในหนังสือ 1984 /
/ 10 หนังสือสำหรับคน 'อยู่ไม่เป็น' /
==================