Last updated: 11 ส.ค. 2567 | 2669 จำนวนผู้เข้าชม |
ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 2
- ตุลาการผู้ยืนอยู่เหนือประชาชน -
ส่วนที่สองจะเป็นการทบทวนบทบาทของสถาบันตุลาการผู้สำคัญคือการบังคับใช้ราชนิติธรรม และสนับสนุนการปกครองโดยกฎหมาย 'ตุลาการภิวัตน์' เป็นคำนิยามที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงหลัง พ.ศ.2549 หมายถึง การขยายอำนาจของสถาบันตุลาการไปยังพื้นที่อื่นซึ่งก็คือพื้นที่การเมือง จนกล่าวได้ว่าในยุคปัจจุบัน สถาบันตุลาการมีอำนาจยิ่งใหญ่สามารถกำหนดความเป็นความตายของฝ่ายการเมืองที่เป็นตัวแทนจากประชาชนได้ คำพิพากษาในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า ผู้พิพากษามีอำนาจตีความกฎหมายไปได้อย่างกว้างขวางเกินกว่าที่ตัวบทกฎหมายบัญญัติไว้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแนวโน้มพิพากษาให้โทษฝ่ายการเมืองที่เป็นตัวแทนจากประชาชน มากกว่าการจำกัดอำนาจและการละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยผู้มีอำนาจ จนกลายเป็นปรากฏการณ์สร้างความตื่นตะลึงให้แก่สังคม
กฤษณ์พชร โสภณวัตร กล่าวว่า โดยทั่วไปตามระบบกฎหมายสากล ผู้พิพากษามีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีตามตัวบทกฎหมายและมีอำนาจจำกัด กล่าวคือ ผู้พิพากษาเป็นเพียง 'ผู้ใช้กฎหมาย' ไม่สามารถตรากฎหมายใหม่หรือตีความให้กว้างขวาง หรือตีความต่างไปจากถ้อยคำในกฎหมายได้ ผู้พิพากษาไม่สามารถเริ่มคดีได้ด้วยตนเอง ต้องรอให้มีผู้ยื่นฟ้อง ดังนั้น อำนาจของผู้พิพากษาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องร้องคดีสู่ศาล และอำนาจของผู้พิพากษามีจำกัดมาก เพราะเป็นเพียงผู้แปลความกฎหมายเท่านั้น ผู้พิพากษาจะตีความกฎหมายได้ต่อเมื่อมีถ้อยคำไม่ชัดเจน และจะอุดช่องว่างของกฎหมายได้ต่อเมื่อกฎหมายบังคับในบางเรื่องเท่านั้น และการตีความก็ไม่ใช่อำนาจอิสระแต่มีกฎหมายกำหนดการใช้อำนาจอย่างชัดเจน เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย มาตรา 4 บัญญัติให้ผู้พิพากษาวินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ในกรณีไม่มีบทกฎหมายรองรับ ถ้าไม่มีจารีตประเพณีให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป ความคิดลักษณะดังกล่าวเป็นผลจากอุดมการณ์ปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย (Legal Positivism) ที่มองว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษรสามารถบัญญัติครอบคลุมข้อเท็จจริงได้ทุกเรื่อง และเชื่อว่าผู้ใช้กฎหมายจะอยู่ในโอวาทของกฎหมายลายลักษณ์อักษร ด้วยเหตุนี้แม้แต่ในระบบกฎหมายของไทย ผู้พิพากษาอาจมีอำนาจเด็ดขาดแต่ก็อยู่ในขอบเขตจำกัด
แต่ในทางปฏิบัติ ข้ออ้างหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งในสังคมไทยคือ กฎหมายไม่สามารถนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและความมั่นคงของรัฐ ในกฎหมายไทยจึงมีกฎหมายที่เปิดช่องให้ผู้ใช้กฎหมายใช้ดุลพินิจในการตีความกฎหมายจำนวนไม่น้อย กฎหมายในลักษณะนี้เรียกว่า 'กฎหมายยุติธรรม' (Jus Aequum) ซึ่งบัญญัติวลีที่กำกวมเช่น “โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” “ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” “การกระทำในทางการที่จ้าง" “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” กฎหมายส่วนใหญ่ในประเทศไทยจึงเป็นกฎหมายที่ต้องอาศัยดุลพินิจตีความกฎหมาย ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่าเป็นความยุติธรรม แต่ก็ไม่สามารถเรียกว่า 'การปกครองของกฎหมาย' เพราะอำนาจที่แท้จริงตกอยู่ในกำมือของผู้อธิบายกฎหมาย ไม่ได้อยู่กับตัวบทกฎหมายเอง กล่าวให้ถึงที่สุด ในทางปฏิบัติ อำนาจของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีจริงจึงมีมากถึงระดับว่า “จำเลยทำความผิดตามมาตราใด ยังสำคัญน้อยกว่าว่าคดีนั้นผู้พิพากษาคนไหนขึ้นบัลลังก์พิจารณา”
การทำงานตุลาการไทยเช่นนี้ทำให้อำนาจตามกฎหมายและสิทธิกรรมของตุลาการไม่มีประโยชน์ในการทำงานเท่ากับอิทธิพลทางกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นทางการ ผู้ปกครองตามจารีตไทยต้องเป็นผู้มีคุณธรรมและใช้คุณธรรมปกครองให้สังคมเป็นระเบียบ คติความเชื่อแบบจารีตเช่นนี้ยังคงได้รับการสืบต่อและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการปกครองโดยชนชั้นนำของไทย ในปัจจุบัน ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผู้พิพากษาในประเทศไทยสามารถใช้อิทธิพลทางกฎหมายของตนในการตีความกฎหมาย โดยยังอยู่ในหน้าฉากของการปกครองด้วยกฎหมายได้ก็คือ อัตลักษณ์ของตุลาการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เชื่อมหน้าฉากแห่งการปกครองโดยกฎหมาย เข้ากับหลังฉากที่ต้องอาศัยอำนาจอื่นๆ นอกเหนือจากกฎหมาย เพื่อสร้างความชอบธรรมในการตีความกฎหมาย
กฤษณ์พชรเสนอว่า ตุลาการสร้างบทบาทนำในสังคมได้จากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับว่าตุลาการเป็นคนดี จนปล่อยปละละเลยให้ตุลาการขยายอำนาจอิทธิพลในการตีความกฎหมายไปยังปริมณฑลอื่นๆ ซึ่งเป็นที่มาของตุลาการภิวัตน์ซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนที่ 3
ตุลาการไทยมีอัตลักษณ์ร่วมกันที่โดดเด่น 4 ประการได้แก่ การเป็นคนดี ผู้ดี ผู้รู้ แลผู้จงรักภักดี อัตลักษณ์ร่วมของสถาบันตุลาการในยุคปัจจุบันเป็นผลผลิตและเป็นอัตลักษณ์ของ สัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น 'บรรพตุลาการ' และอัตลักษณ์ทั้งสี่ประการนี้ได้ถูกผลิตซ้ำสืบต่อในวงการตุลาการไทยจนถึงปัจจุบัน
- คนดี -
ความเป็นคนดีตามแบบอย่างตุลาการเป็นคติของผู้ปกครองของไทยมาโดยตลอด ผู้ปกครองไทยต้องอุปถัมภ์พุทธศาสนา และกฎหมายต้องสอดคล้องกับธรรมะ ซึ่งความเป็นคนดีเป็นสิ่งที่สัญญาเน้นมาตลอดชั่วชีวิต โดยเฉพาอย่างยิ่งคนดีที่มองผ่านแว่นคุณธรรมแบบพุทธศาสนา เช่น สมถะ มีเมตตา เที่ยงธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 สัญญาได้นำหลักธรรมในพุทธศาสนามาใช้ในงานตุลาการ เช่น เน้นให้ผู้พิพากษาต้องอยู่ในภาวะจิตว่างขณะตัดสินคดีความ โดยการนิมนต์พุทธทาสภิกขุมาบรรยายอบรมผู้พิพากษาผู้ช่วย และจัดปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิที่สวนโมก การพิจารณาคดีของเหล่าตุลาการจึงกลายเป็นการพิจารณาคดีของคนดีที่ศึกษาธรรมะในศาสนาพุทธ อัตลักษณ์คนดีของศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่ถูกเน้นย้ำในผู้พิพากษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและยุติธรรม จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นการแสดงออกร่วมกันของตุลาการเกือบทั้งหมด และคนทั่วไปแทบเชื่อกันว่าตุลาการเป็นอรหันต์ในร่างฆราวาส
- ผู้ดี -
ความเป็นผู้ดี เป็นสุภาพบุรุษ และปฏิบัติตนให้สมฐานะ ล้วนเป็นคุณสมบัติในลักษณะเดียวกันคือ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของผู้พิพากษาให้โดดเด่นแตกต่างจากบุคคลทั่วไปในสังคม เราจะไม่มีทางพบเห็นภาพผู้พิพากษาในชุดนอน ท่องราตรี หรือสูบบุหรี่กินเหล้า เพราะความเป็นผู้ดีของตุลาการต้องกระจ่างชัดแจ้งถึงเปลือกนอก เพื่อยืนยันแก่ตนเองว่าตนมีความพิเศษ นอกจากนี้ อัตลักษณ์ความเป็นผู้ดีของตุลาการต้องแสดงให้เห็นถึงความรอบรู้ในขนบธรรมเนียม ประเพณี และกาลเทศะ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการหยั่งรู้คุณค่าทางสังคม เพื่อประกอบกับการตีความกฎหมายของตนเอง
- ผู้รู้ -
ผู้พิพากษาจะดำรงอิทธิพลทางกฎหมายของตนเองต่อไปได้ต่อเมื่อ ยังเป็นผู้ครอบครองภาพลักษณ์ของการเป็นผู้รู้กฎหมายเหนือกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งมิได้หมายความว่าตุลาการจะรู้จริงในวิชากฎหมายหรือไม่ แต่ภาพลักษณ์ของผู้พิพากษาที่แสดงสู่สังคมต้องเป็นภาพของผู้ที่รู้กฎหมายดีที่สุด เพราะอำนาจของตุลาการอยู่ที่การตีความวิชาความรู้กฎหมาย และอำนาจดังกล่าวจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อตุลาการผู้รู้ดีสามารถตีความกฎหมายได้ กล่าวโดยสรุป อัตลักษณ์ความเป็นผู้รู้ของตุลาการไม่ได้บังคับว่าผู้พิพากษาต้องรู้กฎหมายจริง แต่ต้องทำให้สังคมเชื่อว่าตุลาการนั้นเป็นผู้รู้จริง เพื่อดำรงอิทธิพลทางกฎหมายเอาไว้
- ผู้จงรักภักดี -
ความจงรักภักดีเป็นอัตลักษณ์ที่ถูกเน้นย้ำมากที่สุดในวงการตุลาการ อัตลักษณ์นี้อาจเริ่มจากสัญญาซึ่งเป็นผู้ที่รักและเทิดทูนพระมหากษัตริย์มากที่สุดคนหนึ่ง และเน้นย้ำว่า “พวกเราทำงานในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์สามารถสร้างบารมีให้แก่ผู้พิพากษา ซึ่งที่จริงก็เป็นพฤติกรรมที่ข้าราชการหรือหน่วยงานองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยก็ปฏิบัติสืบต่อกันมา แต่ผู้พิพากษาเป็นข้าราชการที่พิเศษเหนือข้าราชการ เห็นได้จากการที่ตุลาการต้องเข้าเฝ้าเพื่อรับการโปรดเกล้าแต่งตั้งก่อนจึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้
อัตลักษณ์ของตุลาการทั้งหมดนี้ไม่ได้สิ้นสุดลงพร้อมกับ สัญญา ธรรมศักดิ์ แต่ความเป็น สัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้เป็นบรรพตุลาการได้ถูกถ่ายทอดสืบต่อให้ตุลาการรุ่นหลังทุกคนเน้นที่ความเป็นคนดี ผู้รู้ ผู้ดี และผู้จงรักภักดี อัตลักษณ์ร่วมเป็นแม่พิมพ์ที่หล่อหลอมให้เกิดความเป็นเอกภาพในสถาบันตุลาการ แตกต่างจากสถาบันตุลาการในหลายประเทศที่มีการแบ่งฝ่ายตามอุดมการณ์ เช่นฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม อัตลักษณ์ร่วมทั้งสี่ประการที่สร้างอิทธิพลทางกฎหมายให้แก่ตุลาการตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2490 เป็นพื้นฐานให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสถาบันตุลาการในเวลาต่อมา
จากอัตลักษณ์ทั้งสี่ประการที่กฤษณ์พชรเสนอมา เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอัตลักษณ์ที่เด่นชัดที่สุดของสถาบันตุลาการไทยคืออัตลักษณ์ผู้จงรักภักดี สถาบันตุลาการเชื่อมต่อกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแนบแน่น ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2530-2540 ดังมีปรากฏการณ์เป็นตัวอย่างยืนยันข้อเสนอนี้จำนวนมาก สมชาย ปรีชาศิลปกุล ยกเรื่อง “ตราสัญลักษณ์ของสำนักงานศาลยุติธรรม” และวลีอันโด่งดัง “ผมเป็นผู้พิพากษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้
ตราสัญลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรมสามารถสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างชัดเจน ปัจจุบันตราสัญลักษณ์มีการแบ่งแยกใช้อยู่สองแบบคือ ตราสัญลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรมกับสำนักงานศาลยุติธรรม ตราสัญลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรมเป็นตรารูปทรงกลมพื้นหลังสีเหลืองทอง มีดุลพ่าห์ตั้งอยู่บนพานสองชั้นมีพระแท่นรองรับพานอีกทอดหนึ่ง เดิมดวงตราดุลพ่าห์เป็นเครื่องมือชั่งวัดให้เกิดความยุติธรรม ทำให้สถิตเสถียร สม่ำเสมอ ไม่เอนเอียงไปข้างใดด้วยอคติ เป็นตราสัญลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ส่วนตราสัญลักษณ์ของสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นตราสัญลักษณ์สีสดใสมีดอกบัว 9 ดอกล้อมรอบดวงตราดุลพ่าห์ สร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2543 หลังจากการแบ่งแย่งศาลยุติธรรมให้เป็นอิสระจากกระทรวงยุติธรรม โดยตั้งชื่อใหม่เป็นสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้มากขึ้น ตามวัตถุประสงค์ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ตามประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมของลงนามโดยประธานศาลฎีกา ได้นิยามความหมายของตราสัญลักษณ์ใหม่ของสำนักงานศาลยุติธรรมเอาไว้ดังต่อไปนี้
1) พระมหาพิชัยมงกุฎครอบอยู่เหนืออุณาโลม หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2) ดอกบัว หมายถึง ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และทั้งหมดมี 9 ดอก หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
3) ตราดุลพ่าห์ตั้งอยู่บนพานสองชั้นมีพระแท่นรองรับพานอีกทอดหนึ่ง หมายถึง ความยุติธรรมตั้งอยู่บนรากฐานอันมั่นคง
4) ครุฑจับนาคหมายถึง แผ่นดิน
ความหมายรวม คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผู้พระราชทานความบริสุทธิ์ยุติธรรมทั่วทั้งแผ่นดินยุติธรรมทั่วทั้งแผ่นดิน
สมชายเน้นย้ำว่าความหมายของตราสัญลักษณ์ได้แปรเปลี่ยนไปจากคติไทยดั้งเดิมที่ไม่ได้ผูกติดกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เพราะตราสัญลักษณ์ของสำนักงานศาลยุติธรรมผูกติดกับพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 อย่างชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าบัดนี้อำนาจทางตุลาการแสดงตนว่าเชื่อมต่อกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิดแล้ว
ตัวอย่างที่สองคือเรื่องเล่า “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว” ถ้อยคำดังกล่าวเป็นเรื่องเล่าที่สร้างประทับใจให้แก่เหล่าพสกนิกรผู้ศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องโด่งดังบนสื่อออนไลน์พร้อมเสียงสรรเสริญเยินยอในเกียรติยศแห่งผู้พิทักษ์ความยุติธรรมของผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี เรื่องราวนี้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2558 วันหนึ่งประมาณ 5 โมงเย็น ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะจังหวัดปัตตานีกำลังเดินลงมาจะกลับบ้าน เจ้าหน้าเรือนจำกำลังตรวจรายชื่อผู้ต้องขังและรถเรือนจำติดเครื่องรอขนผู้ต้องขังไปเรือนจำ มีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังนั่งร้องไห้ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะคนนั้นเข้าไปสอบถามได้ความว่าแม่กับน้องชายถูกฟ้องฐานมีพืชใบกระท่อมในครอบครอง ศาลสั่งปรับคนละ 7,500 บาท จะขอประกันตัวต่อก็ไม่มีเงินจ่ายนายประกันอาชีพ เลยไปยืมเงินจากญาติได้มา 6,000 บาท ซึ่งไม่พอเสียค่าปรับ นายประกันอาชีพก็ไม่ช่วย และบอกว่าถ้าจะให้ช่วยต้องไปหาคนมาค้ำประกันก่อนจึงจะยอมยื่นประกันชั้นอุทธรณ์ให้ เมื่อหมดหนทางช่วยแม่และน้องจึงได้นั่งร้องไห้โทษตัวเองว่าช่วยแม่ไม่ได้ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะคนนั้นบอกกับเธอว่าให้ยื่นคำร้องขอประกันตัวเพื่อออกไปหาค่าปรับมาชำระ เงิน 6,000 บาทที่มีอยู่ให้เอาเป็นเงินประกัน ผู้หญิงคนนี้บอกว่าศาลปิดทำการแล้ว ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะคนนั้นบอกว่ายังไม่ปิด เธอเถียงว่าปิดแล้ว เจ้าหน้าที่บอก ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะคนนั้นบอกว่าเดี๋ยวสั่งเปิดให้ดู แล้วหันไปบอกเจ้าหน้าที่ศาลให้จัดการเรื่องนี้ให้ แล้วเจ้าหน้าที่ศาลก็สั่งปล่อยคุณแม่ของเธอ ผู้หญิงคนนั้นยกมือไหว้หลายครั้ง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะคนนั้นบอกกับเธอว่า “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว” สองตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นความเชื่อมต่อของสถาบันตุลาการกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ มีข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้พิพากษาเลือกยืนอยู่ข้างผู้มีอำนาจมาโดยตลอดคือ สถาบันตุลาการไม่เคยปฏิเสธผลทางกฎหมายของการรัฐประหาร เมื่อเกิดการรัฐประหาร สถาบันตุลาการพร้อมที่จะยอมรับว่าคณะรัฐประหารยึดอำนาจชั่วคราวสำเร็จ กลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และการประกาศคำสั่งใดๆ ก็กลายเป็นกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 เป็นคำพิพากษาฏีกาฉบับแรกที่รับรองผลของการรัฐประการ และเป็นหลักปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า สถาบันตุลาการของไทยไม่เคยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการรัฐประหาร แนวโน้มของสถาบันตุลาการที่แอบอิงกับอำนาจต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมต่อการขยายอำนาจเพื่อทำงานสนองต่อผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของตุลาการภิวัตน์ในประเทศไทย
อ่านตอนอื่นๆ ของบทความเดียวกัน
ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 1
ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 3
ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 4 บทสรุป
============
สำหรับนักอ่านที่สนใจงานวิชาการทั้งด้านการเมือง รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา
ขอแนะนำชุดหนังสือที่น่าสนใจ
// Set มายาคติในการเมืองไทย //
// Set ถอดมายาคติการเมือง //
// Set นักคิดทางการเมืองคนสำคัญ //
// Set รื้อ-สร้าง และท้าทายทางความคิด //
// Set เล่มหนาตาสว่าง //
// Set การเมือง ปรัชญา และศิลปะฝรั่งเศส //
// Set วรรณกรรมวิจารณ์ ราคาสุดพิเศษ + กระเป๋าผ้า //
// Set 3 เล่ม ไชยันต์ รัชชกูล //
==============================
บทความที่คุณน่าจะชอบ
/ คณะราษฎร 2475 | โหลดฟรี 10 บทความ /
/ รัฐประหารไทย | รวม 10 บทความสุดเข้ม /
/ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | โหลดฟรี 10 บทความ /
/ ปรัชญาตะวันออก | โหลดฟรี 13 บทความ /
/ ราชาชาตินิยม | โหลดฟรี 10 บทความ /
/ 20 หนังสือ อ่านเบิกเนตร /
/ ธงชัย วินิจจะกูล | อุตสาหกรรมแห่งความจงรักภักดี /
/ สัญลักษณ์คณะราษฎรที่หายไป...เราจะจดจำไว้ /
/ ธงชัย วินิจจะกูล | อำนาจของสาธารณชน จากบทกล่าวตามในหนังสือ 1984 /
/ 10 หนังสือสำหรับคน 'อยู่ไม่เป็น' /
==================