รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ | นักเศรษฐศาสตร์ กับ วงการหนังสือ

Last updated: 17 ม.ค. 2565  |  3160 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ | นักเศรษฐศาสตร์ กับ วงการหนังสือ

บทสัมภาษณ์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ในวารสารหนังสือใต้ดินเล่มที่ 6

เรื่อง ชัยพร อินทุวิศาลกุล
ภาพ ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล


..,

- - ร้านหนังสือ​ที่ไม่มีอคติ และเสรีภาพ​ทางธุรกิจ - -

เวลาคนในวงการฯ บ้านเรามอง ก็จะคิดกันว่าร้านหนังสือ​อย่างนั้นไม่มีอคติเพราะอย่างน้อย​ก็ไม่มีหนังสือ​ตัวเองให้โปรโมต

เรื่องที่ว่าร้านหนังสือไม่มีอคติ (Bias) ไม่เป็นความจริง ร้านหนังสือได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางการตลาด หนังสือที่ขายดีจะถูกวางในที่โดดเด่น ส่วนหนังสือขายไม่ดี เช่น หนังสือของผมก็จะวางชั้นในสุดที่ซึ่งคนไม่ค่อยมองเห็น ทีนี้สำนักพิมพ์ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินให้ร้านหนังสือเพื่อให้วางหนังสือของสำนักพิมพ์ตัวเองในที่ที่โดดเด่น ร้านหนังสือไม่ได้มีความเป็นกลาง ร้านหนังสือถูกซื้อได้ อยู่ที่ว่าคุณจะกล้าจ่ายหรือไม่ สำนักพิมพ์แต่ะสำนักพิมพ์ที่ต้องประเมินกันว่าการที่จะจ่ายเงินเพื่อให้หนังสือของตัวเองบางเล่มอยู่ในตำแหน่งที่ดีในร้านจะคุ้มหรือไม่เมื่อเทียบกับรายรับที่คาดว่าจะได้รับ


แนวคิดทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อการจัดวางหนังสือในร้านดังเช่นทุกวันนี้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร


ผมคิดว่าเราคงสืบหาความเป็นมาได้ลำบาก แต่ทั้งหมดนี้มันมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นที่ (Space) ในร้านหนังสือมีจำกัด เหมือนกับผม เวลาคนให้หนังสือกับผม ผมยังเลือกเลยว่าจะรับเล่มไหน เพราะในบ้านของผมไม่มีที่เก็บหนังสือแล้ว


แต่อย่างอาจารย์เลือก อาจารย์ก็เลือกจากคุณค่าสาระบางอย่างในหนังสือ

ผมก็เลือกให้มันต้องกับรสนิยมของผม




แต่อย่างร้านหนังสือ เขาก็อาจไม่ได้มองคุณค่าของหนังสือ แต่มองว่าหนังสือมันขายดีหรือไม่

ใช่ เขาก็จะมองที่คุณค่าทางการตลาด ไม่ได้มองคุณค่าในเรื่องเนื้อหาสาระเพราะพื้นที่มันจำกัด หนังสือเล่มไหนที่ขายไม่ได้ ร้านหนังสือก็ไม่อยากจะให้มาอยู่บนชั้น เพราะถ้าคิดเป็นตัวเงิน ถึงแม้คุณจะใหเส่วนลดมากกว่าที่อื่น แต่ถ้าทั้งเดือนขายได้เล่มเดียว มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับเขา เขาก็เลือกหนังสือ​ซึ่งมีความคล่องตัวทางการตลาดมากกว่า

ทีนี้อคติ (Bias) ของร้านหนังสือซึ่งมีกิจการสำนักพิมพ์ด้วยก็อาจมีมากกว่าร้านหนังสือ​ที่ไม่มี แต่ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ร้านหนังสือ​จะไม่มีกิจการสำนักพิมพ์​ก็ยังมีอคติ แล้วก็ยังขายพื้นที่ที่โดดเด่นในชั้นได้ด้วย


เรื่องการขายพื้นที่ที่โดดเด่นนี้มีกฎหมาย​หรือระเบียบอะไรมาควบคุมหรือไม่ครับ

มันจะมีกฎหมาย​ได้อย่างไร อย่างในซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็ยังมีการเลือกสินค้าที่ให้ส่วนลด (Discount Rate) สูงกว่า มาไว้บนชั้นวางสินค้าเลย สินค้าตัวไหนที่ให้ส่วนลดต่ำร้านก็จะไม่รับเข้ามา เพราะพื้นที่มันมีจำกัด และมันก็เป็นเสรีภาพทางธุรกิจ​


เหมือนว่าคนที่โต้แย้งในเรื่องนี้ มีเหตุผล​โดยการอ้างถึงคุณค่าของหนังสือในเชิงวัฒนธรรม​ซึ่งมากกว่าสินค้าทั่วๆ ไป

คือคุณก็ต้องต่อสู้ในทางธุรกิจ ​เรื่องที่จะเอาเหตุผลในเชิงวิชาการ หรือในเชิงจริยธรรม​มาพูด มันเป็นไปไม่ได้ในโลกของทุนนิยม โลกของทุนนิยมมันเป็นอย่างนี้ ถ้าตลาดมันไม่ชอบหนังสือ​ที่มีสาระ แต่ชอบหนังสือเรื่องซุบซิบ​นินทา​หรือหนังสือที่เขียนโดยดารา แล้วคุณเดินตามเส้นทางทุนนิยม ตลาดก็จะกำกับนโยบาย​การจัดการของร้านหนังสือ ซึ่งคุณก็ทำอะไรมันไม่ได้ ถ้าคุณพิมพ์หนังสือ​ที่มีสาระ แล้วเปิดร้านหนังสือ​เพื่อขายหนังสือของคุณเอง คุณอาจจะขาดทุนจากธุรกิจ​ทั้งสองอย่าง (หัวเราะ)​


ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม มันก็จะเป็นไปอย่างนี้

ใช่ ทีนี้มันจะคลี่คลายไปอย่างไร ในตอนนี้ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะมอง ผมดูในยุโรปตะวันตก ร้านหนังสือก็ยังมี specialization หมายถึงว่าร้านหนังสือแต่ละร้านจะขายหนังสือประเภทหนึ่งที่ตัวเองถนัด ในเมืองไทยก็มีอยู่เหมือนกัน เช่น ที่ถนนพระอาทิตย์ มีร้านหนังสือที่ชื่อ ร้านหนังสือเดินทาง แต่ก็เห็นว่าสู้ค่าเช่าไม่ไหวกำลังจะย้ายร้านไปแล้ว คุณจะเห็นได้ว่าหนังสือวิชาการ หรือหนังสือเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ไม่มีพื้นที่ในร้านหนังสือทั่วไป ก็จะมีแต่เฉพาะในศูนย์หนังสือในมหาวิทยาลัย หรือในร้านอย่างเช่น แพร่พิทยา ซึ่งขายหนังสือประเภทแบบเรียน ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย จริงๆ คุรุสภาน่าจะทำอย่างนี้ได้นะ แต่ผมคิดว่าเขาคิดช้ามาก

..,

- - โลกนักอ่าน - -

ถามในฐานนะนักอ่านที่อ่านทั้งหนังสือไทยและต่างประเทศ นักอ่านในเมืองไทยมีข้อจำกัดในด้านทางเลือกในการอ่านหรือไม่

คือตลาดในกระแสหลัก เป็นตลาดที่ไม่สนใจหนังสือประเภท Non – fiction ถ้ารสนิยมในการอ่านของสังคมยังไม่เปลี่ยน มันเป็นเรื่องยากที่สำนักพิมพ์จะพิมพ์หนังสือที่มีสาระ หรือร้านหนังสือที่ขายหนังสือมีสาระจะเติบโตได้ คือถ้าตลาดชอบนิยายน้ำเน่า คุณจะทำอะไรได้เพราะรสนิยมมันกำกับตลาด ผมมองไม่ออกว่าจะอีกเมื่อไรตลาดตรงนี้ถึงจะเกิดขึ้น ผมเข้าใจว่าพัฒนาการตรงนี้คงจะกินเวลานานมาก ผมดูโครงสร้างของระบบของอุดมศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน ผลิตบัณฑิตโหลออกมามากกว่าครึ่ง บัณฑิตซึ่งไม่มีวัฒนธรรมในเรื่องของการอ่าน


เรื่องนี้เกี่ยวกับรากฐานหรือประวัติศาสตร์ของสิ่งที่เรียกว่าหนังสือที่มีอายุค่อนข้างสั้นในสังคมไทยเมื่อเทียบกับสังคมตะวันตกด้วยหรือไม่

ผมเห็นด้วยกับความคิดนี้ อย่างในอังกฤษช่วงที่ผมไปเรียนใหม่ๆ คนถามผมว่า What are you reading? คำถามจริงๆ ก็คือว่าผมกำลังเรียนอะไร แต่เขาไม่ได้ถามว่า What are you studying? คำถามว่าคุณกำลังอ่านอะไรนี้ แปลโดยนัยก็คือว่าคุณกำลังศึกษาวิชาอะไร สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมของโลกตะวันตกแล้ว การอ่านเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของการศึกษา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ตลาดหนังสือในโลกตะวันตกเติบโตมาก


ภาครัฐควรมีบทบาทอย่างไรในเรื่องการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน

รัฐทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่รัฐทำได้โดยอ้อมก็คือ การจัดการกับระบบอุดมศึกษาให้มีคุณภาพ ระบบที่เป็นอยู่อย่างนี้มีผลกระทบต่อตลาดหนังสือถ้าระบบยังเป็นอยู่ในลักษณะนี้ตลาดหนังสือก็คงเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่รัฐจะกำกับตลาดหนังสือโดยตรงคงเป็นไปได้ยาก ผมยังนึกไม่ออกว่ารัฐจะทำได้อย่างไร การให้การสนับสนุนด้านเงินทุน (Subsidy) ในการผลิตหนังสืออาจไม่อยู่ในวิสัยของรัฐไทยด้วยซ้ำ หรือเอาง่ายๆ นโยบายในการสร้างห้องสมุดแห่งชาติหรือห้องสมุดประชาชนก็ยังไม่เคยมีอยู่ในรัฐบาลไหนเลย แล้วอย่างนี้เราจะสร้างวัฒนธรรมการอ่านได้อย่างไร

ห้องสมุดจะช่วยประชาชนกลุ่มที่มีวัฒนธรรมการอ่าน แต่ไม่มีอำนาจซื้อได้ แต่รัฐไทยไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ หรือแม้แต่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งออกกฎให้ผู้ผลิตหนังสือส่งหนังสือให้หอสมุดฯ แต่กฎเกณฑ์เหล่านี้ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติ (Enforcement Power) ไม่เคยมีบทลงโทษสำหรับสำนักพิมพ์ที่ไม่ส่งหนังสือเข้าหอสมุดฯ



..,

- - โลกนักเขียน - -

กรณีศึกษาของธุรกิจสำนักพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาที่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ แห่กันประมูลต้นฉบับจากนักเขียน หรือบุคคลผู้มีชื่อเสียง จนทำให้มูลค่าการประมูลสูงมากและเมื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือก็ไม่ได้สร้างยอดขายที่ดีเท่าไหร่ ทำให้หลายสำนักพิมพ์ประสบภาวะขาดทุน เหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นที่เมืองไทยได้หรือไม่

คงยาก คือสัปดาห์หนังสือในต่างประเทศ มันคืองานที่สำนักพิมพ์จะได้พบกับนักเขียน แล้วระบบทุนนิยมในธุรกิจสำนักพิมพ์มันก้าวไปอีกขั้นแล้ว นั่นคือ สำนักพิมพ์จ่ายเงินล่วงหน้าให้นักเขียนไปเขียนหนังสือ แล้วถ้าคุณเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง สำนักพิมพ์ก็จะแข่งกันประมูลยอดการจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อแย่งตัวคุณ โดยมีสัญญาว่าคุณจะต้องผลิตต้นฉบับออกมาให้เสร็จในวันเวลาที่กำหนด การจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อให้เขียนหนังสือในโลกตะวันตกไม่ได้มีแค่หนังสือในหมวดนิยาย ในหมวดหนังสือวิชาการก็มีเช่นกัน J.K.Rolling ได้รับเงินล่วงหน้าจากการเขียนนิยายเรื่อง Harry Potter และนักวิชาการก็อยู่ในฐานะที่รับเงินล่วงหน้าด้วยเช่นกัน แต่ผมไม่คิดว่าจารีตเช่นนี้จะเกิดขึ้นในเมืองไทย คือมันมีความไม่ไว้วางใจกันระหว่างนักเขียนกับสำนักพิมพ์


พัฒนาการของธุรกิจสำนักพิมพ์ในตะวันตกที่ไปถึงจุดนั้นได้นั้นส่งผลดีอย่างไรต่อวงการหนังสือบ้างครับ

มันก็ทำให้ตลาดมีโมเมนตัมอยู่ตลอดเวลา ตลาดมันก็ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ เพราะว่าจำนวนนักเขียน Bestsellers ไม่ได้มีจำกัด จำนวนนักเขียนก็ขยายตัวไปเรื่อยๆ แล้วในงานสัปดาห์หนังสือ เขาไม่ได้ขายหนังสือแบบขายปลีก แต่เป็นลักษณะการขายส่ง คือคนที่ไปเดินในงานเลือกซื้อหนังสือเพื่อนำไปขายในประเทศของตัวเอง แล้วในขณะเดียวกันสัปดาห์หนังสือก็เป็นพื้นที่ที่ให้นักเขียนได้พบกับสำนักพิมพ์

ในเมืองไทย นักเขียนประเภท Bestseller นิยมตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเอง เช่น วินทร์ เลียววาริณ ชาติ กอบจิตติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรืออย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็ผูกขาดอยู่กับสำนักพิมพ์สามัญชน ในสถานการณ์อย่างนี้ ตลาดที่ให้นักเขียนพบกับสำนักพิมพ์มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ตลาดมันก็ไม่เกิด คือนักเขียนที่รู้ว่ากลุ่มคนอ่านของตัวเองมีขนาดใหญ่พอก็ลงทุนตั้งสำนักพิมพ์เอง



อ่านต่อฉบับเต็ม จิตวิญญาณ + ภูมิปัญญา สองกระบวนท่าจากสำนักท่าพระจันทร์
ใน วารสารหนังสือใต้ดิน (Underground Buleteen) เล่มที่ 6

คลิกสั่งซื้อครบ Set วารสารหนังสือใต้ดิน ในราคาสุดพิเศษ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้