Last updated: 21 ส.ค. 2565 | 1604 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ The Jim Thompson Art Center ได้มีจัดงานเสวนา / เปิดตัว และพูดคุยกันถึงหนังสือ การเมืองทัศนา ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น สู่ความหมายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการร่วมกันของ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ห้องสมุด William Warren และ สำนักพิมพ์สมมติ
โดยงานวันนั้น มีผู้ร่วมเสวนาหลักคือ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ผู้เขียน รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์ ศิลปินไทยในออสเตรเลีย
บรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคักและเป็นกันเอง มีผู้สนใจเข้าฟังเสวนากันหนาตา บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน สวัสดีทักทายผู้ร่วมเสวนาและเหล่าผู้ฟัง โดยที่ก่อนจะเริ่มเข้าสู่ประเด็นต่างๆ ของงานเสวนา บัญฑิตได้เชิญชวนให้ทุกคนในงานวันนั้น ร่วมกันระลึกถึง ถนอม ชาภักดี ผู้ล่วงลับ ผู้เป็นอาจารย์ศิลปะ ศิลปินประชาธิปไตย และเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทนำของหนังสือการเมืองทัศนา
งานเสวนาเริ่มขึ้น บัณฑิตส่งต่อให้ เอกสิทธิ์ เทียมธรรม บรรณาธิการจากสำนักพิมพ์สมมติ เปิดประเด็นเล่าถึงหนังสือ การเมืองทัศนา ในมุมมองของสำนักพิมพ์
เอกสิทธิ์กล่าวถึงภาพรวมของเล่มว่าหนังสือเล่มนี้ "มีคุณูปการบางอย่างที่ช่วยให้เราได้เห็นบางอย่างที่กดทับเราอยู่ ที่เราอาจเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องปกติ
ส่วนในกระบวนการทำเล่ม ทางกอง บ.ก.กับผู้เขียนได้มีการปรับปรุงและได้ช่วยกันทำให้บทความประเด็นต่างๆ ที่เคยตีพิมพ์กระจัดกระจายอยู่ ให้กลับมารวมเป็นหัวข้อเดียวกัน หมวดเดียวกัน จนออกมาเป็นหนังสือ การเมืองทัศนา ถ้าใครได้อ่านก็จะเห็นการไล่เรียงลำดับที่อาจารย์บัณฑิตได้เขียนไว้ เป็นการปูพื้นทั้งหมดตั้งแต่ต้น ให้เห็นว่าการเมืองทัศนาคืออะไร วัฒนธรรมทัศนาคืออะไร"
"เราจะเห็นบรรยากาศตั้งแต่ต้น เราจะเห็นว่าพื้นที่ต่างๆ ที่เราอาศัยอยู่มันมีบางสิ่งบางอย่างครอบงำเราอยู่มากมาย หนังสือเล่มนี้เป็นตัวไขให้เรามาเห็นว่าเรามีความเคยชินกับบางสิ่งบางอย่างอยู่โดยที่เราไม่เคยตั้งคำถาม ไม่เคยสงสัย เพราะฉะนั้น คำว่าวัฒนธรรมทัศนาได้ถูกนำมาใช้ให้เราเกิดภาวะนั้นขึ้นมา"
ส่วนโครงสร้างและไอเดียปก เอกสิทธิ์กล่าวว่า "ตัวเล่มหนังสือได้จัดทำอย่างเป็นระบบ ไล่เรียงไปตั้งแต่บทที่ 1 ถึง 8 ถ้าได้อ่านก็จะได้เห็นลำดับไทม์ไลน์ที่อาจารย์บัณฑิตเรียบเรียงไว้ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของการเมืองทัศนา ไล่มาสู่การเมืองร่วมสมัย จะมีบทตอนศิลปะร่วมสมัยของไทยเองด้วย ในช่วงที่การเมืองแรงๆ ก็จะมีอยู่ในเล่มนี้ด้วย การทำปกหนังสือเล่มนี้ เบื้องต้นในอิมเมจของตัวชื่อเรื่องการเมืองทัศนาที่เราเห็นกันอยู่ หรือตัว Visual Politics เราคุยกันว่าเราจะรื้อ-สร้างทั้งหมดขึ้นมาใหม่แล้วเปลี่ยนกริดทั้งหมดขึ้นมาใหม่ ถ้าสังเกตฟอนต์คำว่าการเมืองทัศนา ก็คือการบิดเอาภาษาอังกฤษเข้ามาใช้ แล้วยืดหดตัวหนังสือให้เป็นภาษาไทย เพื่อบอกว่าสิ่งที่เราเห็นไม่ใช่สิ่งที่เราเข้าใจตั้งแต่ต้น แต่มันถูกทำให้เห็นด้วยกลไกใดกลไกหนึ่ง"
"ในเล่มจะมีภาพประกอบที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ สำคัญๆ ที่อาจารย์บัณฑิตได้ดรอปไว้ ยกตัวอย่างเช่นภาพที่อยู่ในปกหลังก็จะเป็น Camera Lucida ที่เป็นเหมือนกลไกหนึ่งในการฉายภาพในสมัยก่อน ที่ว่าต้องใช้ในการเป็นก็อปปี้ ก็เป็นกลไกของการสร้าง ผลิต ก่อนที่มันจะมาเป็นภาพหนึ่งภาพให้เราได้ตีความกัน" เอกสิทธิ์เล่าต่อ
ทางด้าน บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ผู้เขียนได้กล่าวถึงปกเล่มนี้ว่า "ประทับใจโจทย์เรื่องปก ในเรื่องของการเอารูปของ Paul Klee มา เรามักจะพูดถึง Angelus Novus ซึ่งเป็นเทวบุตรแห่งประวัติศาสตร์ที่กำลังต่อสู้กับลมที่พัดตรึงปีกของเขาไม่ให้ขยับเขยื้อนไปข้างหน้า ถึงแม้ว่าเขาอยากจะไปข้างหน้า แต่เขาไม่สามารถไปได้เพราะว่าสิ่งที่เขามองเห็นคืออดีต นึกภาพตัวเองมองไปยังอดีต เราอยากจะกลับไปแก้ไขอดีต แต่ทำไม่ได้เพราะสายลมแห่งประวัติศาสตร์มันตรึงปีกของเรา จนไม่สามารถต้านทานได้ เราทำได้เพียงแค่มองอดีตอย่างสิ้นหวังแล้วก็ลอยห่างออกจากอดีตของเราไปสู่อนาคต นี่คือสิ่งที่เรียกว่า เทวบุตรแห่งประวัติศาสตร์"
หลังจากนั้น ยุกติ มุกดาวิจิตร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนคำนำ (ทฤษฎีการเมืองของการทัศนา) กล่าวถึงการเมืองทัศนาว่า "ผมจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าการเมืองทัศนาแต่ว่าขยายออกไปหน่อย จากความสนใจของผมเรื่อง ผัสสะ ซึ่งคิดว่าน่าจะช่วย อย่างน้อยก็สำหรับตัวเอง ในการที่จะลองเฟรมหนังสือเล่มนี้ไปในโลกของการศึกษาผัสสะ เรื่องความหมายของผัสสะ ไม่รู้จะแปลอย่างไรดี ตอนนี้ใช้ประสบผัสสะ มาจากเอ็กซ์พีเรียนซ์ต่างๆ ที่เรามีต่อโลก ผ่านอายตนะต่างๆ ผ่านการรับรู้ ผ่านประสาทการรับรู้ต่างๆ ไม่ชอบคำว่าประสบการณ์เพราะว่าคำว่าประสบการณ์ในภาษาไทยมันถูกทำให้เสื่อมด้วยการที่มีความคิดในเชิงอดีตเข้ามาแทรก"
"ความหมายของการทัศนา เรียกว่า Visual experience หรือประสบผัสสะทัศนา หรือประสบทัศนา การทัศนาเป็นส่วนหนึ่งของประสบผัสสะหรือประสบการผัสสะต่างๆ ที่มนุษย์มี บางคนอาจจะบอกว่ามีการเห็น การได้ยิน การรับรส การรับกลิ่น การสัมผัส ต่อคำถามว่าผัสสะมีแค่ห้าอย่างข้างต้นนี้หรือเปล่า และห้าอย่างนี้มันแยกกันจริงหรือเปล่า หรือมันเป็นความเข้าใจของมนุษย์ หรือความเข้าใจของมนุษย์ตะวันตกที่เราแยกว่ามันมีห้าอย่าง ได้มีการศึกษาทาง EuroScience ที่บอกว่าใครที่มองไม่เห็น สมองส่วนที่รับรู้โลกผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ มันไม่ได้หายไป มันไปทำงานที่จะรับรู้ในส่วนอื่นๆ หมายความว่าจมูกคุณก็จะมีพื้นที่ของสมองที่มาช่วยจัดการมากขึ้น หูของคุณก็จะมีพื้นที่ของสมองที่จะช่วยจัดการมากขึ้น เพราะมันแบ่งพื้นที่ของสมองที่จะต้องถูกใช้กับการมอง ประเด็นคือ สมมติว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า Homo sapiens ไม่ได้มีตาอีกต่อไปเราก็ยังรับรู้โลกได้ ด้วยประสาทสัมผัสอื่นๆ หรือพูดอีกอย่างคือ ถ้ากลับกัน สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีประสาทสัมผัสอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้มีตา เช่นปลาที่มันอยู่ใต้น้ำลึก มันไม่ได้มองเห็นแต่มันก็รับรู้โลกได้ ด้วยประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ"
ยุกติกล่าวต่อว่า "หรือบางทีประสาทสัมผัสที่เรามีมันทำงานมากกว่าแค่การมองเห็น มีคนพูดถึงฟีโรโมนซึ่งเรารับรู้ มันไม่ใช่แค่กลิ่น มันคือการรับรู้ด้วยอะไรบางอย่าง ที่เราอาจจะรู้จักมันน้อย เราคอนเซ็ปต์ชวลไลซ์มันไม่ได้ เราไม่มีภาษาให้กับมัน ถ้าเราฝึกมากขึ้นเราอาจจะมีก็ได้ ต้นไม้สื่อสารกับแมลงอย่างไร มันใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ถึงที่สุดแล้วถ้าเราสลายเส้นนี้ไปเลย ว่ามีเส้นกั้นระหว่างการเห็น การได้ยิน การรับรู้ การรับลิ้นการอะไรต่างๆ ทั้งหมดนี้มันทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นคุณไม่ได้กินอาหารเฉพาะจากรสและกลิ่นและสัมผัสของอาหาร แต่ว่าคุณดูมันด้วย ถามว่าคุณได้ยินมันหรือเปล่า ก็ไม่แน่นะครับ เพราะว่าการกินคุณเคี้ยวมัน คุณได้ยินมัน ถ้าหูคุณไม่หนวกคุณก็ได้ยินมัน คุณได้ยินอาหารด้วย ทั้งหมดนี้มันประกอบเป็นสิ่งที่เรียกว่าประสบผัสสะของมนุษย์"
"การทัศนาคืออะไร มันเป็นแค่การรับรู้โลกเพียงส่วนเดียว แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าเราเห็นและไม่เห็นต่างกันแม้เราจะมองสิ่งเดียวกันอยู่ การมองกับการเห็นจึงไม่เหมือนกัน ง่ายที่สุดที่จะพิสูจน์สิ่งนี้คือ การเห็นสี การเห็นสีในสังคมต่างๆ เราเห็นไม่เหมือนกันนะครับ ง่ายที่สุดคือคุณดูเจเนอเรชั่น สีที่พิสูจน์การเห็นกับการมองว่ามันไม่เหมือนกันก็คือสีเขียว สีเขียวในเจเนอเรชั่นก่อนหน้านี้ เจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์แอนด์บีฟอร์เขาไม่แยกระหว่างสีเขียวกับสีน้ำเงิน พูดง่ายๆ คือมันไม่มีสีน้ำเงิน อันนี้แค่เฉพาะในสังคมไทยนะ"
"ในโลกนี้มีคนเห็นสีไม่เหมือนกัน เพราะว่าการเห็นสีถูกกำกับด้วย conceptualization ที่เรามีต่อการ classified สี เพราะฉะนั้นคุณเอาแถบสีมาวางแถบสีเดียวกัน คนที่โตขึ้นมาในภาษาหนึ่งให้ดู คุณเรียกว่าสีอะไร มันอาจจะคนละสี และมีแนวโน้มว่าจะเป็นแบบนั้นได้มาก กับคนที่พูดอีกภาษาหนึ่ง เพราะฉะนั้น โลกที่เรามอง โลกที่เราเห็นไม่เหมือนกัน เรามองสิ่งเดียวกันแต่เราไม่ได้เห็นสิ่งเดียวกัน ความแตกต่างตรงนี้มันเกิดขึ้นมาจากอะไร บางคนบอกว่าเป็นเรื่องของสังคมวัฒนธรรม บางคนบอกว่าเป็นเรื่องของภาษา แต่อาจารย์บัณฑิตบอกว่าเป็นเรื่องการเมือง ถ้าเราเชื่อตามนี้ก็คือการที่เราเห็นไม่เหมือนกันมาจากการเมือง หรือเสนอไปเลยว่าเราเห็นไม่เหมือนกันมาจากการเมือง การทัศนาจึงเป็นการเมืองเสมอ"
"การเห็นไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติแต่เป็นการประสบต่อ การเห็นไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติแต่เป็นการประสบต่อก้อนของอะไรบางอย่าง ก้อนของบางอย่างที่เรา-คือมนุษย์ตีความมันเสมอ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า สัญญะ หรือ Sign ทุกอย่างมันจึง-อย่างน้อยที่สุดในการรับรู้ของมนุษย์ เป็นสัญญะ จริงๆ แนวคิดเรื่องสัญญะมันขยายเกินไปกว่าการพูดถึงแค่มนุษย์แล้ว เพราะว่าเครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์มันรับรู้สัญญะได้เหมือนกัน มันรับรู้เรา มันฟังเราตลอดเวลา ในขณะที่เราเก็บข้อมูลจากมันมันเก็บข้อมูลจากเรา มันฟังเราตลอดเวลา มันรับรู้สัญญะเหมือนกัน"
ยุกติกล่าวถึงการรับรู้ของมนุษย์ไว้ว่า "การรับรู้ของมนุษย์ธรรมดา มนุษย์ทั่วไปก็คือ สิ่งที่เราประสบ เราประสบต่อสิ่งที่เราแปลงมันเป็นสัญญะ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้ประสบต่อความเป็นไปของสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น คือมนุษย์ไม่ได้รับรู้สิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็นอย่างตรงไปตรงมา เราให้ความหมายกับมันเสมอ ตรงนี้ที่การเมืองเข้ามา เพราะว่าสัญญะไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ด้วยตัวของมันเอง แล้วมันถูกประทับความหมาย แล้วมันถูกต่อรองความหมายอยู่ตลอดเวลา สี ความหมายของสี มีอะไรบางอย่างที่ถูกสถาปนาให้เข้าใจใกล้ๆ กัน แต่อะไรบางอย่างที่มันหลุดได้ ไม่นิ่ง อะไรที่นิ่ง-คือสิ่งที่มันไม่ใช่ข้อต่อรองแบบสัญญาประชาคม แบบเรามาโหวตกันนะว่าสีน้ำเงินหมายถึงสถาบันกษัตริย์ เรามาโหวตกัน ไม่เคยมีการโหวตเหล่านั้น มีแต่ใครไม่รู้บอกมา และใครที่บอกมามันเป็นคนที่มีอำนาจ"
"สิ่งที่เราประสบรับรู้มาทั้งหมดมันจึงกลายเป็นการตกลงที่สังคมกำหนดขึ้นมา เพราะฉะนั้นสัญญะคือสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมาแล้วมีกระบวนการของการเมืองเสมอ เราสาดประสบทัศนาใส่กันตลอดเวลา คุณออกจากบ้าน คุณแต่งตัว นี่คือคุณทำอะไรบางอย่างกับตัวคุณ คุณสร้างประสบทัศนาต่อคนอื่น เรากำลังคิดว่าเราจะไปไหน เราจะแต่งตัวยังไง เราสร้างประสบทัศนาอย่างหนึ่ง คุณตัดผมแบบนั้นแบบนี้ คุณย้อมผม เราแต่งหน้า เราทำสารพัดอย่าง จริงๆ เราทำมากกว่านั้นก็คือ เราสร้างประสบผัสสะต่อกันเสมอ เราจัดการกับประสบผัสสะอยู่ตลอดเวลา นี่คือการเมืองในชีวิตประจำวัน ผมกำลังจะบอกไปไกลกว่านั้น ศิลปะจึงเป็นแค่รูปแบบหนึ่งของการจัดการกับประสบผัสสะที่มี เพียงแต่ว่าศิลปินคิดมากกับอะไรบางอย่าง กับประสบผัสสะที่เขาต้องการที่จะจัดการกับมัน"
"เพราะฉะนั้น แม้แต่ประสบทัศนาทั่วๆ ไป มันยังเป็นการเมือง ประสบทัศนาที่เรียกว่าเป็นศิลปะมันจะไม่เป็นการเมืองได้ไง มันมีอยู่แค่ว่าคุณไม่รู้อะไรเลยในสิ่งเหล่านี้ซึ่งผมไม่ได้ว่าอะไร เพราะว่าคุณก็ไม่รู้ได้ ไม่ได้แปลกอะไร หรือไม่ก็คุณตามน้ำมันไปเท่านั้นเอง ถ้าคุณบอกว่าศิลปะไม่มีการเมือง-แค่คุณบอกว่าอันนี้สีเขียวอันนี้สีน้ำเงินนี้ก็มีการเมืองแล้ว คุณไม่ต้องไปพูดถึงว่าอันนี้งามอันนี้ไม่งาม เพราะฉะนั้น ศิลปะเป็นประสบทัศนาที่ถูกจัดวาง ถูกจัดสร้าง ถูกประกอบสร้างอย่างหนึ่ง แล้วมันจึงมีการเมืองเสมอ"
"ถ้าเรามองให้มันไกลไปกว่านั้น กลับไปที่จุดตั้งต้นที่ผมบอกว่าการทัศนามันเป็นแค่ประสบผัสสะแบบเดียว หนังสือเล่มนี้ชวนให้เราสนใจการเมืองของประสบผัสสะ แต่ว่าผมอยากจะชวนให้คิดเลยไปอีกหน่อยหนึ่งว่ามันยังมีเรื่องอื่นๆ ในชีวิตเรา หมายถึงมันยังมีประสบผัสสะอื่นๆ ในชีวิตเราที่เรายังต้องสู้กันอีกเยอะ ที่มันมีการเมืองทั้งนั้น เราถูกบังคับให้มอง นี้เรารู้กันอยู่แล้ว แล้วมันก็ใช้ความงาม ใช้คำอธิบายเชิงศิลปะ เราถูกบังคับให้มองภาพที่มีทุกถนน เราถูกบังคับให้มองสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราถูกบังคับให้ฟังเพลงที่ต้องเปิดทุกวัน เพลงที่ต้องเปิดทุกมหรสพ เราถูกบังคับให้ฟัง"
"ผัสสะของเราถูกควบคุมอย่างตายตัวมาก และเราถูกบังคับให้ดื่มได้เฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตโดยบริษัทที่เป็นทุนขนาดใหญ่เท่านั้น นอกจากว่าคุณจะมีเงินที่จะยอมจ่ายภาษีสำหรับนำเข้า นี่คือการเมืองของประสบผัสสะ นี่มันมากไปกว่าการเมืองทัศนา แต่เราเริ่มจากการเมืองทัศนาได้ แล้วเราจะขยับต่อไปอย่างไร" อาจารย์ยุกติกล่าวสรุป
ต่อมา ได้มีการต่อสายพูดคุยกับคุณธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์ ศิลปินไทยที่พำนักอยู่ในเมลเบิร์นผ่านทางวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ โดยธิติบดีได้กล่าวถึงหนังสือการเมืองทัศนาในมุมมองของศิลปินว่า "อาจารย์บัณฑิตย่อยภาษาวิชาการออกมาให้ง่าย ทำให้หนังสือเล่มนี้อ่านง่าย เหมาะสำหรับนักศึกษา โดยเฉพาะถ้าใครอยากเริ่มต้นกับเรื่อง Visual Art เล่มนี้น่าสนใจมาก เพราะว่าอาจารย์บัณฑิตย่อยนักปรัชญาหลายๆ คนออกมาให้อ่านง่ายมาก เวลาเราสนใจในหัวข้อประเด็นไหน ไม่ว่าจะถอดเชิงสัญญะของ Roland Barthes เราก็สามารถไปอ่านต่อในนักปรัชญาคนนั้นๆ เจาะจงได้"
"บทแรกทำให้นึกถึงตอนเด็กสมัยเป็นนักศึกษาอยู่ ที่อ่านงานพวกนี้แล้วเราก็เริ่มเข้าใจกับการอ่านงานศิลปะ แล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นวิธีหนึ่งในการอ่านงานศิลปะ เมื่อได้ขบคิดถึงงานศิลปะ หรือบทความ นักปรัชญาพวกนี้ มันเป็นการมองแบบ Eurocentric คือการเริ่มจากยุโรปเป็นศูนย์กลาง วิธีคิดอะไรพวกนี้มันยุโรป เมื่อเริ่มเป็นศิลปินเราก็ได้พื้นฐานจากตรงนี้ และเราพยายามสร้างภาษาของตัวเอง เล่มนี้ทำให้เราย้อนกลับมาคิดกับวิธีการแบบนี้เวลาเราสร้างงานไม่ให้อิงกับการเป็น Eurocentric มากเกินไป เพื่อสร้างภาษาของตัวเอง"
ต่อประเด็นศิลปะกับการเมือง อาจารย์ยุกติได้แชร์เรื่องนี้ไว้ว่า "มีคำถามที่คนในโลกเขามองประเทศไทยตอนนี้อยู่ หรืออย่างน้อยคนในโลกวิชาการสากลเขามองประเทศไทยตอนนี้อยู่ คือ ทำไมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน ทำไมถึงมีมิติทางศิลปะสูงมาก หรือพูดอีกอย่างคือ ทำไมการเมืองจึงอาร์ตฟูล การเมืองไทยมีความเป็นศิลปะสูงมากตอนนี้ นี่เป็นโจทย์ที่-หมายถึงว่า เวลาเราอยู่ในสังคมนี้มากๆ เราอยู่ในน้ำนี้เรามองไม่เห็นน้ำนี้ ว่าน้ำนี้มันเป็นยังไง เราว่ายอยู่ในนี้เราไม่รู้ บางทีเราไม่รู้ตัวแต่คนอื่นเขามองมาแล้วเห็นชัด แล้วเราจะอธิบายสิ่งนี้่ยังไง เราจะเข้าใจมันยังไง มันท้าทายเพราะยังไม่มีใครอธิบายให้ชัดเจน ทำไมการเมืองไทยในปัจจุบันมันอาร์ตฟูล"
บัณฑิตเสริมว่า "มันมีการรับเอาโมทีฟจากแนวทางการเคลื่อนไหว วิธีปฏิบัติการแบบศิลปะ เข้าไปสู่กระบวนการทางการเมือง เพราะว่าการพูดถึงเรื่องราวการเมืองแบบปกติมันเกิดขึ้นไม่ได้ ก็เลยต้องแฉลบ นี่คือคำอธิบายเบื้องต้น ในความเป็นจริงต้องลงไปอีกระยะหนึ่งจะเข้าใจปรากฏการณ์ เพราะว่ากว่ามันจะตกตะกอนให้เราเห็นว่านี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น - What is heppening in Thailand? มันเป็นโจทย์ใหญ่มากๆ"
หลังจากนั้นได้มีการกล่าวเพิ่มเติมถึงเนื้อหา โดยเอกสิทธิ์กล่าวว่า "ภาพรวมทั้งหมดของตัวเล่ม จะเป็นกลิ่นอายในการพาเราไปรู้จักสิ่งต่างๆ หรือในคอนเซปต์ชวลทั้งหลาย หรือไอเดียลที่-ในเวิร์ดดิ้งทั้งหลายที่เราคุยกันไป มันดำรงอยู่ในเล่มนี้โดยที่ถูกเขียน หรือยกตัวอย่าง หรือเป็นบิ๊กอีเวนท์ที่เป็นงานศิลปะ ในเล่มมีบทกล่าวนำ ทั้งจากอาจารย์ถนอมและอาจารย์ยุกติ เป็นเหมือนไกด์ไลน์หรือทางลัดอะไรบางอย่างในการพาเรา-บิ๊วท์ให้เราเห็นบรรยากาศ เห็นสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่"
"ในหนังสือมีแชปเตอร์ที่มาจากงานวิจัยโครงการที่ผมร่วมกับศาสตราจารย์ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ด้วยนะครับ หนังสือเล่มนี้มีแรงบันดาลใจมาจากหลายส่วน มันเป็นผลจากการคิดในรอบเป็น 10 ปี" อาจารย์บัณฑิตกล่าวเสริมตอนท้าย
เมื่อถึงช่วงตอบคำถาม รอนฝันตะวันเศร้า กวีหนุ่มผู้เขียนหนังสือ 'ประเทศไร้ทรงจำ' ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และกล่าวถึงเนื้อหาบางส่วนว่า ในบทที่ 5 ทำให้เห็นคอนเซปต์ของการเมืองทัศนาในแง่ของการปะทะกันระหว่างคำว่า ศิลปะเพื่อศิลปะ ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อการเมือง และกล่าวว่าเป็นม็อตโต้ที่ค่อนข้างร่วมสมัย
บัณฑิตได้กล่าวเสริมว่า "วอลเตอร์ เบนจามิน พยายามทำลายความรับรู้ดั้งเดิมที่พูดถึงศิลปะในฐานะที่เป็นความดีอันยิ่งใหญ่ ความดีอันสูงส่ง ให้มาเป็นเรื่องที่เราต้องใช้ศิลปะเพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราใช้ศิลปะเพื่อเปลี่ยนแปลง เราอย่ายอมให้ศิลปะเป็นเรื่องของความงาม หรือจำกัดไว้เพียงแค่สวยไม่สวย สูงส่งต่ำต้อย ศิลปะคือศิลปะ ศิลปะคือสิ่งที่เรากระจายมันได้เต็มที่ แล้วก็ใช้มันเพื่อเปลี่ยนแปลง ให้เป็นสังคมที่แบนราบมากขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตย มีความรับฟังความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น"
หลังจากนั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนและตอบคำถามต่อ ก่อนที่อาจารย์บัณฑิตเป็นตัวแทนกล่าวขอบคุณวิทยากร ทีมงานผู้เกี่ยวข้อง และผู้ฟัง เป็นการปิดการเสวนา.
11 ม.ค. 2564
17 ต.ค. 2563
26 ธ.ค. 2565