Last updated: 11 มิ.ย. 2566 | 863 จำนวนผู้เข้าชม |
สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปฏิบัติการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของปัจเจกชน ที่ต้องการออกไปทำมาหากินและการไต่เต้าทางชนชั้น โดยสถาบันการศึกษาต้องตอบสนองต่อปัจเจกชนและตลาด มากกว่าจะเป็นแค่ประโยชน์สาธารณะ (public good) แบบที่เกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาในช่วงของการสถาปนารัฐประชาชาตินับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จากที่กล่าวมา มหาวิทยาลัยและบุคลากรต้องทำหน้าที่เพิ่มมากขึ้น อัตตาที่เป็นหรือมีเพียงมิติเดียว (uni) บ่งบอกถึงความไร้ความสามารถ และด้วยข้อจำกัดของงบประมาณคนหนึ่งคนต้องทำอะไรได้หลายอย่าง โครงสร้างของมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็น ‘uni’ อีกต่อไป แต่เป็น ‘multi’ หรือ ‘multiversities’
..,
การตอบสนองของสถาบันการวิจัยชั้นสูงและมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยที่ตอบโจทย์ของตลาดและเศรษฐกิจ ย่อมไม่ใช่ปรากฏการณ์พิเศษของปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 ‘สถาบันการศึกษาชั้นสูงตอบสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจและการเมือง’ เป็นปรากฏการณ์สำคัญของการขยายตัวของสถาบันเพื่อการวิจัย หรือ ‘มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย’ เป็นปรากฏการณ์ทางการศึกษาที่สำคัญของพัฒนาการของรัฐเยอรมันในช่วงก่อนและหลังการรวมชาติเยอรมนี กรอบความคิดของมหาวิทยาลัยเยอรมันเคยต้องการความเป็นเอกเทศ โดยกรอบความคิดความเป็นเอกเทศของมหาวิทยาลัยดำเนินไปด้วยความคิดแบบมนุษย์นิยม แต่ด้วยพลังของสงครามนโปเลียนและระเบียบรัฐระหว่างประเทศหลัง Congress of Vienna (1815) ภายใต้ปฏิบัติการของ คลีแมนส์ ฟอน เม็ตเทอร์นิช (Prince Klemens von Metternich) ได้ทำให้วิถีมหาวิทยาลัยแบบมนุษย์นิยมและชนชั้นกระฎุมพี รวมถึงชาตินิยมเยอรมัน อ่อนพลังลง ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยต้องตอบสนองต่อชนชั้นสูง สภาวะของมหาวิทยาลัยจึงแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของยุคสมัย
ความพยายามนำเสนอสถานะของมหาวิทยาลัยที่ไร้ซึ่งเวลาหรือเวลา (timeless) ตามสำนึกแห่งรัฐประชาชาติ เป็นเพียงความคิดอุดมคติ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยที่ไร้ซึ่งมิติทางประวัติศาสตร์เป็นเพียงการสร้างกรอบความคิดที่เป็นนามธรรมให้มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาในระดับสูงก็เหมือนกับสิ่งอื่นที่มักได้รับการยกให้เป็นเอกเทศหรือบริสุทธิ์ ธุรกิจและการเมืองไม่อาจทำให้แปดเปื้อนได้ แต่ความบริสุทธิ์เป็นเพียงอุดมคติที่สำคัญ ประวัติศาสตร์ความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยแบบเยอรมันกลับบ่งบอกเส้นทางสำคัญของมหาวิทยาลัยกับการสถาปนา Triple Helix มหาวิทยาลัยที่ทรงคุณประโยชน์ดำเนินไปตามคำก็คือเป็นประโยชน์ เมื่อเป็นประโยชน์ก็นำไปปฏิบัติได้ มหาวิทยาลัยจึงมีหน้าที่สำคัญในการรับใช้ แต่จะรับใช้ใครก็ขึ้นอยู่กับยุคสมัย เช่น รับใช้พระ รับใช้รัฐประชาชาติ หรือทุนนิยม
นับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 โดยเฉพาะอย่างยิ่งทศวรรษ 1980 สำหรับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และขยายตัวไปยังมหาวิทยาลัยของประเทศพูดภาษาอังกฤษทั้งหลาย กรอบการบริหารงานและการผลิตความรู้พุ่งเป้าสู่ตลาด ปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นปฏิบัติการของพระเพื่อพระผู้เป็นเจ้าหรือแม้กระทั่งรัฐประชาชาติอีกต่อไป แต่เป็นปฏิบัติการตลาดที่ต้องการการแข่งขัน กล่าวอีกนัยคือ กระบวนการทำให้สถาบันการศึกษาชั้นสูงเป็นกลไกของระบบทุนนิยมที่ยังดำเนินไปตามโลกาภิวัตน์ ซึ่งก้าวข้ามพ้นข้อจำกัดของรัฐประชาชาติ แม้ยังไม่ก้าวข้ามอย่างสมบูรณ์แบบก็ตาม โลกาภิวัตน์ทำให้ทุกฝ่ายเข้ามาอยู่ในตลาดที่มีทั้งการร่วมกันและการแข่งขันเดียวกัน
สำหรับทุนนิยมวิชาการ การแข่งขันกันยังเป็นไปเพื่อมีรายได้จากแหล่งทุนตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปของเงินให้ สัญญา (grant & contract) เงินตั้งต้น (endowment funds) การสร้างสายสัมพันธ์ธุรกิจอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัย เช่น Stanford Research Park (1951) กับ Silicon Valley หรือ เฟรเดอริค เทอร์แมน (Frederick Emmons Terman) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าแห่ง Stanford University กับสายสัมพันธ์ บิล ฮิลเล็ตต์ (Bill Hewlett) และ แฟรงก์ แพ็คการ์ด (Frank Packard) จนกลายเป็นบริษัท Hewlett & Packard นอกจากนี้ยังมีการลงทุนเชิงสถาบันกับบุคลากรระดับศาสตราจารย์ที่มีผลงานในการพัฒนาและต่อยอดเชิงธุรกิจจากงานวิจัย เช่น Cornell-Tech (2012) ที่เป็นการร่วมมือกันของมหาวิทยาลัย Cornell กับ Technion-Israel Institute of Technology ตลอดจนเงินรายได้ที่มาจากนักศึกษา หรือรายได้ของมหาวิทยาลัยจากการเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น เช่น จากปี 1997 ถึง2006 รายได้ของมหาวิทยาลัยในแคนาดาเพิ่มจาก 17% เป็น 21%
การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแบบธุรกิจและมีประโยชน์ในเชิงการตลาด กลายมาเรื่องสำคัญของฝ่ายหนึ่งที่เน้นถึงวิชาที่ตอบสนองต่อตลาดงานและการพัฒนานวัตกรรม ดังนั้น บางวิชาจำเป็นต้องปิดไปเพราะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งกลับเห็นว่าวิชาในมหาวิทยาลัยที่ไม่ตอบสนองต่อตลาดหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้เป็นตัวถ่วง เช่น สังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษยศาสตร์ จนนำไปสู่ประเด็นถกเถียงเรื่อง ‘วิกฤติมนุษยศาสตร์’ (crisis of Humanities) ที่เรียกร้องให้ปรับตัว ไปจนถึงปกป้องต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของมนุษยศาสตร์
บางส่วนจากเล่ม On Academic Capitalism in the age of neoliberalism
ว่าด้วยทุนนิยมมหาวิทยาลัยในสภาวะเสรีนิยมใหม่ โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา