Last updated: 3 เม.ย 2566 | 1425 จำนวนผู้เข้าชม |
ความยุติธรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงมีความหมายแตกต่างกัน อย่างแรก ความยุติธรรมในความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐบาล
อย่างที่สองคือ ความยุติธรรมในกระบวนการทางกฎหมายบนฐานของการปกครองนิติรัฐและความจริง และอย่างที่สาม ความยุติธรรมในความหมายของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม มีศักดิ์ศรี และสิทธิเสรีภาพ
ความหมายของความยุติธรรมเหล่านี้ถูกนิยามแตกต่างกันโดยแรงขับทางวัฒนธรรมของอารมณ์ อุดมการณ์ ปัญหาความขัดแย้งภายในบริบทและตำแหน่งแห่งที่ของผู้สนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเสื้อสีแดง
อย่างเช่นประสบการณ์ความเจ็บปวดและสูญเสียจากความพ่ายแพ้ช่วงการชุมนุมประท้วงเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ในกรุงเทพฯ ที่นำไปสู่การดิ้นรนต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในกระบวนการทางกฎหมาย
อีกทั้งการระลึกถึงทางสังคมต่อความจริงที่เกิดขึ้นของกลุ่มคนเสื้อแดงหัวก้าวหน้าและหัวก้าวร้าว โดยปราศจากการสนับสนุนจากกลุ่มเสื้อแดง นปช. ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย
การที่รัฐกดปราบสิทธิของผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองหรือต่อต้านรัฐบาลโดยการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาไทย นำไปสู่การกระตุ้นความรู้สึกต่อต้านสถาบันกษัตริย์ที่มีมากขึ้นของกลุ่มเสื้อแดง
ซึ่งกระทบความเชื่อของผู้คนในอำนาจและความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐไทยที่กษัตริย์เป็นศูนย์กลางความถูกต้องทางศีลธรรม อีกทั้งที่มาของแหล่งความชอบธรรมทางการเมือง และการเป็นบุคคลที่เป็นที่เคารพสูงสุดและอยู่เหนือการเมืองมานานด้วยเช่นกัน
พัฒนาการของกลุ่มคนเสื้อแดงจึงสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของการรับรู้ของผู้คนที่มีต่อระบบอำนาจและความชอบธรรมทางการเมืองที่ศูนย์กลางอยู่ที่สถาบันกษัตริย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความรุนแรงของรัฐ รวมถึงปัญหาความอยุติธรรมได้กระตุ้นให้ผู้ประท้วงเสื้อสีแดงจำนวนมากกลายเป็นและสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงหัวก้าวหน้าและหัวก้าวร้าว
กล่าวได้ว่า การกระทำและความคิดทางการเมืองของพวกเขาก่อรูปโดยอารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวด เกลียด กลัว และโกรธ ที่มาพร้อมกับประสบการณ์และตำแหน่งแห่งที่เฉพาะในบริบททางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
ความหมายของการเมือง ประชาธิปไตย และความยุติธรรม จึงเป็นความหวังและคุณค่าในชีวิตประจำวัน และกระตุ้นให้พวกเขาร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วยแรงขับทางวัฒนธรรมของอารมณ์และอุดมการณ์
‘ความชอบธรรมทางการเมือง’ ของคนเสื้อแดงจึงมาจากหลักนิติรัฐและฉันทมติทางการเมืองของผู้คนและการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ความหมายทางการเมืองและแหล่งที่มาของอำนาจความชอบธรรมนี้จึงแตกต่างสิ้นเชิงกับความชอบธรรมทางการเมืองของระเบียบการเมืองบนฐานของชุมชนศีลธรรม
การเมืองไทยเผชิญกับปัญหาความแตกแยกในสังคมใน ‘ความหมายหรือความเข้าใจความจริง’ และ ‘ความชอบธรรมทางการเมือง’ ที่ไม่อาจสร้างความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึก และอุดมการณ์ร่วมต่อความจริงทางการเมือง รวมถึงความชอบธรรมในแบบชุมชนศีลธรรมของระเบียบสังคมและการเมืองไทยได้อีกต่อไป
นับว่าเป็นความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในความขัดแย้งระหว่างการแบ่งกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงในสังคมไทย ซึ่งก็คือการต่อสู้ช่วงชิงความหมายทางการเมือง ประชาธิปไตย รวมถึงความยุติธรรมจาก ‘อารมณ์ทางวัฒนธรรม’ และ ‘ประเด็นความขัดแย้ง’ ที่ต่างกันของกลุ่มคนที่สนับสนุนกลุ่มเสื้อสีเหลืองและเสื้อสีแดง
และได้สะท้อนความหลากหลายของความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ความขัดแย้ง และกลุ่มย่อยในสังคมในทั้งสองขบวนการทางการเมือง
..,
บางส่วนจาก บทที่ 4 ในเล่ม มหาบุรุษแห่งชุมชนศีลธรรม
วัฒนธรรมอำนาจนิยมและอารมณ์เชิงวัฒนธรรมไทย
ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช : เขียน
ยศ สันตสมบัติ และ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : คำนิยม
สั่งซื้อหนังสือ คลิก