Last updated: 21 ม.ค. 2567 | 544 จำนวนผู้เข้าชม |
ในบรรยากาศกึ่งเงียบของงานหนังสือที่ผ่านๆ มา มักมีนักอ่านเข้ามาสอบถามที่หน้าบูธทำนองที่ว่า บูธของเรามีหนังสือประเภท ‘พัฒนาตัวเอง’ ไหม?
เรานึกทบทวนอยู่ราวๆ ครึ่งนาที (จริงๆ ก็ตอบได้ทันที แต่อยากคิดและใช้เวลาอีกสักนิดเพื่อให้เกียรติคำถาม) แน่นอนว่า คำตอบอย่างเรียบง่ายคือ ‘ไม่มี’ สำนักพิมพ์เราไม่มีหนังสือประเภทเหล่านั้น . . .
แต่เพื่อไม่ให้เสียโอกาสอันน้อยนิด - นี่คือโอกาสของเราที่จะทึกทักเผื่อผู้อ่านด้วย - เราจึงอยากเชิญชวนนักอ่านที่โชคชะตานำพาให้พลัดหลงมาถึงหน้าบูธ เอ่ยต่ออย่างเป็นมิตรและสุภาพที่สุดว่า ‘หนังสือพัฒนาตนเอง’ ในบูธไม่มีจริงๆ ครับ แต่จะมีเป็นแนวทางอื่น พอจะสนใจไหมครับ เราเรียกมันว่า ‘หนังสือทบทวนตนเอง’ อย่างไม่เอิกเกริก นักอ่านคงเห็นว่ายังพอมีเวลา เลยเปิดโอกาสให้เราแนะนำหนังสือประเภทข้างต้น
‘แล้วมันเป็นอย่างไรกัน หนังสือทบทวนตนเอง!?’
คืออย่างนี้ครับ หนังสือประเภททบทวนตัวเองที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ อาจเหมารวมๆ อย่างเร็วๆ ว่า ‘วรรณกรรม’ กล่าวคือ ด้วยข้อได้เปรียบที่ว่าวรรณกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องแต่ง มันจึงนำเอาความจริงมาสรรค์สร้างได้อย่างตรงไปตรงมาบนพื้นฐานของวรรณศิลป์และการเขียน
อีกทั้งวรรณกรรมเหล่านี้ล้วน 'ผ่านกาลเวลามาเกินกว่าศตวรรษ' หลายเรื่องหากได้ผ่านตาก็พอจะพูดได้ว่ามันออกจะ 'เป็นความจริงที่ยิ่งกว่าความจริง' เสียอีก
เรื่องราวในหนังสือเหล่านี้ ต่างบันทึกบาดแผลความเจ็บปวดของผู้คนมาจากทั่วทุกมุมโลก ความเจ็บปวดจากเหล่าผู้มีอำนาจทั้งหลาย ความเจ็บปวดจากกรอบศาสนาและศีลธรรม ความเจ็บปวดจากเหล่าเผด็จการ กระทั่งความเจ็บปวดจากมนุษย์อย่างเราๆ ที่กระทำต่อกันเอง
มันเป็นความจริงอันเจ็บปวดมาจากทุกยุคสมัย แม้บริบทแวดล้อมอาจปรับเปลี่ยนแปรรูปไปตามแต่ละสังคมหรือยุคสมัย แต่โดยเนื้อแท้ สิ่งที่เกิดแล้วในโลกตะวันตก มันย่อมเกิดอีกเช่นกันในโลกตะวันออก เป็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เป็นความมืดและความสว่าง ไม่ว่าเราจะอยู่ ณ จุดไหนของโลกใบนี้ เราย่อมรับรู้และสัมผัสได้ในสิ่งเดียวกัน สัมผัสของน้ำตา ไม่ว่าจะไหลมาจากดวงตาสีฟ้าหรือดวงตาสีเข้ม มันย่อมเข้มข้นไม่น้อยไปกว่ากัน
สรรพคุณของหนังสือเหล่านี้ ชวนให้เราได้ทบทวนในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก เป็นทั้งประวัติศาสตร์ส่วนรวมและประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล ที่อาจเป็นบาดแผลที่ถูกกรีดลงไปบนผิวขาว หรืออาจเป็นความเจ็บปวดแสบซ่านในคนผิวดำ
มันบันทึกทั้งสิ่งละอันพันละน้อย และมันก็บันทึกสิ่งใหญ่ๆ บางครั้งมันบันทึกสงคราม และบ่อยครั้งมันบันทึกการหมิ่นแคลนของชีวิต มันบอกเล่าถึงความมั่งมี และมันก็เปิดเปลือยความอดอยากข้นแค้น มันนำเสนอความสุขสมบูรณ์ และมันก็ฉายภาพความเหลื่อมล้ำอย่างที่สุด มันพูดถึงความรักบริสุทธิ์ และมันก็ประกาศถึงการถูกบังคับให้ต้องรัก!
หนังสือเหล่านี้ หากจะมองไปยังผลสัมฤทธิ์ของมัน คงไม่ได้ทำให้ผู้ที่อ่านมันมั่งคั่งร่ำรวยได้ในชั่วข้ามคืน และไม่อาจทำให้เจริญเติบโตในหน้าที่การงานอย่างก้าวกระโดด แต่ในความไม่พัฒนาตัวเองเหล่านี้ มันชวนให้ผู้ที่อ่านมันได้ทบทวนตัวเอง สังคมที่ดำรงอยู่ เห็นผลสัมฤทธิ์ว่าเป็นสิ่งที่ต้องสะสม ใช้เวลา และร่วมกันสร้าง
มันชวนให้คนที่อ่านมันเข้าใจความหมองเศร้าเหล่านั้น เพื่อที่พวกเขาจะไม่เป็นผู้ผลิตซ้ำความเจ็บปวดอีกต่อไป เห็นความหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ เห็นความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ร่วมกัน เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ที่ควบคู่ไปกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นองค์ความรู้ที่เจาะเข้าไปในแกนกลางของมนุษย์ที่หลากหลาย
ถ้อยคำเหล่านี้อาจดูโอ้อวดมากเกินไปสำหรับคำแนะนำต่อ 'หนังสือทบทวนตัวเอง' แต่จะเป็นอะไรไปเล่า หากหนังสือประเภทอื่นๆ ยังป่าวร้องอย่างอึกทึกถึงความสำเร็จที่สร้างได้ในรายชั่วโมง!!
⏤ สำนักพิมพ์สมมติ
21 ตุลาคม 2566
11 ม.ค. 2564
26 ธ.ค. 2565
17 ต.ค. 2563