4 วิกฤตประชาธิปไตยไทย 2475 - 2540 | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

Last updated: 18 มี.ค. 2566  |  13041 จำนวนผู้เข้าชม  | 

4 วิกฤตประชาธิปไตยไทย 2475 - 2540 | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

KEYNOTE

  • เมื่อไหร่ที่ธรรมเนียมการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ โดยไม่ขึ้นต่อการปกครองโดยระบบนิติธรรม
  • การต่อสู้เปลี่ยนรัฐบาลกันโดยใช้กำลังนอกเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญและธรรมเนียมของระบบประชาธิปไตย
  • กลับมาอีกครั้ง!! ระบบปิตาธิปไตยพ่อปกครองลูกในสมัยสุโขทัย
  • การร่างรัฐธรรมนูญที่นานที่สุดในโลก
  • ยุคที่เสรีภาพเบิกบานและโชติช่วงมากที่สุด แต่ก็เป็นยุคที่ชนชั้นนำรวมตัวกันเป็นพลังปฏิกิริยามากที่สุด


ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการสร้างและเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย
ได้แก่ความขัดกันระหว่างความคาดหวังของสังคมและประชาชนกับความเป็นจริงของระบบการเมืองไทย ความคาดหวังต่อระบบการเมืองและสังคมสมัยใหม่นั้นวางอยู่บนสมมติฐานและการปฏิบัติแบบตะวันตกที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เห็นได้ และสัมผัสรับรู้ได้ด้วยความรู้สมัยใหม่

ในขณะที่การปฏิบัติที่เป็นจริงของระบบการเมืองและเศรษฐกิจไทยนั้นวางอยู่บนความเป็นจริงของโครงสร้างอำนาจภายในประเทศ และยังขึ้นต่อปัจจัยและอิทธิพลภายนอกอีกไม่น้อย แต่ทั้งหมดนั้นแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมโดยผ่านการเคลื่อนไหว ต่อสู้ ขัดแย้ง ประนีประนอมกันของชนชั้นนำในสังคมไทยเอง

น่าสังเกตว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยเริ่มระบบประชาธิปไตยเป็นต้นมา มีแนวการบรรยายหรือเล่าเรื่องสองจุดเท่านั้น คือ 1. เรื่องการสร้างหรือทำให้มีประชาธิปไตย กับ 2. ประวัติศาสตร์ในช่วงไหนที่เริ่มเป็นอุปสรรคและทำลายประชาธิปไตย ไม่มีแนวเรื่องอื่นที่น่าสนใจใคร่ศึกษากันมากนัก

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยจาก 2475 - 2540 นั้น มีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดหักเหกระบวนการสร้างหรือรักษาระบบประชาธิปไตยหลายครั้งหลายหน แต่เหตุการณ์หลักๆ ที่มีผลกระทบยาวไกลมีอยู่ไม่กี่ครั้ง ได้แก่

==========

1. การปิดรัฐสภาด้วยอำนาจนอกระบบของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในปี 2476

เหตุการณ์นี้เป็นการเริ่มต้นการใช้อำนาจนอกเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญในระยะเริ่มต้นของระบบใหม่ที่ยังไม่มีความมั่นคงและความเป็นระบบ ด้วยการประกาศพระราชกฤษฎีกางดใช้บางมาตราในรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การตอบโต้ด้วยการยึดอำนาจจากนายกฯ โดยฝ่ายทหารคือหลวงพิบูลสงครามกับพระยาพหลฯ กล่าวได้ว่าเป็นการริเริ่มและสร้างธรรมเนียมการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ โดยไม่ขึ้นต่อการปกครองโดยระบบนิติธรรม และทำให้เห็นว่า ผู้ชนะคือกฎหมายต่างหาก

อีกเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดตามมาก็คือกบฏบวรเดช (2476) กบฏพระยาทรง-สุรเดช (2479) นับเป็นการใช้ความรุนแรงตอบโต้กันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับรัฐบาลพิบูลสงคราม รวมไปถึงการจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นศัตรูอีกและประหารชีวิตไป 18 ราย


2. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

นอกจากเป็นการปูทางให้แก่การขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของคณะทหารบกที่สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ที่จะกุมและกำกับการเมืองและรัฐบาลไปอีกหลายทศวรรษ ที่สำคัญก็คือ รัฐประหารครั้งนั้นได้ทำลายและปิดกั้นการเติบโตและพัฒนาของกระบวนการประชาธิปไตยแบบเสรีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปี 2489 ซึ่งริเริ่มให้มีสองสภาคือสภาผู้แทนราษฎรและพฤติสภาหรือสภาสูง (เข้าใจว่าได้แนวคิดมาจากรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ) ทั้งสองสภานี้จะให้มีการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมดเป็นครั้งแรก หลังจากหมดบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแล้ว

ผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ของการยึดอำนาจรัฐครั้งนั้นนำไปสู่การพยายามกลับมาของนายปรีดีและฝ่ายทหารเรือในกบฏวังหลวง (2492) กบฏแมนฮัตตัน(2494) ประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวคือการนำเอาการใช้กำลังนอกเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญและธรรมเนียมของระบบประชาธิปไตย (ซึ่งกำลังสร้างอยู่) ขึ้นมาเป็นแบบแผนครรลองของการต่อสู้เปลี่ยนรัฐบาลกัน เป็นการทำกติกาสัญญาการเมืองกันระหว่างบรรดาผู้นำและผู้นำในอนาคต ว่านี่คือหนทางที่เป็นจริงและเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการเข้าสู่อำนาจรัฐในระบบการเมืองไทย นั่นคือการตอกตะปูโลงศพให้แก่การสร้างระบบการเมืองประชาธิปไตยในการเมืองไทย

ผลกระทบด้านลบอีกประการคือการทำลายนักการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคใต้และภาคอีสาน ด้วยการจับกุมและสังหารโหด เช่น กรณียิงทิ้ง 4 รัฐมนตรีอีสาน การปราบขบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ และนำไปสู่การจับกุมคุมขังหะยีสุหลง กระทั่งฆ่าเขาอย่างโหดเหี้ยม รัฐประหาร 2490 จึงเป็นการปิดฉากการเติบโตของการเมืองท้องถิ่นซึ่งเป็นพื้นฐานจำเป็นสำหรับระบบประชาธิปไตย


3. รัฐประหาร 17 กันยายน 2500 และ 2501

เป็นการปิดฉากแรกของการสร้างและแสวงหาหนทางไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่ฝ่าฟันอุปสรรคโดยที่อุดมการณ์การเมืองของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่มุ่งสถาปนาระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกยังมีน้ำหนักอยู่ไม่มากก็น้อย จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ลงมือสร้างระบอบปฏิวัติขึ้นมา เสนออุดมการณ์การเมืองแตกต่างออกไป โดยหันกลับไปหาระบบปิตาธิปไตยพ่อปกครองลูกในสมัยสุโขทัย เสนอทฤษฎีประชาธิปไตยแบบไทยที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินไปแบบประชาธิปไตยตะวันตก

เริ่มการร่างธรรมนูญการปกครองที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีอย่างเด็ดขาดโดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับที่เรียกว่า ‘มาตรา 17’ ทำให้สภานิติบัญญัติกลายเป็นสภาตรายางไปอย่างสมบูรณ์ ช่วงนี้สร้างประวัติศาสตร์ของการร่างรัฐธรรมนูญที่นานที่สุดในโลกคือ 8 ปีกว่า

เหตุการณ์ต่อเนื่องทางการเมืองที่สำคัญได้แก่ การรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจรในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2511 และตามมาด้วยการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2512 ผลสะเทือนต่อเนื่องคือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญโดยนักศึกษาประชาชน และนำไปสู่การปะทะลุกฮือในวันที่ 14 ตุลาคม 2516


4. การรัฐประหารโหด 6 ตุลาคม 2519

เป็นการทำลายกระบวนการประชาธิปไตยที่มาจากเบื้องล่าง ยุคนั้นเป็นยุคที่เสรีภาพและการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มประชาชนวงการอาชีพต่างๆ เบิกบานและโชติช่วงมากที่สุด แต่ก็ทำให้ชนชั้นนำทั้งหลายรวมตัวกันเป็นพลังปฏิกิริยามากที่สุด จนนำไปสู่การยึดอำนาจและทำการปราบปรามพลังประชาชนอย่างทารุณที่สุดด้วยเช่นกัน ในแง่นี้ รัฐประหาร 6 ตุลาฯ เป็นการต่อเนื่องของการต่อสู้ทางการเมืองที่การปฏิวัติ 14 ตุลาฯ ไม่ได้ทำให้บรรลุและสำเร็จ นั่นคือการปฏิวัติโครงสร้างความสัมพันธ์ทางชนชั้นทั้งหมดลงโดยสิ้นเชิง
==========

เหตุการณ์ทั้ง 4 มีหลายเรื่องที่ยังไม่กระจ่าง ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ เช่นกรณีแรก อะไรคือมูลเหตุดลใจให้พระยามโนฯ ปิดสภาฯ ด้วยวิธีการใช้อำนาจอย่างนั้น กรณีรัฐประหาร 2490 ข้างต้นอาจหาคำตอบได้ว่าทำไมคณะรัฐประหารถึงคิดลงมือยึดอำนาจ แต่มีเหตุการณ์ใหญ่อีกเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้านั้น และช่วยให้ความชอบธรรมทางอ้อมแก่คณะทหารบกได้ นั่นคือกรณีสวรรคต ซึ่งยังไม่รู้ว่า ‘มูลเหตุต้นตอ’ ที่แท้จริงว่าคืออะไร สำหรับกรณีสฤษดิ์ยึดอำนาจ พูดกันมากว่าอิทธิพลจากสหรัฐฯ มีผลมาก

ส่วนกรณีสุดท้ายก็ยังไม่กระจ่างว่า ‘มูลเหตุต้นตอ’ ในการสร้างสถานการณ์จนถึงการรัฐประหาร 6 ตุลาฯ นั้นคืออะไร มาจากใคร และทำไม กล่าวอย่างถึงที่สุด สังคมที่ประวัติศาสตร์การเมืองยังไม่โปร่งใสและไม่สามารถตอบคำถามของคนรุ่นหลังได้ มักมีความยากลำบากในการสร้างและทำให้เกิดบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนได้

ต่อปัญหาในประวัติศาสตร์ข้างต้นนั้น ตอบอย่างรวมๆ ก็ต้องกล่าวว่า

ความลึกลับดำมืดและเหตุการณ์ที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุและผลนั้น เป็นการสะท้อนถึงลักษณะของการเมืองแบบเก่า ที่วางอยู่บนโลกทรรศน์อำนาจนิยม การเมืองยังเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว ด้วยกลวิธีทุกอย่างทั้งบนดินและใต้ดิน


การทอดบัตรสนเท่ห์ซึ่งเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งในการกำจัดศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามของการเมืองสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังใช้กันอยู่ในการเมืองสมัยใหม่ในรูปแบบที่ใหม่มากขึ้น...


- - บางส่วนจากบท การปฏิวัติประชาธิปไตยในสยามล้มเหลวจริงหรือ? - -

อ่านเพิ่มเติมได้ใน แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ



แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ
บทวิเคราะห์การเมืองและประชาธิปไตยสยามไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ : เขียน
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : บรรณาธิการ
ปฐมพงศ์ น้ำใจดี : ออกแบบปก

-- สารบัญ --
คำนำ โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
1. การปฏิวัติประชาธิปไตยในสยามล้มเหลวจริงหรือ?
2. สู่วิญญาณของขบวนการเดือนตุลาคม
3. มนุษยภาพ: ว่าด้วยความกลัว ปัญญา และอิสรภาพ
4. บทบาททางประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญในระบบประชาธิปไตยไทย
5. พิทักษ์เจตนารมณ์ 14 ตุลาคม ของปรีดี พนมยงค์
6. แลหลังกบฎปฏิวัติรัฐประหารในการเมืองสยามไทย
7. แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ: ความคิดว่าด้วยระบบประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน

ความหนา : 152 หน้า
ISBN: 9786167196220
============

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้