Last updated: 30 ก.ค. 2565 | 1178 จำนวนผู้เข้าชม |
ผู้คนรู้จักเขาในนาม บิดาแห่งนวนิยายเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลา มนุษย์ต่างดาว คนล่องหน คนกลายพันธุ์ และวิทยาศาสตร์อัศจรรย์อื่นๆ
เอช. จี. เวลส์ มีชื่อจริงว่า เฮอร์เบิร์ต จอร์จ เวลส์ (Herbert George Wells) เกิดที่สหราชอาณาจักรในปี 1866 หรือกว่า 150 ปีมาแล้ว ในขณะที่โลกยังคงใช้เครื่องจักรพลังงานไอน้ำอยู่
ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างพล็อตนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องมหัศจรรย์พันลึก (สำหรับคนในยุคนั้น) อย่างไทม์แมชชีน เอเลี่ยนบุกโลก หรือแม้แต่ระเบิดที่มีพลังทำลายล้างสูง (ก่อนหน้านั้นไม่นานโลกเพิ่งจะมีระเบิดไดนาไมต์ แต่ใครจะคิดว่าอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า มนุษย์จะพัฒนาจนระเบิดนั้นกลายเป็นระเบิดอะตอมและปรมาณูได้) ทั้งสร้างความตื่นตาและน่าหวาดกลัวไม่น้อย
เรียกได้ว่า โลกไม่เคยมีนักเขียนสไตล์นี้มานานแล้ว นับตั้งแต่เรื่อง 'แฟรงเกนสไตน์' (Frankenstein) โดย แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) ตีพิมพ์ในปี 1818 หลังจากนั้นก็ยังไม่มีนักเขียนคนไหนสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่วงการหนังสือได้มากเท่า เอช. จี. เวลส์ ผู้นี้เลย
ผลงานของเวลส์ที่เป็นที่รู้จักกันดี และทำให้นักเขียนผู้นี้มีชื่อเสียงโด่งดังมากยิ่งขึ้น คือ เดอะไทม์แมชชีน (The Time Machine) นวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกของเขาที่เขียนในปี 1895 (โปรดสังเกตปี-แต่นี่ไม่ใช่เรื่องแรกที่เขาเขียน เพราะเขามีงาน Non-fiction และเรื่องสั้นก่อนหน้านี้)
สิ่งที่ทำให้งานชิ้นนี้น่าตื่นตาตื่นใจ คือความจริงที่ว่า ในขณะนั้นโลกยังไม่มีแม้แต่เครื่องบิน อย่างมากเท่าที่มีก็คือบอลลูน แต่หากจะเทียบกับศักยภาพความเร็วของเครื่องบินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว บอลลูนนั้นย่อมทาบไม่ติด ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงเจ้าเครื่องข้ามเวลาอย่าง 'ไทม์แมชชีน' ซึ่งช่วยให้เราเดินทางไปยุคอนาคตในอีกหลายล้านปีข้างหน้าได้!
แม้การอธิบายหลักการทำงานของ เอช. จี. เวลส์ จะไม่ชัดเจน กระท่อนกระแท่นเหมือนเขียนตามใจอยากโดยไม่มีหลักการจริงๆ รองรับ แต่ไม่แน่ว่าในอีกหลายสิบ หลายร้อยปีข้างหน้า มนุษย์ก็อาจประดิษฐ์เครื่องข้ามเวลา - ไทม์แมชชีนได้สำเร็จเหมือนอย่างที่นิยายของเขาเขียนถึงก็เป็นได้
อีกเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าพรมแดนที่จีเอ็มโอหรือวิทยาศาสตร์ยังไปไม่ถึง (และไม่ควรถึง) แต่ เอช. จี. เวลส์ เหยียบย่างไปตั้งแต่ปี 1896 คือผลงานเรื่อง 'เกาะสยองของด็อกเตอร์มอโร/เกาะของ ดร.มอโร (หรือ The Island of Doctor Moreau ฉบับภาษาไทยมี 2 สำนวนแปล)
การนำสัตว์มาทดลองเพื่อหาสายพันธุ์พิเศษ หรือ 'ไฮบริดจ์' นั้น นอกจากจะนำเสนอเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจนเกินจินตนาการในขณะนั้น ยังเป็นการตั้งคำถามถึงความทะเยอทะยานเพื่อความก้าวหน้า ความลุ่มหลงในวิชา (ซึ่งวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่ขณะนั้นกำลังเฟื่องฟูอย่างยิ่ง) และเส้นแบ่งระหว่างศีลธรรมความเป็นมนุษย์ กับการอุทิศตนให้แก่ศาสตร์เพื่อสนองความเชื่ออย่างสุดขั้วของตัวเอง จนตัวเอกต้องตั้งคำถามกลับไปถึง 'ความเป็นมนุษย์'
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่า เอช. จี. เวลส์ จะเขียนเฉพาะเรื่องแนววิทยาศาสตร์ เพราะหนึ่งในเรื่องเด่นของเขา เรื่องที่เขาเขียนช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเน้นการตั้งคำถามเรื่องความเสมอภาคและมาตรฐานการรับรู้การเข้าใจ ก็คือเรื่องที่แทบไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เลยอย่าง ดินแดนคนตาบอด (The Country of the Blind)
ถ้าจะโยงให้เป็นวิทยาศาสตร์สักนิด ก็อาจพูดถึงได้ในส่วนที่อธิบายว่าคนในพื้นที่ปิดในหุบเขาที่ตัวเอกหลงทางเข้าไปพากันป่วยจนมีอาการตาบอด และวิวัฒนาการตัวเองให้สามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องใช้ 'การมองเห็น' ในเมื่อไม่มีใครมองเห็น หลังผ่านไปหลายชั่วอายุคน หุบเขาแห่งนั้นจึงไม่มีคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการมอง การเห็น หรือความสวยงามใดๆ อยู่เลย
เมื่อตัวเอกซึ่งมองเห็นเป็นปกติหลงทางเข้าไปในหุบเขา เขาจึงหลงคิดว่าตนจะยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น วลีที่โด่งดัง (และตัวเอกชอบคิด) อย่าง "ในดินแดนคนตาบอด คนตาเดียวคือพระราชา" ประกาศชัดถึงความหลงในภาพลวงตาแห่งความเหนือกว่านั้น ซึ่งในช่วงที่เรื่องนี้เผยแพร่ครั้งแรก (ปี 1904 และมีฉบับที่แก้ไขตอนจบในปี 1939) คือช่วงเวลาที่ยุโรปกำลังปั่นป่วนตึงเครียดกับการแข่งขันช่วงชิงพื้นที่อาณานิคม การถ่วงดุลระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ และการแข่งกันสะสมกำลังทางทหารอย่างลับๆ
'ดินแดนคนตาบอด' จึงผิดไปจากเรื่องอื่นๆ ที่เขาเขียน เพราะเป็นเรื่องที่แสดงออกซึ่งการครุ่นคิด ไม่แน่ใจว่าแนวคิดที่ตน [ประเทศอังกฤษหรือตัวเอกก็ได้] เชื่อนั้นถูกต้องหรือไม่
'คนตาบอด' และ 'คนที่มองเห็น' อาจหมายความได้ทั้งคนที่ดูเหมือนจะด้อยกว่าอีกฝ่าย ผู้อยู่ใต้อาณานิคม ดินแดนห่างไกลที่คนตะวันตกยังไม่เข้าใจขนบธรรมเนียม หรืออาจเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น
คำถามคือ คนเหล่านั้นต้องการ 'ดวงตา' ในการใช้ชีวิตแน่หรือ หรือว่าสำหรับพวกเขา 'ดวงตา' เป็นแค่อวัยวะที่ไม่จำเป็นต้องใช้งาน ไม่เคยใช้ ส่วนใครที่ใช้ ใครที่มองเห็นต่างหากที่ผิดปกติ แล้วในทัศนะของความเป็นคนอังกฤษ คนตะวันตก เขาควรยอมรับ หรือควรหลีกไปให้ไกลจากดินแดนแห่งนั้น?
เพราะเหตุนี้เอง ต่อให้เรื่องนี้จะไม่ได้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนเหมือนเรื่องอื่น แต่การตีความที่ไร้ซึ่งคำตอบที่สมบูรณ์ ไม่รู้ว่าน่าจะหมายถึงเรื่องใดแน่ บางทีก็อาจเป็นเสน่ห์พิเศษอย่างหนึ่งของงานชิ้นนี้
โลกในจินตนาการของ เอช. จี. เวลส์ หากมองย้อนกลับไปคงไม่ต่างอะไรจากดินแดนลี้ลับที่ไม่ค่อยมีคนในยุคเขาคนใดเข้าใจ แต่สำหรับเราซึ่งเกิดในยุคที่ค่ายอินเตอร์เน็ตแข่งความเร็วสูงกัน เรื่องของเขาจึงอาจไม่น่าตื่นตาเท่าในสมัยก่อนแล้ว
ทว่างานของเวลส์ก็ยังคงน่าสนใจในแง่ของวิธีคิด การบรรยาย และการแสดงภาพของโลกที่ต่างไปจากโลกจริงๆ ที่เขาอยู่ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นโลกที่มีการทดลองกับคนหรือสัตว์ มนุษย์กลายพันธุ์ ดินแดนดิสโทเปียที่ถูกระเบิดอะตอมทำลาย หรือโลกที่คนพูดสายกันได้โดยไม่ต้องต่อสายโทรศัพท์ (เอช. จี. เวลส์ เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเชื่อมต่อไร้สายด้วย)
แต่เชื่อเถอะว่าถ้าลองอ่าน แม้แต่คนในยุคศตวรรษที่ 21 อย่างเราๆ ก็คงทึ่งในอัจฉริยภาพของนักเขียนแห่งโลกอนาคตผู้นี้!
==============================
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless
==============================
คลิกเพื่อสั่งซื้อ เดอะ ไทม์ แมชชีน
คลิกเพื่อสั่งซื้อ ดินแดนคนตาบอด
แนะนำ! Set เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells) บิดาแห่งนวนิยายวิทยาศาสตร์