โรแมนติกที่ไม่ใช่อารมณ์แห่งควาามรัก

Last updated: 13 ส.ค. 2565  |  6556 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรแมนติกที่ไม่ใช่อารมณ์แห่งควาามรัก

ทำความรู้จัก Romanticism ยุคสมัยสำคัญทางศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรม

ยุคจินตนิยม (Romanticism)
ยุคโรแมนติกที่ไม่ใช่ยุคแห่งความรักยุคจินตนิยม (Romanticism) 

ยุคโรแมนติกที่ไม่ใช่ยุคแห่งความรัก Cambridge Dictionary นิยามคำว่า ‘Romanticism’ หรือ ‘จินตนิยม’ ในภาษาไทยว่าเป็นลักษณะหนึ่งของงานศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรม โดยกระแส ‘Romanticism’ เป็นที่นิยมในยุโรปช่วงปลายศตรวรรษที่ 18 ถึงต้นศรรตวรรษที่ 19 กระแสจินตนิยมให้ความสนใจกับความงามของธรรมชาติและความรู้สึกของมนุษย์ โดยแนวคิดต่างๆ เหล่านี้ก็ถือเป็นปฏิกิริยาโต้กลับต่อการปฏิวัติอุสาหกรรม (Industrial Revolution) ในช่วงเวลานั้น

อาจกล่าวได้ว่า กระแสจินตนิยมพยายามละทิ้งค่านิยมของของยุคก่อนหน้า (Neoclassical Era) ที่ลัทธิเหตุผลนิยมเข้ามามีบทบาทสำคัญมากโดยการหันเข้าหาธรรมชาติและหลีกหนีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ พูดอีกอย่างก็คือจินตนิยมก็สรรเสริญอารมณ์ แทนที่จะเป็นข้อเท็จจริงอันแข็งกระด้าง เหล่ากวีและนักจินตนิยมบางคนจึงมักจะเอาแนวคิดเกี่ยวการเข้าหาธรรมชาติและการใช้ความรู้สึกมาผสมรวมกันจากการที่ใช้ธรรมชาติเป็นแหล่งรวมของจินตนาการและอารมณ์ 

การเรียกร้องประชาธิปไตยแบบยุคจินตนิยม (Romanticism) ก่อนจะพูดถึงความเป็นประชาธิปไตยในยุคจินตนิยม (Romanticism) ต้องย้อนความถึงยุคก่อนหน้าซึ่งคือ ยุคคลาสสิกใหม่ (Neoclassical Era) นักเขียนในยุคคลาสสิกใหม่ เช่น อเล็กซานเดอร์ โป๊บ (Alexander Pope) โจนาธาน สวิฟท์ (Jonathan Swift) และ จอห์น ดรายเดน (John Dryden) เป็นต้น นิยมการใช้ภาษาที่ดูประดิษฐ์ประดอยเป็นพิเศษ (artificially decorated language) การอ้างถึงเทพปกรณัมกรีก (Classical Allusion) และการแนวคิดที่ซับซ้อนในการเสียดสีการเมือง (Satire) ด้วยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถ ‘ยกระดับ’ งานเขียนในยุคนั้นได้ แม้งานวรรณกรรมในยุคคลาสสิกใหม่จะมีภาษาที่อลังการและประกอบไปด้วยความรู้ชั้นสูง แต่นั่นเองก็ทำให้วรรณกรรมกลายเป็นเครื่องมือแบ่งแยกชนชั้น เมื่อมีเพียงแต่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะสามารถอ่านและเข้าใจวรรณกรรม ‘ชั้นสูง’ ในยุคคลาสสิกใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม กระแสจินตนิยมเกิดขึ้นมาและทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับค่านิยมของยุคคลาสสิคใหม่ โดยมี วิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ (William Wordsworth) เป็นหัวหอกในการริเริ่มแนวคิด ในงานเขียน 'Preface to Lyrical Ballads' เวิร์ดสเวิร์ธเสนอว่า วรรณกรรมและบทกวีควรถูกเขียนโดยภาษาของสามัญชน (Common Man)

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หมายความว่าในยุคจินตนิยม ทุกคนไม่ว่าจะมาจากชนชั้นไหน ไม่ว่าจะจนหรือจะรวย ก็สามารถเข้าถึงวรรณกรรมได้

นอกจากภาษาที่เป็นภาษาสามัญชนมากขึ้น เรื่องราวที่อยู่ในวรรณกรรมยุคจินตนิยมก็หันมาพูดถึงเรื่องของคนธรรมดา (Ordinary Life) แทนที่จะเป็นชีวิตของคนในวงสังคมชั้นสูง (Aristocratic Society) ดังนั้นความพยายามที่จะฉายภาพธรรมชาติและชนบทจึงกลายเป็นประเด็นหลักที่วรรณกรรมยุคจินตนิยมนำเสนอ ในแง่หนึ่ง กลุ่มผู้อ่านที่เป็นเป้าหมายของงานเขียนยุคจินตนิยมเปลี่ยนจากชนชั้นสูงเป็นชนชั้นกลางถึงชนชั้นล่างแทน การอนุญาตให้ชนชั้นล่างเข้าถึงวรรณกรรมได้มากขึ้นนี้เองที่กระตุ้นอุดมการณ์ประชาธิปไตยในขณะนั้น 

Transcendentalism และ Dark Romanticism 
กระแสจินตนิยมเกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษช่วงปลายศตรวรรษที่ 18 ถึงต้นศรรตวรรษที่ 19 และภายหลังก็ข้ามมหาสมุทรไปเป็นแนวคิดต่อยอดที่อเมริกาช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จากการเคลื่อนนี้เอง แนวคิดจินตนิยมก็แตกแขนงออกไปอีกเป็นกลุ่ม ‘อุตรภาพนิยม’ (Transcendentalism) และกลุ่ม ‘โรแมนติกที่มืดหม่น’ (Dark Romanticism) ซึ่งเป็นทั้งการพัฒนาและการต่อต้านแนวคิดจินตนิยมหลักที่อธิบายไปก่อนหน้า

อุตรภาพนิยมถือเป็นฝ่ายมองโลกในแง่ดีโดยเชื่อใน ‘ความดีงาม’ ของธรรมชาติและมนุษย์ นอกจากนี้ก็เทิดทูนธรรมชาติราวกับเทดทูนพระเจ้า นักเขียนในกระแสอุตรภาพนิยม ได้แก่ Henry David Thoreau และ Ralph Waldo Emerson เป็นต้น อาจพูดได้ว่า ในแง่การฉายภาพธรรมชาติ กลุ่มอุตรนิยมในอเมริกาพัฒนาความคิดต่อมาจากกระแสจินตนิยมในอังกฤษ

ในทางกลับกัน กลุ่มโรแมนติกที่มืดหม่นถือเป็นฝ่ายมองโลกในแง่ร้ายและมืดหม่น กระแสนี้เน้นย้ำความผิดพลาดและบาปของมนุษย์ ถ้าภาพของธรรมชาติสำหรับอุตรภาพนิยมคือป่าเขาเขียวขจีที่น่าเทิดทูน ภาพธรรมชาติสำหรับกลุ่มโรแมนติกที่มืดหม่นคือความป่าเถื่อนและความโหดร้าย ซึ่งการให้ภาพเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกันกับความหลอนแบบ Gothicism นักเขียนในกลุ่มโรแมนติกที่มืดหม่น เช่น เอดการ์ แอลลัน โพ (Edgar Allan Poe) เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Merville) และ แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley)


เรียบเรียงโดย นิธิวัฒน์ จอนลอย


สมมติชวนผู้อ่านสัมผัสกลิ่นอายความหลอนแบบ ‘โรแมนติกที่มืดหม่น’ 

แฟรงเกนสไตน์ หรือ โพรมีธีอัสยุคใหม่ (Frankenstein; or, The Modern Prometheus) 
แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) : เขียน
ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล : แปล



บาร์เทิลบี (Bartleby, the Scrivener)
เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) : เขียน
พัจนภา เปี่ยมศิลปกุลชร : แปล


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้