ปราบดา หยุ่น กับบาร์เทิลบี ตัวละครอมตะในโลกวรรณกรรม

Last updated: 30 พ.ค. 2563  |  4322 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปราบดา หยุ่น กับบาร์เทิลบี ตัวละครอมตะในโลกวรรณกรรม

บางส่วนจาก บทกล่าวตาม โดย ปราบดา หยุ่น

ในเล่ม บาร์เทิลบี (Bartleby, the Scrivener) ผลงานที่สรรนิพนธ์รวมเรื่องสั้นอเมริกันจำเป็นต้องรวมไว้เสมอ
==========

เมื่อใดก็ตามที่นักเขียนอเมริกันใฝ่ฝันจะสรรค์สร้าง ‘สุดยอดนวนิยายอเมริกัน’ (The Great American Novel) พวกเขาต่างได้รับอิทธิพลจากความขลังของต้นแบบที่ชื่อ Moby-Dick โดยถ้วนทั่ว ไม่ว่า Moby-Dick จะเป็นนวนิยายในดวงใจของพวกเขาหรือไม่ก็ตาม

นักเขียนอเมริกันผู้สรรค์สร้าง Moby-Dick คนนั้นคือ เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) นอกจากนวนิยายดังกล่าว เมลวิลล์ยังเขียนเรื่องสั้นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ 'Bartleby, the Scrivener' หรือในฉบับแปลไทยเล่มนี้ว่า 'บาร์เทิลบี' เรื่องสั้นที่ว่ากันว่าเป็น 'ต้นแบบวรรณกรรมแบบ Existentialism'



ในโลกของวรรณกรรมสมัยใหม่ (สมัยใหม่ในความหมายของ‘โมเดิร์น’) และวรรณกรรมร่วมสมัย นวนิยายเล่มหนาที่ประดับประดาด้วยลูกเล่นและข้อมูลซับซ้อนพิสดาร (เช่น Ulysses ของเจมส์ จอยซ์ - James Joyce: 1882 - 1941 Gravity’s Rainbow ของ โทมัส พินชอน - Thomas Pynchon: 1937- และ Infinite Jest ของ เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลส David Foster Wallace: 1962 - 2008) มักได้รับเชิดชูเป็น ‘มาสเตอร์พีซ’ หรือ ‘คลาสสิค’ ตั้งแต่ยังไม่มีใครได้อ่าน

เพราะคำว่า ‘คุณค่าทางศิลปะ’ สำหรับวรรณกรรมร่วมสมัยถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกแห่งค่านิยมในความหนา ความยาว ความยาก ความท้าทายต่อรูปแบบโครงสร้างทางวรรณกรรม และความฉลาดรอบรู้ของผู้เขียน โดยละทิ้งหรือได้รับการอนุโลมให้มองข้ามความสำคัญของโครงเรื่องกลยุทธ์ปลุกเร้าอารมณ์ ความชัดเจนทางอุดมการณ์ และ ‘สาร’ ทางศีลธรรมหรือจริยธรรมที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ ด้วยเห็นว่าคุณสมบัติเหล่านั้นคือความล้าหลัง หรือเป็นสูตรสำเร็จตามขนบจนเกินไป

คงไม่ผิดไปจากความจริงนัก หากกล่าวว่า Moby-Dick ยิ่งใหญ่และเป็นอมตะกว่ามนุษย์ผู้จินตนาการมันขึ้นมา

เมลวิลล์เสาะแสวงหาและสะสมแรงบันดาลใจจากศิลปะนานาชนิดในยุคสมัยใกล้เคียงตั้งแต่งานจิตรกรรมสีน้ำมันของ โจเซฟ เทอร์เนอร์ (Joseph Turner: 1775 - 1851) ผู้เขียนภาพเกลียวคลื่น พายุ และแสงแดดในท้องทะเลได้อย่างปลุกเร้าอารมณ์และก่อกวนจินตนาการ (บางภาพเกือบกลายเป็น ‘นามธรรม’ เสียจน วิลเลียม ฮาซลิทท์ - William Hazlitt: 1778 - 1830 นักเขียนความเรียงและนักวิจารณ์ชื่อดังชาวอังกฤษ ยกย่องให้เป็น ‘ภาพของความว่างเปล่า’)

ไปจนถึง Frankenstein นวนิยาย ‘สัตว์ประหลาด’ ยอดนิยมของ แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley: 1797 - 1851) ที่ถือเป็นต้นแบบหนึ่งของตัวละครประเภท ‘ตัวเอกอาภัพ’ หรือ ‘ตัวเอกอัปลักษณ์’ (anti-hero) ที่ส่งผลเป็นอิทธิพลไม่เพียงใน Moby-Dick แต่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในงานศิลปะและวรรณกรรมอื่นๆ สืบเนื่องถึงปัจจุบัน

ในภาษาร่วมสมัยอาจกล่าวได้ว่า กับ Moby-Dick เมลวิลล์มุ่งมั่นที่จะเป็นนักเขียนจริงจังผู้สร้างสรรค์ผลงาน ‘ศิลปะ’ มากกว่าจะเลือกหนทางของวรรณกรรมบันเทิง เขาคาดหวังที่จะสร้างงานประพันธ์แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร และปริ่มล้นไปด้วยเอกลักษณ์ริเริ่ม (originality) ดังที่เขาประกาศไว้ในงานวิจารณ์ชิ้นหนึ่งว่า

“ล้มเหลวเพราะมีเอกลักษณ์ ยังดีกว่าสำเร็จเพราะลอกเลียน”

นอกจาก Moby-Dick เฮอร์แมน เมลวิลล์ ยังเป็นผู้ให้กำเนิดปัจเจกชนผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ต้นแบบ’ หรือ ‘ผู้มาก่อน’ ของตัวละครในผลงานวรรณกรรมโมเดิร์นของนักเขียนอย่าง

  • ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka: 1883 - 1924)
  • ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky: 1821 - 1881)
  • ซามูเอล เบคเกตต์ (Samuel Beckett: 1906 - 1989)
  • อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus: 1913 - 1960)
  • และนักเขียนสมัยอัตถิภาวนิยม (existentialist) รวมถึงนักเขียนอีกจำนวนมากที่สนใจแนวคิด Absurd


ปัจเจกชนผู้มีอิทธิพลยาวไกลและเนิ่นนานผู้นั้นมีชื่อว่า ‘บาร์เทิลบี’


Bartleby มีความแตกต่างจากงานเขียนชิ้นอื่นๆ ของเมลวิลล์ตั้งแต่ฉากไปจนถึงวิธีเล่าเรื่อง ขณะที่ Moby-Dick เป็นนวนิยายเกี่ยวกับการออกล่าวาฬยักษ์ในมหาสมุทรเขียนด้วยสำนวนสวิงสวายยิ่งใหญ่ยืดเยื้อ Bartleby กลับเป็นเรื่องสั้นที่เกิดขึ้นใน ‘สังคมเมือง’ ท่ามกลางย่านธุรกิจชื่อดังของมหานครนิวยอร์ก เล่าด้วยสำเนียงสามัญของคนธรรมดา อ่านง่าย และลื่นไหลเป็นธรรมชาติ เป็นสำเนียงที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับความเป็นวรรณกรรม ‘สมัยใหม่’ มากที่สุดของเมลวิลล์ ปราศจากกลิ่นเค็มของท้องทะเลและเสียงครางของเกลียวคลื่นโดยสิ้นเชิง

แม้ว่าพฤติกรรมของบาร์เทิลบีไม่อาจเรียกเต็มปากเต็มคำได้ว่าเป็นอันตรายต่อสังคม ความ ‘ไม่ประสงค์’ ที่จะดำเนินชีวิตไปตามความเคลื่อนไหวของเพื่อนมนุษย์ ดูเหมือนจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนอื่นไม่น้อย จุดจบของบาร์เทิลบีสร้างความสะเทือนใจอย่างลึกซึ้งให้แก่ผู้เล่าเรื่อง

ความจริงคือเราแทบไม่รู้จักบาร์เทิลบีเลย เรารู้จักชื่อของเขา เรารู้ว่าเขาเป็นคน “แต่งกายเรียบร้อย ทว่าดูหม่นหมอง ภูมิฐานทว่าน่าสงสาร” เรารู้สึกงุนงงสงสัยกับพฤติกรรม ‘ขวางโลก’ ของเขา แต่เราไม่เคยล่วงรู้ตัวตนที่แท้จริงของบาร์เทิลบี เราไม่รู้เหตุผลในการ ‘ไม่ประสงค์’ ของเขา และที่สำคัญที่สุดคือเราไม่เคยล่วงรู้ความคิดเห็นหรือปรัชญาที่เขามีต่อโลกที่เขาต่อต้านอย่างเงียบๆ แม้แต่น้อย

-- เราไม่รู้จักบาร์เทิลบี  แต่เรารู้จักมนุษยชาติ --

ตัวแทนของมนุษยชาติผู้นี้จำเป็นต้องไม่มีชื่อ เพราะเขาเป็นหนึ่งใน ‘พวกเรา’ ที่มองคนประหลาดอย่างบาร์เทิลบีด้วยความสับสนทางจิตวิญญาณ เรารู้ว่า ‘ข้าพเจ้า’ (ตัวละครที่ดำเนินเรื่อง) มีปรัชญาชีวิตแบบคนส่วนใหญ่ นั่นคือรักสบาย เขาปักใจเชื่ออย่างลึกซึ้งว่า “การใช้ชีวิตแบบง่ายๆ คือวิถีที่ดีที่สุด” เขาเป็นคนไม่ทะเยอทะยานที่จะท้าทายระบบหรือปฏิวัติธรรมเนียมประเพณีใดๆ ในหน้าที่การงาน เขาต้องการดำรงอยู่อย่างสะดวกสบาย เลือกทำงานง่ายๆ ไร้ความเสี่ยง ทุกคนที่รู้จักเห็นว่าเขาเป็นคนชอบความปลอดภัย และดูเหมือนเขาจะภูมิใจในคุณสมบัติ ‘ธรรมดาๆ’ ของตัวเองอยู่ไม่น้อย

ความเป็น ‘คนดี’ หรือความพยายามเป็นคนดีของ ‘ข้าพเจ้า’ ทำให้เขาไม่สามารถคิดทำร้ายบาร์เทิลบี แม้ว่าในฐานะนายจ้าง เขามีสิทธิ์ไล่ลูกจ้างผู้ไม่ยอมทำงานออกทันทีโดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาป แต่ในเบื้องแรก เขากลับพยายามทำความเข้าใจ และพยายามใช้ ‘ปัญญา’ ทบทวนความประพฤติพิลึกพิลั่นของบาร์เทิลบี โดยหวังว่าผลลัพธ์จะสำเร็จออกมาเป็นที่น่าพอใจสำหรับทุกคน

-- บาร์เทิลบี (สังคมกระแสรอง) : เชื้อโรคของมนุษยชาติ --

ความเป็นคนดีของ ‘ข้าพเจ้า’ คือการถอดแบบความคิดของซิเซโร่มาเป็นคติประจำตัวอย่างไม่ต้องสงสัย ‘ข้าพเจ้า’ เป็นนายจ้างผู้พยายามทำตัวให้เป็นที่นับถือของลูกน้องมากที่สุด เพราะซิเซโร่สอนไว้ในงานเขียนของเขาว่า “ไม่มีผู้นำคนไหนสามารถจัดการเรื่องสำคัญหรือเรื่องที่เป็นประโยชน์สำเร็จ หากเขาไม่ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” และวิธีที่เราจะรักษาความมั่นคงในชีวิตไว้อย่างสม่ำเสมอ คือการ “ประพฤติปฏิบัติต่อคนอื่นในสังคมด้วยความเอื้อเฟื้อและเข้าอกเข้าใจ” ยิ่งไปกว่านั้น “หนทางที่ดีที่สุดในการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง คือการได้รับความรักความเอ็นดูจากผู้อื่น” และ “การทำให้ผู้อื่นหวาดวิตก ไม่ใช่วิธีที่จะรักษาตำแหน่งของตัวเองไว้ได้ แต่จะเป็นวิธีที่ทำให้สูญเสียมันไป”

เรื่องแปลกที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของบาร์เทิลบีซึ่งเป็นประเด็นน่าตื่นเต้นที่สุดในแง่การตีความ คือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในตัว  ‘ข้าพเจ้า’  หรืออีกนัยหนึ่งคือใน  ‘มนุษยชาติ’ ความมุ่งมั่นที่จะปฏิเสธชีวิตปกติโดยคนอย่างบาร์เทิลบี ผู้ไม่ได้เป็นคนเลวทรามต่ำช้า กลับซึมแทรกกัดกินเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่โอบรับสังคมอย่างลึกซึ้ง ถึงขั้นที่เกือบเปรียบบาร์เทิลบีได้ว่าเป็น ‘เชื้อโรค’ ชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับที่สังคมกระแสหลักมักอึดอัดและรำคาญสังคมกระแสรองอย่างออกนอกหน้า กระทั่งในบางครา ทำให้สมาชิกในสังคมกระแสหลักถึงขั้นพยายามกำจัดสังคมกระแสรองให้สิ้นซาก

-- เรื่องสั้นที่ผสมผสานระหว่างจินตนาการกับปรัชญา --

งานเขียนสำหรับเมลวิลล์จึงยังเป็นงานผสมผสานระหว่างจินตนาการกับปรัชญา (เช่นที่ อัลแบร์ กามูส์ เคยกล่าวว่า “นวนิยายไม่เคยเป็นอะไรนอกเหนือไปจากปรัชญาที่ถูกสร้างขึ้นเป็นภาพ”) รวมทั้งความสามารถทางวรรณศิลป์ มากกว่าจะเป็นเครื่องมือปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจของตัวเอง

บาร์เทิลบีอาจรู้สึกเช่นเดียวกันนี้ต่อสังคมรอบข้างรวมถึงนายจ้างของเขา แม้เขาจะต้องนั่งมองแต่กำแพงอิฐทั้งวัน เขาก็มีอิสระมากกว่าคนอย่าง ‘ข้าพเจ้า’ ที่ต้องเฝ้าเป็นกังวลต่อการทำหน้าที่อยู่ใน ‘กำแพง’ ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมที่มีชื่อเรียกแบบไม่อ้อมค้อมว่า ‘ถนนกำแพง’  (Wall Street)

สิ่งที่ชัดเจนที่สุดใน Bartleby คือความรู้สึกของ ‘ข้าพเจ้า’ ซึ่งเป็นความรู้สึกผสมผสานระหว่างความสับสน ความไม่เข้าใจ ความสมเพชสงสาร และความสะเทือนเศร้า เมื่อเขาค้นพบจุดจบที่นิ่งสนิทและเปล่าเปลี่ยวของบาร์เทิลบี

-- Bartleby: งานเขียนแนวเสียดสี (satire) ซึ่งถือเป็นงาน ‘กัด จิก’ ที่น่าทึ่งที่สุดเรื่องหนึ่ง --

อารมณ์ขันเป็นคุณสมบัติโดดเด่นของเมลวิลล์ที่น้อยคนจะพูดถึง และ Bartleby ก็เป็นผลงานชิ้นหนึ่งของเขาที่แพรวพราวไปด้วย ‘ตลกร้าย’ หากมองในมุมของงานเขียนแนวเสียดสี (satire) Bartleby อาจถือเป็นงาน ‘กัด จิก’ ที่น่าทึ่งที่สุดเรื่องหนึ่ง และในมุมมองของศิลปินแนว Absurd ที่ให้ความสนใจในสถานการณ์ ‘พิลึก’ ของความเป็นมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ข้าพเจ้า’ กับ ‘บาร์เทิลบี’ อาจกล่าวได้ว่าเป็น ‘ตลกสถานการณ์’ (situation comedy) ที่น่าขันอย่างคมคาย ไม่แพ้ตลกคู่หูชั้นเยี่ยมในยุคสมัยใดก็ตาม

ในพฤติกรรมขัดขืนต่อทิศทางของสังคมด้วยความสันติและสันโดษ บาร์เทิลบีกลับยังมีตัวตนอยู่จนถึงทุกวันนี้ ซ้ำยังมีทีท่าว่าจะเป็น ‘ตัวละคร’ อมตะไม่ต่างจากวาฬยักษ์ที่ชื่อ ‘โมบี้ ดิ๊ก’

แต่ในเมื่อเราประจักษ์แล้วจากการสำรวจว่า ความจริง เราไม่รู้จักบาร์เทิลบีดีพอจะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเขา บุคคลที่เป็นอมตะโดยแท้ในที่นี้คือ  ‘ข้าพเจ้า’

-- ‘ข้าพเจ้า’ ผู้เป็นตัวแทนของเราทุกคน --

‘ข้าพเจ้า’ ผู้จะยังคงสับสนสงสัยในความขัดแย้งระหว่างตัวตนภายในกับโลกภายนอก และอาจต้องเฝ้ารอคำตอบจากเอกภพอย่างสิ้นหวัง เช่นที่ ‘ข้าพเจ้า’ เฝ้ารอการตอบรับอย่างใจเย็นจากบาร์เทิลบี แต่กลับต้องพบครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเขา ‘ไม่ประสงค์’ ที่จะตอบ ไม่เพียงเฉพาะในวันนี้  พรุ่งนี้  ปีหน้า  หรือศตวรรษถัดไปเป็นความขัดแย้งสับสน และเป็นคำถามที่ดูเหมือนจะดำเนินต่อไปเนิ่นนาน

เนิ่นนานชนิดที่เราเรียกกันว่า  ‘อมตะ’
=====

คลิกสั่งซื้อ บาร์เทิลบี (Bartleby, the Scrivener)


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้