Last updated: 30 พ.ค. 2563 | 7794 จำนวนผู้เข้าชม |
...เมื่อเหตุการณ์หนึ่งถูกนำมาเล่า โดยมีจุดประสงค์ในการเล่าที่เน้นการไม่อ้างอิงถึงโลกภายนอก อีกทั้งไม่ใช่การก่อให้เกิดผลโดยตรงกับโลกแห่งความเป็นจริง หมายความว่า ในที่สุดการเล่าจะอยู่นอกเหนือหน้าที่อื่นใดทั้งมวลอันไม่ใช่หน้าที่ของการฝึกใช้สัญญะ การถอนตัวออกจากสิ่งที่อ้างอิงได้นอกจากการเล่าดังกล่าวจะเกิดขึ้น เสียงก็จะสูญเสียต้นกำเนิดไป ผู้แต่งก็จะเข้าสู่ห้วงแห่งความตายอันเป็นของตนเอง แล้วข้อเขียนก็จะเริ่มต้นขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกที่มีต่อปรากฏการณ์นี้จะแตกต่างกันออกไป ในสังคมเผ่าพันธุ์หลายแห่งเรื่องเล่า(le récit) จะไม่เคยได้รับการมอบหมายให้อยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเลยแต่จะถูกมอบหมายให้กับตัวกลาง หมอผี หรือนักเล่าเรื่อง (récitant) ซึ่งจริง ๆ แล้ว อย่างมากที่สุด เราก็อาจจะชื่นชมเพียง“สมรรถนะในการเล่า”ของเขา (หมายความว่า ความสามารถในการใช้รหัสแห่งการเล่า) แต่ไม่ใช่ “อัจฉริยะ”ในการเล่าของเขา ในแง่ที่ว่า ตอนปลายยุคกลาง กับความคิดของประสบการณ์นิยม(empirisme)ในอังกฤษ เหตุผลนิยม(rationalisme)ในฝรั่งเศส และความเชื่อส่วนบุคคลในช่วงการปฏิรูป(la réforme) ผู้แต่งเป็นเช่นตัวละครสมัยใหม่ที่ถูกสังคมของเราสร้างขึ้นมาอย่างไม่ต้องสงสัย สังคมได้ค้นพบเกียรติคุณของปัจเจกบุคคล หรืออย่างที่เราพูดให้เลิศหรูก็คือ “ตัวตนของมนุษย์” ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลที่ในทางวรรณคดีนั้นปรัชญาปฏิฐานนิยม อันเป็นลัทธิที่เป็นข้อสรุปและผลลัพธ์ของอุดมการณ์แห่งทุนนิยมจะได้ให้ความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแก่ “ตัวตน” ของผู้แต่ง
ผู้แต่งยังครอบครองพื้นที่อยู่ตามหนังสือประวัติวรรณคดี ชีวประวัติของนักเขียนต่าง ๆ บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร และแม้แต่ในจิตสำนึกของบรรดานักวรรณคดีเองซึ่งมัวแต่พะวงอยู่กับการรวมตัวบุคคลและผลงานของพวกเขาเข้าด้วยกัน โดยอาศัยงานเขียนประเภทอนุทินของพวกเขา(journal intime) ภาพลักษณ์ของวรรณคดีที่เราสามารถพบเห็นได้ในวัฒนธรรมทั่ว ๆ ไป จะมีศูนย์กลางโดยเด็ดขาดอยู่ที่ผู้แต่ง ตัวตนของเขา ประวัติ รสนิยม และความหลงใหล ส่วนใหญ่แล้วการวิจารณ์ยังติดอยู่กับการพูดว่า งานของโบดเดอแลร์ (Baudelaire) คือความล้มเหลวของมนุษย์ที่ชื่อโบดเดอแลร์ ส่วนงานของแวนโก๊ะ (Van Gogh) นั้นก็คืออารมณ์คลุ้มคลั่งของเขา และส่วนของไชคอฟสกี้ (Tchaïkowski) ก็คือ ความชั่วช้าสามานย์
หมายความว่า “คำอธิบาย”ผลงานจะต้องถูกค้นหาอยู่เสมอจากด้านผู้ผลิตงาน ราวกับว่าในท้ายที่สุดแล้วเป็นเสียงของคนเพียงคนเดียว และเป็นคนๆ เดียวกัน คือผู้แต่งที่สารภาพความในใจของตนออกมาโดยผ่านทางภาพเชิงอุปมาอุปมัยที่ค่อนข้างโปร่งใสของเรื่องแต่งนั้น
แม้ว่าอาณาจักรของผู้แต่งจะยังคงมีพลังแข็งแกร่งอยู่ก็ตาม (บ่อยครั้งที่การวิจารณ์แนวใหม่กลับเป็นตัวคอยทำ[หน้าที่เสริมสร้างอยู่อย่างเดียว]ให้อาณาจักรนี้แข็งแกร่งขึ้น) เป็นธรรมดาอยู่เองที่นักเขียนบางคนได้พยายามมานานแล้วที่จะสั่นสะเทือนอาณาจักรนี้ ในฝรั่งเศส มาลลาร์เม่ (Mallarmé) เป็นคนแรกก็ว่าได้ที่เห็นและคาดการณ์อย่างเต็มที่ถึงความจำเป็นที่จะต้องเอาภาษาเข้าไปแทนที่ผู้ที่ถือตัวมาตลอดเวลาจนถึงขณะนั้นว่าตัวเป็นเจ้าของภาษา สำหรับมาลลาร์เม่ก็เช่นเดียวกับเรา เป็นตัวภาษาที่เป็นผู้พูด หาใช่ตัวผู้แต่ง
การเขียน (écrire) ก็คือการบรรลุถึงจุดที่ตัวภาษาอย่างเดียวเท่านั้นทำหน้าที่ของมัน “แสดงความสามารถให้ดู” (“performe”) ไม่ใช่ “ตัวฉัน” (“moi”) ทั้งนี้ก็โดยผ่านความไม่มีตัวตนแห่งบุคคลเป็นปฐม ซึ่งเราก็ไม่อาจจะเอาไปปะปนกับความเป็นภววิสัยที่สร้างสภาวะแห่งความเป็นกลางของพวกนักเขียนสัจนิยมได้ วรรณศิลป์ทั้งหมดในงานประพันธ์ของมาลลาร์เม่อยู่ที่การกำจัดตัวผู้แต่งออกไปเพื่อประโยชน์ของข้อเขียน (ซึ่งก็คือ การส่งคืนบทบาทให้แก่ผู้อ่าน)
...
การแยกผู้แต่งออกจากงาน (กับแนวคิดของเบรคช์ท [Brecht] ตรงนี้เราคงจะสามารถพูดถึงเรื่อง“การสร้างระยะห่าง”ที่แท้จริง [le distancement]ได้ ผู้แต่งมีความสำคัญน้อยลงเหมือนกับเป็นตัวประกอบในแนวหลังๆ ของฉากวรรณคดี) ไม่ได้เป็นเพียงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือข้อเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวคือ การแยกผู้แต่งออกไปได้สร้างความเปลี่ยนแปลงตัวบทสมัยใหม่อย่างสิ้นเชิง (หรือ – ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกัน – ตัวบทจะถูกสร้างและอ่านกันในลักษณะที่นับแต่นี้ไป ในตัวบทนั้นจะไม่มีตัวผู้แต่งอยู่ไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตาม) ก่อนอื่น เรื่องของเวลาก็ไม่เหมือนเดิมอีกเช่นกัน หากเรายังเชื่อในเรื่องผู้แต่งอยู่ ตัวผู้แต่งจะถูกมองเหมือนกับว่าเป็นอดีตของหนังสือของตัวเขาเอง หมายความว่าหนังสือและผู้แต่งจะจัดวางตำแหน่งกันเองให้อยู่บนแนวเดียวกัน จัดวางกันไปในลักษณะคนหนึ่งมาก่อน และคนหนึ่งมาที่หลัง คือ ผู้แต่งจะถูกมองว่าเป็นคนหล่อเลี้ยงหนังสือ หมายความว่า เขามีตัวตนมาก่อนหนังสือ คิด เจ็บปวด อุทิศชีวิตเพื่อหนังสือของตน ผู้แต่งกับผลงานของตนมีสัมพันธภาพด้านลำดับเวลามาก่อนเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่บิดามีต่อบุตร
ในทางกลับกัน ผู้เขียนบท(scripteur)สมัยใหม่เกิดมาพร้อมๆ กับตัวบท ดังนั้นไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ผู้เขียนบทสมัยใหม่จะไม่ได้มีคุณสมบัติของความมีตัวตนที่จะมาก่อน หรือที่จะไปไกลเกินกว่าข้อเขียน ผู้เขียนบทสมัยใหม่จะไม่ได้มีอะไรเลยที่เกี่ยวข้องกับภาคประธาน ซึ่งหนังสือของเขาเป็นภาคขยายความ เราจะไม่คำนึงถึงเวลาอันใดอื่นนอกจากเวลาที่สร้างข้อเขียนนั้นๆ ขึ้นมา และตัวบททุกตัวบทจะถูกเขียนก็ ณ ที่นี่ และ เดี๋ยวนี้ ตลอดชั่วนิจนิรันดร์ ทั้งนี้ก็เพราะว่า (หรือผลที่ตามมาก็คือ) การเขียนไม่อาจจะหมายถึงการดำเนินการบันทึก การยืนยัน การนำเสนอโลกแห่งความเป็นจริง หรือ “การเสนอภาพ” [peintre] (ดังเช่นที่พวกคลาสสิกว่าไว้)อีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่นักภาษาศาสตร์ในสายปรัชญาของอ๊อกซ์ฟอร์ดเรียกว่า “performatif” ซึ่งเป็นคำที่ไม่ค่อยแพร่หลายนัก (ใช้เฉพาะกับบุรุษสรรพนามที่ 1 และเป็นปัจจุบันกาล) ซึ่งในรูปคำประเภทนี้การสร้างข้อเขียนจะไม่ได้มีเนื้อหาอื่นใด (ไม่มีข้อความอื่นใด) นอกจากการกระทำที่ปฏิบัติจริงเมื่อข้อความนั้นถูกเปล่งออกมา อย่างเช่น เมื่อกษัตริย์พูดว่า ข้าพเจ้าขอประกาศ… หรือพวกกวีโบราณพูดว่า ข้าพเจ้าขอขับขาน…
ผู้เขียนบทสมัยใหม่เมื่อได้ฝังผู้แต่งไปแล้ว ก็ไม่อาจจะเชื่ออีกต่อไปตามการมองที่เน้นความสะเทือนใจแบบคนรุ่นเก่า ว่ามือของเขาช้าเกินไปต่อความคิดหรือไฟในตัวของเขา และดังนั้นก็ไม่อาจจะเชื่ออีกต่อไปว่าเมื่อสร้างกฎเกณฑ์ของความจำเป็นขึ้น เขาจะต้องเน้นถึงความเชื่องช้านี้ และต้องพยายาม”ขัดเกลา” รูปแบบในการเขียนอย่างไม่รู้จบ สำหรับเขาแล้วกลับเป็นตรงกันข้ามเลย มือของเขาจะถูกดึงแยกออกจากเสียงทั้งมวล...ขอบเขตที่ไร้ที่มา หรือขอบเขตที่อย่างน้อยที่สุดไม่ได้มีที่มาอื่นใดนอกจากตัวภาษาเอง กล่าวคือตัวภาษานั้นเองที่เป็นตัวตั้งข้อสงสัยกับต้นกำเนิดทั้งมวลอย่างไม่รู้จบ
ตอนนี้เรารู้แล้วว่าตัวบทไม่ได้ประกอบขึ้นจากบรรทัดของคำ ซึ่งให้ความหมายเป็นหนึ่งเดียว คล้ายความหมายเชิงเทววิทยา (ซึ่งอาจเป็น “สาส์น” (message) ของผู้แต่งในฐานะพระเจ้า) แต่เป็นพื้นที่ที่มีมิติอันหลากหลาย ที่ซึ่งข้อเขียนต่างๆ จะมารวมตัว และโต้แย้งกันขึ้น โดยที่ไม่มีตัวบทใดเลย ที่เป็นข้อความต้นกำเนิด กล่าวคือตัวบทเป็นผืนผ้าแห่งการอ้างอิง ซึ่งมาจากวัฒนธรรมหลายแหล่ง เหมือนกับ (Bouvard et Pécuchet) บูวาร์ด และเปกูเช่ สองนักคัดลอกต้นฉบับที่อยู่ยงคงกะพัน ซึ่งมีลักษณะทั้งแสนจะเลอเลิศ และน่าหัวร่อ และความน่าขบขันที่ซ่อนอยู่ในตัวละครทั้งสองจะบ่งบอกความจริงของข้อเขียนอย่างชัดเจน นักเขียนทำได้แต่เพียงเลียนอากัปกริยาที่มีมาก่อนเสมอ แต่จะไม่เคยใช้อากัปกิริยาต้นตอ อำนาจอย่างเดียวของเขาคือ ผสมผสานข้อเขียนต่างๆเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความแตกต่างขัดแย้งซึ่งกันและกันในระหว่างข้อเขียนเหล่านั้น ด้วยวิธีไม่ยึดข้อเขียนใดข้อเขียนหนึ่งมาเป็นปทัสถาน ตัวนักเขียนต้องการจะเสนอความคิด (s’exprimer)ของตัวเขาหรือ อย่างน้อยเขาก็ควรจะต้องรู้ว่า “สิ่ง” ที่อยู่ภายในซึ่งเขาอ้างว่าจะ “ถ่ายทอด” ออกมา สิ่งนั้นเป็นเพียงพจนานุกรมที่เรียบเรียงขึ้น ซึ่งคำต่างๆ จะถูกอธิบายก็โดยอาศัยคำอื่นๆมาประกอบเพียงประการเดียว และก็เป็นเช่นนี้ตลอดกาล
...
เมื่อผู้แต่งถูกแยกตัวออกไปจากงานเขียนแล้ว การอ้างว่าจะ “ถอดรหัส” ตัวบทจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์เอาเสียเลย การมอบผู้แต่งให้แก่ตัวบทใดๆ เป็นการยัดเยียดให้ตัวบทหยุดกลไกเคลื่อนไหวของตัวบทนั้น เป็นการมอบความหมายสุดท้ายให้ตัวบท กล่าวคือเป็นการปิดประตูตายให้กับข้อเขียน มโนทัศน์ในเรื่องนี้เหมาะสมกันเหลือเกินกับการวิจารณ์ที่ต้องการมอบภาระสำคัญให้กับตนเองด้วยการค้นหาผู้แต่งให้พบในผลงาน (หรือค้นหาแก่นแท้ๆ ของแนวคิดเกี่ยวกับผู้แต่ง เช่น สังคม ประวัติศาสตร์ จิต เสรีภาพ) นั่นก็คือ พอผู้แต่งถูกค้นพบ ตัวบทนั้นก็จะได้รับการอธิบาย แล้วนักวิจารณ์ก็ได้รับชัยชนะไป
ดังนั้น จึงไม่มีอะไรจะน่าแปลกใจที่ว่า ในทางประวัติศาสตร์อาณาจักรของผู้แต่งก็คืออาณาจักรของนักวิจารณ์ด้วยเช่นกัน แต่ก็เช่นกันอีกว่า ไม่มีอะไรจะน่าแปลกใจที่ว่าทุกวันนี้ การวิจารณ์ (ซึ่งแม้จะเป็นแนวใหม่ก็ตามที) ได้ถูกสั่นคลอนไปพร้อมๆ กับผู้แต่ง อันที่จริงในข้อเขียนที่มีหลายมิติ ทุกอย่างจะเป็นเรื่องของการแยกแยะสิ่งที่ผสมผสานกันอยู่ข้างในนั้น แต่ไม่มีอะไรที่จะต้องถอดรหัส โครงสร้างอาจจะ “ตามรอยหลุด” (เช่นเดียวกับที่เราพูดถึงใยตาข่ายถุงน่องที่หลุดขาด) ไปทุกช่วงตะเข็บและทุกแนว แต่จะไม่มีสิ่งที่อยู่ก้นบึ้ง
พื้นที่ของข้อเขียนเป็นสิ่งที่จะต้องสำรวจ แต่ไม่ใช่พื้นที่ที่จะเอาไว้ขุดเจาะ ข้อเขียนสร้างความหมายตลอดเวลา แต่ก็เพื่อที่จะทำให้ความหมายนั้นระเหิดไป
กล่าวคือข้อเขียนสร้างการยกเว้นความหมายอย่างเป็นระบบ จากตรงนั้นเอง ในขณะที่วรรณคดี (คงจะดีกว่าถ้าแต่นี้ไปจะใช้คำว่า ข้อเขียนแทน ปฏิเสธที่จะมอบหมาย “ความลับ” ให้แก่ตัวบท (รวมทั้งให้แก่โลกในฐานะที่เป็นตัวบท) ซึ่งความลับที่ว่า หมายถึงความหมายสุดท้าย วรรณคดีได้ให้อิสระแก่กิจกรรมที่เราอาจจะเรียกได้มีลักษณะว่า ปฏิเทวนิยม (contre – théoloique) ซึ่งเป็นแนวปฏิวัติอย่างแท้จริง เพราะการปฏิเสธที่จะกำหนดความหมายให้ตายตัว ที่สุดก็คือการปฏิเสธพระเจ้า และแก่นแท้ ๆ ของพระองค์ เหตุผล ความรู้ และกฎเกณฑ์...
ตัวบทตัวบทหนึ่งถูกสร้างขึ้นมาด้วยข้อเขียนที่หลากหลาย อันเป็นผลมาจากการที่วัฒนธรรมหลายวัฒนธรรมได้มาวิสาสะ มาล้อเลียนหรือมาโต้แย้งกัน แต่ก็ยังมีพื้นที่แห่งหนึ่งซึ่งความหลากหลายดังกล่าวมาหลอมรวมกัน และพื้นที่ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ตัวผู้แต่ง (ดังที่เราได้กล่าวมาจนถึงขณะนี้) แต่เป็นตัวผู้อ่าน
กล่าวคือผู้อ่านเป็นพื้นที่นั้นเองที่คำอ้างอิงทั้งหมดที่ใช้สร้างข้อเขียนขึ้นมาได้ถูกนำมาจดบันทึกลงไป โดยที่ไม่มีคำอ้างอิงใดๆ หลุดหายไปแม้แต่คำเดียว เอกภาพของตัวบทไม่ได้อยู่ที่จุดกำเนิด แต่อยู่ที่จุดหมายปลายทาง
แต่จุดหมายปลายทางนี้ไม่อาจจะมีความเป็นส่วนบุคคลได้อีกต่อไป เพราะผู้อ่านคือคนที่ไม่มีภูมิหลัง ไม่มีชีวประวัติ ไม่มีจิตวิทยา เขาเป็นเพียง 'ใครคนหนึ่งคนนั้น' ที่ดึงร่องรอยทั้งหมดที่สร้างงานเขียนขึ้นมาให้มารวมอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าหัวร่อที่จะได้ยินผู้คนประณามข้อเขียนแนวใหม่ในนามของมนุษยนิยม ซึ่งอ้างตัวเป็นผู้ชนะเลิศในการเรียกร้องสิทธิของผู้อ่านอย่างหน้าไหว้หลังหลอก ตัวผู้อ่านเองนั้น การวิจารณ์แบบคลาสสิกไม่เคยให้ความสนใจกับเขาเลยแม้แต่น้อย การวิจารณ์แนวนี้เห็นว่าไม่มีมนุษย์อื่นใดในวรรณคดีนอกจากคนที่เขียน ตอนนี้เราเริ่มต้นที่จะไม่ต้องเสียรู้อีกต่อไปกับการพูดในลักษณะตรงข้ามกับความจริง(antiphrases) ซึ่งเป็นการพูดที่สังคมผู้ดีนำมาใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนเพื่อผลประโยชน์ของสิ่งที่สังคมนี้ได้แยกออกไว้ต่างหาก ไม่ยอมรับรู้ พยายามกดดัน หรือล้มล้าง
พวกเรารู้ว่าเพื่อที่จะคืนอนาคตของข้อเขียนให้ข้อเขียน ควรจะต้องโค่นล้มตำนานเดิมลง ก็คือ กำเนิดของผู้อ่านต้องชำระด้วยความตายของผู้แต่งนั่นเอง
บางส่วนจาก มรณกรรมของผู้แต่ง (La mort de l’auteur) | โรลองด์ บาร์ธส์ เขียน | ธีรา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา แปล
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.arts.su.ac.th/thaicritic/?p=206
==================
หากผู้อ่านท่านใดสนใจอ่านแนวคิดหลังโครงสร้างนิยมได้อย่างเป็นระบบ ผ่านกรอบความคิดของนักคิดชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดังในสกุลความคิดนี้ สนพ. แนะนำ
บทแนะนำสกุลความคิดหลังโครงสร้างนิยม (Introducing Poststructuralism) โดย ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร
ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida)
ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan)
มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)
ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ลีโยตาร์ด (Jean-François Lyotard)
ชีลส์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze)
เฟลิกส์ กัตตารี (Félix Guattari)
==================
ORDER NOW
ยกชุด 8 เล่มใหม่ล่าสุด!!! จากสำนักพิมพ์สมมติ จับจองเป็นเจ้าของหนังสือสุดสวยทั้ง 8 เล่มนี้ -- ในราคาพิเศษ
8 เล่มครบทุกชุดงาน ครบทุกอรรถรส (คลิกที่ชื่อเล่ม / ชื่อนักเขียน เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
นี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจหนึ่ง ที่เรากล้ารับประกันถึงความคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ของผู้อ่าน
หากหนังสือทุกเล่มที่ผ่านมาของเรา พอจะนำเสนอให้เห็นถึง ความเอาจริงเอาจังต่อวิชาชีพและมาตรฐานการทำหนังสือของสำนักพิมพ์ การสนับสนุนของผู้อ่าน จะทำให้ความตั้งใจของเราไม่สูญเปล่า
สั่งซื้อยกชุดในราคาพิเศษ คลิก https://bit.ly/3alEWMu
สนพ.สมมติขอขอบคุณทุกแรงสนับสนุน
26 ธ.ค. 2565
17 ต.ค. 2563
11 ม.ค. 2564