Last updated: 29 ก.ค. 2564 | 2994 จำนวนผู้เข้าชม |
งานเขียนของอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล ไม่ว่าลำลองหรือจริงจังเพียงใด มักไม่พ้นขึ้นต้นทุกบทหรือกระทั่งทุกหัวข้อย่อยของแต่ละบทด้วย ‘โควต’ หรือข้อความที่คัดมาจากหนังสือเล่มต่างๆ แต่ละโควตถ้าไม่ชวนสะกิดก็ชวนสะเทือนใจ ขนบการใช้โควตแบบนี้จะทำได้ก็ต้องอาศัยการอ่านหรือผ่านตามาเยอะ ทั้งยังต้องขยันจดขยันจำไว้เยอะ ซึ่งจะมองว่าเป็นการสำแดงความ ‘เยอะ’ นั้นก็ได้ หรือจะมองว่าเป็นธรรมดาวิสัยของการเห็นอะไรอย่างหนึ่งแล้วประหวัดไปถึงอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เพียงแต่ด้วยพื้นกรรมของความเป็นปัญญาชนนักอ่าน การประหวัดที่ว่านั้นจึงพัลวันอยู่ในโลกของ ‘ตัวหนังสือ’ ทั้งในความหมายของถ้อยคำตัวอักษรและตัวเล่มหนังสือ
งานเขียนชุด น้ำตาเหือด แล้วเลือดตก เล่มนี้ของอาจารย์ไชยันต์ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นอาการสุดขั้วของการประหวัดที่ว่า ชนิดที่ว่าใช่แต่เพียงคนเขียนเท่านั้น กระทั่งคนอ่านก็พานจะต้องตกอยู่ในภาวะเดียวกันไปเสียทั้งหมด ทั้งนี้เพราะงานเขียนชุดนี้ล้วนตีพิมพ์อยู่ในวารสาร อ่าน ในทศวรรษ 2550 ในท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองที่มิใช่เป็นเพียงสงครามระหว่างสีดังที่มักเรียกกัน หากยังเป็นสมรภูมิโรมรันระหว่างฝ่าย ‘ซาบซึ้ง’ น้ำตาไหล กับฝ่ายที่น้ำตาเหือดแล้วเลือดไหล อันเป็นปัจจัยให้ต้องอาศัยการประหวัดมาช่วยทำให้ความหมายของสิ่งที่พูดได้บ้างไม่ได้บ้างในระหว่างสงครามนั้นแจ่มชัดแหลมคมขึ้น
ความที่นัยประหวัดในแต่ละบทความผูกพันอยู่กับภาวะความขัดแย้งที่กำลังดำเนินไปในช่วงเวลานั้น เมื่อตัวบทความย้ายที่ทางมารวมเล่มไว้อีกแห่งในอีกหนึ่งทศวรรษให้หลัง ก็ทำให้เกิดความท้าทายในแง่ภูมิรู้เบื้องหลังสำหรับการอ่านย้อนอดีต ที่แม้จะถือว่าเป็นระยะใกล้ แต่ก็ไกลอย่างมีนัยสำคัญตรงที่มันดันข้ามผ่านมาแล้วอีกรัชสมัย การจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยก่อนหน้าจึงมิใช่จะอาศัยแต่การค้นคว้าเชิงข้อมูลเท่านั้น หากยังต้องจินตนาการไปถึงความรู้สึกนึกคิดหรือ mentality ที่ต่างไปของผู้คนในรัชกาลก่อนด้วย
..,
เพื่อจะช่วยในการเข้าใจภูมิหลัง เราก็อาจติ๊งต่าง timeline หรือลำดับเหตุการณ์ของบทความทั้งเก้านี้เป็นว่า
แต่ถ้าจะถึงขั้นถอดรหัสเทียบเคียงออกมาจนชี้ลงไปที่เหตุการณ์หรือบุคคลจำเพาะคนหนึ่งคนใดก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยมักทับซ้อนซ้ำรอยแม้ต่างสมัย ผู้อ่านอาจลองทดสอบเบื้องต้นถึงทักษะการเข้าใจนัยประหวัดของยุคสมัยได้ด้วยการลองอ่านโควตนี้จากบทความ “(สำเหนียกให้จงดี) แผ่นดินนี้ใครครอง” หรือบทความในลำดับที่ 3 ที่เราติ๊งต่างไว้ว่าคือลำดับของการฆ่าล้าง
ขณะที่มีการสังหารอย่างเลือดเย็น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๙ ซึ่งประทับอยู่ในราชนิเวศน์สถานริมแม่น้ำแซน มิได้ทรงอินังขังขอบต่อการนองเลือดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะสถานที่ละเลงเลือดนั้นอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ (แซน) จนไกลเกินสายพระเนตร ทั้งเสียงร้องอันปวดร้าวและครวญครางก็คงไม่ได้ไปถึงพระกรรณ ก็สุดจะเดา
..,
อุบายของงานเขียนแนวนี้อยู่ที่การเล่นกับความเป็นสาธกวิจารณ์ เหมือนที่เราคุ้นเคยกับสาธกนิทานหรือสาธกนิยาย งานปริทัศน์วรรณกรรมชุดนี้จึงไม่ใช่เป็นการวิเคราะห์ตีความแบบตามนักวรรณคดีสมัยใหม่ ที่จะสะสาง แยกแยะ แกะตัวบท ในระยะประชิดเพื่อถกทฤษฎีความหมายและความเป็นไปได้นานาอย่างมีระยะห่าง หากเป็นการย้อนเกล็ดแนววิจารณ์แบบเก่าที่เน้นการเทียบเคียงชีวิตและประเมินคุณค่า เน้นการอภิเชษฐ์ (หรือไม่อภิเชษฐ์) ลีลาทางวรรณศิลป์และเทียบคุณค่าสัจธรรมสากล อันเป็นขนบการวิจารณ์ที่นิยมกันอยู่ในหมู่นักวรรณคดีแนวอนุรักษนิยมของไทยมานาน เพียงแต่สาธกโวหารที่ถูกระดมมาใช้ในบทความชุดนี้กลับกลายเป็นการเทียบเคียงอย่างบาดตาในสิ่งที่เห็นอยู่ตำตาแต่ไม่เคยอยู่ในสายตาของแนววิจารณ์แบบเก่าที่ว่านั้น
ถ้าไม่นับบทสุดท้ายที่เป็นการแปลสาธกนิทานตรงๆ จากคาฟคา มันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอกกระมังที่ว่าบทความปริทัศน์ชุดนี้จะวนเวียนอยู่ที่ซาร์แห่งรัสเซียไปเสียสอง กษัตริย์อังกฤษหนึ่ง ราชินีฝรั่งเศสหนึ่ง สาธารณรัฐโรมันหนึ่ง กับอีกหนึ่งดินแดนแห่งความเหลื่อมล้ำอย่างอินเดีย และหนึ่งสาธารณรัฐเกาหลีที่ถือการเสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตยเป็นเกียรติภูมิของชาติ หาใช่ราชพลี
..,
บางส่วนคำนำ ไอดา อรุณวงศ์ | บรรณาธิการ
...
อ่านกันแบบเต็มๆ สั่งซื้อคลิก น้ำตาเหือด แล้วเลือดตก : สาธกการเมืองไทยในวรรณกรรมโลก
โดย ไชยันต์ รัชชกูล
คลิกสั่งซื้อยก Set ราคาพิเศษ
1. Set วรรณกรรมวิจารณ์ ราคาสุดพิเศษ + กระเป๋าผ้า
2. Set 3 เล่ม ไชยันต์ รัชชกูล
3. Set 4 เล่มหนาตาสว่าง
============
14 เม.ย 2564
14 เม.ย 2564